ตั๊น จิตภัสร์ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของฉายา ‘ตั๊นพันเจ็ด’
ตั๊น จิตภัสร์ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของฉายา ‘ตั๊นพันเจ็ด’
จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร เดิมชื่อ จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี ชื่อเล่นว่า ตั๊น ชื่อ “จิตภัสร์” เป็นชื่อพระราชทาน แปลว่า “จิตที่ร่มเย็น” ส่วน “ตั๊น” มาจากตั๊นหน้า เพราะคุณพ่อชอบเล่นคาราเต้ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2528 เป็นบุตรสาวคนโตของจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) ประธานมูลนิธิคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย นายกสมาคมคาราเต้แห่งประเทศไทย และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งเป็นบุตรีของหม่อมราชวงศ์ยงสวาสดิ์ กฤดากร รองผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีศักดิ์เป็นหลานสาวของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
จิตภัสร์ เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา ก่อนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำหญิงล้วน Westonbirt School ที่ประเทศอังกฤษจนจบชั้นมัธยมศึกษา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาภูมิศาสตร์จากคิงส์คอลเลจลอนดอน ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบบประชาธิปไตย รุ่น 2 สถาบันพระปกเกล้า และปริญญาโทรัฐประศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การทำงาน
ภาคเอกชน
จิตภัสร์เคยฝึกงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทโฆษณา Blue UIR Advertising, บริษัท Orange (True Move), Christian Dior, หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บริษัทโพลีพลัสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ รวมทั้งยังเป็น NGO ในโครงการ Population and Community Development Association ที่จังหวัดกระบี่ และได้ไปเป็นครูฝึกสอนที่จังหวัดบุรีรัมย์
งานการเมือง
จิตภัสร์ เข้าร่วมทำงานกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยและเลขานุการของ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ เขต 5 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ในอีกสองปีต่อมาเธอได้เข้าร่วมกับชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. โดยรับหน้าที่เป็นโฆษกภาคภาษาอังกฤษ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 ได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และลงสมัคร ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 ในการเลือกตั้งปีถัดมา และได้รับการเลือกตั้งหลังจากการคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อใหม่ อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน เนื่องจากผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ในเขต 8 เชียงใหม่ ได้คะแนน 1,738 คะแนน แต่สามารถดันจิตภัสร์ให้เป็น สส. จนเป็นที่มาของฉายา “ตั้นพันเจ็ด”
การรับสมัครเข้ารับราชการตำรวจ
ในปี พ.ศ. 2558 จิตภัสร์ มีชื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ในตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) ด้วยเหตุผลมีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ ทำให้ตำรวจส่วนหนึ่งไม่พอใจ เนื่องจากเธอเคยกระทบกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงการชุมนุม กปปส. จึงมีการแสดงออกด้วยการติดริบบิ้นสีดำบนเสาวิทยุสื่อสารและรถจักรยานยนต์ เพื่อคัดค้าน ในที่สุดจิตภัสร์ แถลงข่าวประกาศถอนตัวสมัครเป็นตำรวจในวันที่ 24 กันยายน 2558 ณ โรงแรมดุสิตธานี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
- พ.ศ. 2553 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
- พ.ศ. 2551 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นเบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
ที่มาและภาพ: วิกิพีเดีย