กสทช. เสนอมาตรการใช้เน็ตฟรี 10 GB 3 เดือน สกัดโควิด-19
กสทช. เสนอมาตรการใช้เน็ตฟรี 10 GB 3 เดือน สกัดโควิด-19
ใช้เน็ตฟรี-พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 24 มี.ค. 2563 เกี่ยวกับมาตรการลดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่ได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ซึ่งทุกฝ่ายสนับสนุนให้ให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน รวมถึงให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เรียนผ่านระบบออนไลน์ จึงได้สรุปมาตรการสนับสนุนออกเป็น 2 ส่วนคือ
มาตรการแรก ให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตมือถือเพิ่ม 10 GB ต่อคน ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ประชาชนที่จะได้รับสิทธิพิจารณาจากฐานลูกค้าที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายมีอยู่ โดยประชาชนต้องลงทะเบียนผ่านระบบของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถสนับสนุนประชาชนให้เข้าร่วมมาตรการนี้ประมาณ 50 ล้าน เลขหมาย โดยคาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท หรือ เดือนละ ประมาณ 3,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ กสทช. จะเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ได้อัตราค่าบริการที่ถูกที่สุด โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้ในส่วนนี้ จะขอความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีให้หักจากวงเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในการประมูลคลื่น 5G ที่ผ่านมา
มาตรการที่สอง สนับสนุนการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) ให้แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน โดยปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเท่าที่ผู้ให้บริการสามารถจะทำได้ กรณีบริการ FTTX ให้ได้ระดับความเร็ว (Download) 100 Mbps เป็นเวลา 3 เดือน
โดยโอเปอเรเตอร์สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายออกจากเงินที่ต้องนำส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งคาดว่าในส่วนนี้จะต้องใช้เงินราว 730 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังได้มีการเสนอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ออกแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตสำหรับนิสิต นักศึกษาในราคาประหยัด โดยจะมีการประสานงานระหว่างมหาวิทยาลัยและโอเปอเรเตอร์แต่ละราย ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอให้มีแพ็กเกจสำหรับนิสิต นักศึกษา ในราคา 150 บาท ต่อระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งในขณะนี้ทางผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กำลังพิจารณาจัดแพ็กเกจที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
https://www.youtube.com/watch?v=WMjmkDwVrn4&feature=youtu.be