สุขภาพและการแพทย์

รัฐเข้ม เดินทางเข้าประเทศไทย ต้อง state Quarantine 100% ป้องกันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม

รัฐเข้ม เดินทางเข้าประเทศไทย ต้อง state Quarantine 100% ป้องกันติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม

ข่าวรัฐบาล รายงาน 5 เม.ย.63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยหลังการประชุมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามกรณี 158 คนไทยที่ได้ออกไปจากสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้กลับมารายงานตัวครบเรียบร้อยแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ที่รับผิดชอบทำงานกันอย่างเต็มที่ให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ ทำให้สามารถจัดการทุกอย่างได้อย่างเรียบร้อย ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้ขอบคุณบุคคลทั้ง 158 ราย รวมถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าวที่ร่วมมือกับภาครัฐ โดยทุกคนได้เข้าสู่กระบวนการ State Quarantine 14 วัน ขอให้มั่นใจระบบเฝ้าระวังของไทย

1. กรณีการรายงานตัว 158 รายเพื่อกักตัว State Quarantine

Advertisements

โดยโฆษก ศบค. เปิดเผยการรายงานตัวทั้ง 158 คน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มว่า กลุ่มที่ 1 ทั้งหมด 65 คน เป็นผู้อยู่ต่างจังหวัด 27 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคอีสาน 8 คน ภาคใต้ 2 คน และภาคตะวันออก 4 คน ได้จัด State Quarantine ณ โรงพยาบาล โรงแรมหรือรีสอร์ทและสถานที่ราชการที่เหมาะสม กลุ่มที่ 2 ทั้งหมด 93 คน ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้ไปรายงานตัวที่ EOC สนามบินสุวรรณภูมิ และส่งไปที่โรงแรม 2 แห่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือบริเวณใกล้เคียง ขอย้ำว่า ทุกคนยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่หนัก หากภายใน 14 วันนี้ บุคคลทั้ง 158 ราย และครอบครัว ไม่ได้ติดเชื้อก็ดูแลตัวเอง หากติดเชื้อก็ได้รับการดูแลอย่างดีและไม่แพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่น จึงเป็นเหตุผลที่ต้องติดตามทุกคนอย่างละเอียดนั่นเเอง และจากการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามบัญชานายกรัฐมนตรี ได้ทดสอบระบบผู้เดินทางเข้ามาประเทศรายใหม่ ซึ่งวานนี้มี 2 เที่ยวบินเข้ามา ได้แก่ จากมาเลเซีย 51 คน และกาตาร์ 47 คน กองทัพไทย กระทรวงการต่างประเทศ การท่าอากาศยานฯ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภาคเอกชน โรงแรมต่าง ๆ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ได้อำนวยความสะดวกทุกอย่างในการนำผู้ที่เดินทางกลับประเทศไทยไปส่งยังสถานที่ State Quarantine ด้วยความเรียบร้อยดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมทุกคนที่ทำงานด้านนี้ และในนามของโฆษก ศบค. ต้องขออภัยกับผู้ได้รับผลกระทบกับทุกคน รวมถึงคนไทยที่ต้องติดค้างอยู่ทางต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีที่คนกำลังต่อเครื่องเพื่อจะกลับประเทศไทย ต้องรอคอยอยู่ในสนามบินของต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ไปดูแลประชาชนคนไทยเหล่านั้นแล้ว ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมการรองรับผู้ที่จะดินทางกลับจากต่างประเทศไว้เช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เดินทางเข้ามาเฉลี่ยประมาณ 200 -300 คนต่อวัน ขอชื่นชมทีมงานเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยกันดูแลประชาชนคนไทย ขอให้เป็นกำลังใจให้กันและกัน เพื่อจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

2. รายงานผลการดำเนินการภายใต้เคอร์ฟิว

การห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตั้งแต่ เวลา 4 ทุ่ม ถึงตี 4 นั้น มีการตั้งจุดตรวจควบคุมจำนวน 634 จุดในพื้นที่ 77 จังหวัด การปฏิบัติที่ผ่านมาในคืนของวันที่ 3 และ 4 เมษายน 2563 มีรถผ่านจุดตรวจทั้งหมดจำนวน 7,997 คัน ผู้ผ่านจุดตรวจทั้งหมดทั้งสิ้นประมาณ 11,610 คน พบการกระทำผิดจากข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 เมษายน 2563 เวลา 08.00 น คือฝ่าฝืนโดยไม่มีเหตุผลในการเดินทาง แบ่งเป็นยานพาหนะ 522 คัน ผู้กระทำความผิด 677 คน และการรวมกลุ่มมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น การดื่มสุรา เสพยาเสพติด แบ่งเป็นยานพาหนะ 24 คัน ผู้กระทำความผิด 41 คน ซึ่งได้ดำเนินการตักเตือนไป 375 คน และดำเนินคดี 325 คน ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ขนส่งสินค้า อุปโภคบริโภต ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าเพื่อการนำเข้า-ส่งออก และผู้ปฏิบัติทางด้านการแพทย์และผู้เข้าออกผลัดเวรในเวลากลางคืน ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้รับการยกเว้นตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

3. สถานการณ์โควิด-19 ในไทย

พบว่า ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 102 ราย (66 จังหวัด) รวมผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,169 ราย ผู้ป่วยที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 1,472 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวม 23 ราย รักษาหายเพิ่ม 62 ราย รวมรักษาหายเเล้ว 674 ราย

Advertisements

ทั้งนี้ การเสียชีวิตไป 3 รายนี้ คือ รายที่ 21 เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 46 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับมาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงประเทศไทยวันที่ 22 มีนาคม 2563 เข้ารับการรักษาครั้งแรกวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีไข้ 38.9 องศา ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก และเสียชีวิตในวันที่ 3 เมษายน 2563 รายที่ 22 เป็นผู้ป่วยชายสัญชาติสวิส อายุ 82 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แรกรับมีไข้ 39.2 องศา มีความดันโลหิตสูง หายใจเหนื่อยหอบ แพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคปอดบวมและมีภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตด้วยโรคระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเมื่อ 2 เมษายน 2563 และรายที่ 23 ผู้ป่วยชายไทยอายุ 30 ปี อาชีพทำงานก่อสร้าง มีประวัติดื่มสุราเป็นประจำ วันที่ 2 เมษายน 2563 ไข้ไอมากขึ้น หอบ กู้ชีพได้นำส่งเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลปราสาท จังหวัดสุรินทร์ แรกรับพบว่าออกซิเจนในเลือดต่ำเหลือเพียงแค่ 92 เอกซเรย์ปอดพบว่ามีการเป็นเข้าได้กับเรื่องของโรคปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตวันที่ 4 เมษายน 2563

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 102 ราย พบว่ามาจากสถานบันเทิงกับร่วมพิธีกรรมทางศาสนาลดลง กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มใหญ่ คือ คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ ทำงานใกล้ชิดกับคนต่างชาติ กลุ่มนี้มีความสำคัญซึ่งเชื่อมโยงกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ส่วนการกระจายของผู้ป่วยใหม่พบว่า ณ วันนี้ กรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดใกล้เคียง ต้องช่วยกันลดลงให้ได้ ซึ่งกรุงเทพฯ ตัวเลขยืนยันสะสมเกิน 1,000 นนทบุรี 137 และภูเก็ต 131 พบการกระจายตัวในพื้นที่เดิม ๆ คือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดท่องเที่ยว กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดทางภาคตะวันออก โดยโฆษก ศบค. กล่าวชื่นชมทั้ง 11 จังหวัดที่ยังไม่พบรายงานการรับการรักษาผู้ป่วยในขณะนี้ ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พังงา พิจิตร ระนอง สตูล สิงห์บุรี อ่างทอง ทั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดและประชาชนทุกคนในจังหวัดที่พยายามอย่างมากที่สุดในการร่วมกันทำงานครั้งนี้ เพื่อไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้

4. สถานการณ์โควิด-19 ของโลก

สถิติขณะนี้อยู่ที่ 1,200,000 กว่าคน เสียชีวิตไป 64,000 กว่าคน สหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 310,000 กว่าคน สเปน จำนวน 120,000 กว่าคน และอิตาลี จำนวน120,000 กว่าคน ซึ่งผู้เสียชีวิตในหลัก 10,000 ยังเป็นสเปน และ อิตาลี ของสหรัฐอเมริกากว่า 8,000 คน ฝรั่งเศสอยู่ที่กว่า 7,500 คน การรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อของต่างประเทศเชื่อมโยงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความห่วงใยและดูแลพี่น้องทุกคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยจะมีกระบวนการอย่างเหมาะสมตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด โฆษก ศบค. ยังเผยว่า นายกรัฐมนตรีย้ำให้นำตัวเลขต่าง ๆ มาวิเคราะห์ว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและเรียนรู้ เพราะความรู้ทางด้านการแพทย์มีความสำคัญสูงมาก เพราะไม่อยากให้เกิดการเกิดการสูญเสียชีวิตขึ้นอีกเลย

5. สถิติการกระจายตัวของเชื้อ

กระทรวงสาธารณสุข กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงาน 20 รายที่เสียชีวิตเมื่อวานนี้ พบว่าตั้งแต่ 4 มกราคม – 4 เมษายน 2563 มีผู้เสียชีวิต 20 ราย อัตราการป่วยตาย 9.7 เปอร์เซ็นต์ ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 58.5 คืออายุ ต่ำสุดคือ 35 สูงสุดคือ 84 เป็นผู้ป่วยชายเสียชีวิตมากกว่าหญิง โรคประจำตัวต้องระวังเบาหวานพบ 50% ความดันโลหิตสูง 35% โรคไตเรื้อรัง 15% ไขมันในเลือดผิดปกติ 15% รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับสนามมวย เดินทางต่างประเทศ อาชีพเสี่ยง ขับรถสาธารณะ ร้านอาหาร พนักงานขายของ สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และสถานบันเทิง เป็นต้น

การกระจายตัวของผู้ติดเชื้อมากที่สุดยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ อัตราการป่วย/ตาย จำแนกตามเพศ กลุ่มอายุ จำนวน 2,067 รายเป็นผู้ชาย 1,124 คน ผู้หญิง 874 คน ตรงนี้ ผู้ป่วยชายเสียชีวิตไป 18 คน ผู้ป่วยหญิง 2 คน อายุที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเสียชีวิตมากที่สุดคือ 50-69 ปี (9 ราย) เชื่อมโยงกับการไปต่างประเทศ พิธีทางศาสนา อาชีพเสี่ยง สถานที่แออัด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่สูงอายุกว่า 70 ปีขึ้น ขอย้ำกลุ่มเสี่ยงต้องระมัดระวังและดูแลตนเองให้ดี รวมทั้งปฏิติบัติตามมาตรการของรัฐบาลในเรื่องของ social distancing คือการเว้นระยะห่างทางสังคมและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลโดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ รวมถึงต้องสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หากดูแลได้ดีจะช่วยให้เชื้อโรคลดลง

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button