บันเทิง

สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของเสียงขยี้ฟองเบียร์

สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของเสียงขยี้ฟองเบียร์

เรืออากาศตรี สุเทพ วงศ์กำแหง เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

การศึกษา

  • โรงเรียนวัดสมอราย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
  • โรงเรียนประจำอำเภอ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

เส้นทางชีวิต

ครั้นเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 แล้ว คุณสุเทพก็ได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติที่กรุงเทพมหานคร และด้วยนิสัยรักการวาดเขียนและงานศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ท่านจึงได้สมัครเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่นั้นนอกจากท่านจะแสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในทางศิลปะแล้ว ท่านยังเป็นนักร้องเสียงดีประจำห้องเรียนอีกด้วย ในยามว่างท่านมักจะฝึกซ้อมร้องเพลงเสมอตามแบบอย่างของนักร้องที่ท่านชื่นชอบ เช่น วินัย จุลละบุษปะ สถาพร มุกดาประกร ปรีชา บุณยเกียรติ ฯลฯ

Advertisements

คุณสุเทพได้มีโอกาสรู้จักและคุ้นเคยกับครูไศล ไกรเลิศ นักแต่งเพลงผู้มีชื่อเสียงเนื่องจากบ้านอยู่ใกล้กัน เมื่อครูไศลมองเห็นแววความสามารถของคุณสุเทพก็คิดจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมจึงชักชวนให้มาช่วยงาน เช่น ช่วยเขียนโน้ตเพลง เขียนตัวหนังสือ ตลอดจนติดตามไปช่วยงานในธุรกิจบันเทิงต่างๆ เสมอ ทำให้คุณสุเทพเริ่มคุ้นเคยกับบุคคลในวงการเพลงมากหน้าหลายตา ทั้งยังได้รับโอกาสให้ร้องเพลงสลับฉากละคร ร้องเพลงตามงานบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงการทดลองเสียงแทนนักร้องตัวจริงก่อนที่จะทำการอัดเสียงเสมอ

จากการที่ร้องเพลงได้อย่างดีเด่น ทำให้คุณสุเทพได้ร้องเพลงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงของตนเองบ้าง ต่อมาท่านได้รับการสนับสนุนจาก พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบการร้องเพลงของท่านโดยช่วยส่งเสริมท่านในทางต่างๆ ครั้นคุณสุเทพมีอายุครบกำหนดกฎเกณฑ์ทหาร พลอากาศเอกทวีจึงได้ชักชวนให้ท่านเข้ารับราชการในกองทัพอากาศ โดยได้ประจำอยู่ที่วงดุริยางค์ทหารอากาศ ซึ่งมี ครู ปรีชา เมตไตรย์ เป็นผู้ควบคุมวง ระหว่างนั้น คุณสุเทพได้บันทึกแผ่นเสียงมากขึ้นอีก และสถานีวิทยุต่างๆ ก็ได้นำเพลงที่ท่านร้องบันทึกแผ่นเสียงนี้ไปเปิดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

ภายหลังจากออกจากกองทัพอากาศแล้ว คุณสุเทพก็ได้ร้องเพลงเป็นอาชีพหลักอย่างเต็มตัว ท่านได้เข้าร่วมกับคณะชื่นชุมนุมศิลปิน และได้มีโอกาสร้องเพลงทั้งในรายการวิทยุและโทรทัศน์อยู่เนืองๆ ทำให้ชื่อเสียงของท่านเริ่มเพิ่มขึ้น งานต่าง ๆ จึงหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย และยิ่งในช่วงนั้น วงการภาพยนตร์ไทยกำลังเฟื่องฟู ท่านจึงได้งานร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้ร่วมแสดงภาพยนตร์บางเรื่องด้วย ท่านได้มีโอกาสร้องเพลงคู่กับนักร้องรุ่นพี่ท่านหนึ่งคือ คุณสวลี ผกาพันธุ์ อยู่เสมอ ในเวลานั้น คุณสวลีเป็นนักร้องยอดนิยมแห่งยุคที่มีแฟนเพลงชื่นชอบมากมาย ดังนั้นเมื่อใครซื้อแผ่นเสียงของคุณสวลีไป ก็มักจะมีเสียงคุณสุเทพติดไปด้วย ชื่อเสียงของคุณสุเทพจึงโด่งดังขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น คุณสุเทพจึงถือว่าความสำเร็จในเบื้องต้นส่วนหนึ่งของท่านนั้น ได้รับอานิสงส์มาจากการที่ได้ร้องเพลงคู่กับคุณสวลี ผกาพันธุ์ด้วย

จุดเด่นของคุณสุเทพก็คือการที่ท่านมีน้ำเสียงที่ดีเป็นเลิศ มีลีลาในการร้องเพลงที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนุ่มนวลชวนฟัง อีกทั้งอารมณ์ที่แสดงออกมาทางน้ำเสียงและสีหน้านั้นก็สามารถสะกดใจผู้ฟังให้คล้อยตามและเข้าถึงอารมณ์ของเพลงนั้นได้อย่างพิเศษ ประกอบกับการที่ท่านเป็นผู้ที่เอาใจใส่อย่างจริงจังในการทำงาน ทำให้ท่านเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงภายในระยะเวลารวดเร็ว จนได้รับฉายาจาก รงค์ วงษ์สวรรค์ว่า “นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” มีผลงานดีเด่นเป็นเวลาต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี

ในช่วงก่อนปีพุทธศักราช 2500 คุณสุเทพได้ร่วมเดินทางไปฮ่องกง และสาธารณรัฐประชาชนจีนกับศิลปินแขนงต่าง ๆ กลุ่มใหญ่ จากนั้น ท่านก็ได้เดินทางต่อไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาทางด้านการวาดรูปที่ท่านเคยรักมาก่อนในอดีต ระหว่างนั้นท่านก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากแฟนเพลงคนไทยที่นั่น ท่านได้เรียนวาดรูปตามความประสงค์และร้องเพลงขับกล่อมคนไทยที่ไปพำนักยังแดนอาทิตย์อุทัยประมาณ 3 ปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทย

Advertisements

การทำงาน

  • ร้านตัดเสื้อ ตำแหน่งเขียนตัวหนังสือ
  • กองทัพอากาศ ยศจ่าอากาศตรี

รางวัล & เกียรติคุณ

จากพรสวรรค์ ความสามารถ และความมุ่งมั่นในการทำงาน ทำให้คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และรางวัลเสาอากาศทองคำ หลายครั้ง ดังนี้

  • รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน
  • รางวัลเสาอากาศทองคำ
  • โล่เพชร
  • โล่เกียรติยศ สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย
  • ปริญญาบัตรศึกษาศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ศิลปกรรม
  • โล่เกียรติยศ วัดไทยในลอสแอนเจลิส
  • ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิตกิติมาศักดิ์ (ศิลปกรรม) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
  • โล่เกียรติยศพระราชทาน สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2525
  • รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2533

งานการเมือง

สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นศิลปินที่สนใจการเมือง มีส่วนสนับสนุนนักศึกษาให้เรียกร้องประชาธิปไตยสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นสมาชิกพรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ต่อมาได้ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคพลังใหม่ และได้รับเลือกตั้งหลายสมัย มีโอกาสทำงานรับใช้สังคมมากขึ้น นับเป็นศิลปินที่ตั้งใจทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างสม่ำเสมอตลอดมา

ในปี พ.ศ. 2525 เคยเข้าร่วมก่อตั้งและเป็นเลขาธิการพรรคพลังใหม่ ซึ่งนำโดยนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ หัวหน้าพรรค ร้อยตรีสมหวัง ศรีชัย รองหัวหน้าพรรค และแกนนำคนสำคัญอาทิเช่น ชัชวาลย์ ชมภูแดง บรรลือ ชำนาญกิจ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคกิจประชาคม

นายสุเทพ เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังธรรม ในปี พ.ศ. 2531

สุเทพ ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2549 โดยอ้างอิงความตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

ในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ได้ขึ้นเวทีชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร้องเพลง “คน” และ “อำนาจเงิน” สดๆ โดยไม่มีดนตรีประกอบอีกด้วย

เพลงที่ร้องประกอบภาพยนตร์และละครโทรทัศน์

  • ป่าลั่น จากภาพยนตร์เรื่อง เทพบุตรนักเลง ปี 2511
  • สกาวเดือน จากภาพยนตร์เรื่อง สกาวเดือน
  • สุรีรัตน์ล่องหน จากภาพยนตร์เรื่อง สุรีรัตน์ล่องหน พ.ศ. 2504
  • แผ่นดินของเรา จากภาพยนตร์เรื่อง โพระดก
  • มนต์รักบ้านนา จากภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักบ้านนา ฉายปี 2505
  • ดอกอ้อ จากภาพยนตร์เรื่อง ดอกอ้อ พ.ศ. 2511
  • แววมยุรา จากภาพยนตร์เรื่อง แววมยุรา ฉายปี 2501 ลือชัย นฤนาถ กับ อมรา อัศวนนท์
  • ยอดพธูเมืองแปร จากละครโทรทัศน์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ ประมาณพ.ศ. 2509-2510
  • ปองใจรัก จากละครโทรทัศน์เรื่อง จุฬาตรีคูณ
  • จุฬาตรีคูณ จากละครโทรทัศน์เรื่อง จุฬาตรีคุณ
  • ปูจ๋า สกุลกา ร้อยป่า น้ำค้าง จากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน
  • ดอกแก้ว (เอื้อ สุนทรสนาน-เนื้อร้อง-ทำนอง) จากภาพยนตร์ ดอกแก้ว ไชยา สุริยัน-เพชรา เชาวราษฎร์ ฉายที่เอ็มไพร์ 2 มีนาคม 2505
  • พะเนียงรัก (สมาน กาญจนผลิน-ชาลี อินทรวิจิตร) จากภาพยนตร์ พะเนียงรัก มิตร ชัยบัญชา-ภาวนา ชนะจิตร ฉายที่ คาเธ่ย์ 2 มีนาคม 2506
  • สวรรค์มืด (สมาน กาญจนผลิน-ชาลี อินทรวิจิตร) เทขยะ พิศภาพดวงใจ มนต์รักดวงใจ จากภาพยนตร์ สวรรค์มืด
  • ละอองดาว (สมาน กาญจนผลิน-ชาลี อินทรวิจิตร) จากภาพยนตร์ ละอองดาว ปี 2507 สมบัติ เมทะนี-พิศมัย วิไลศักดิ์
  • รักแท้ ร้องคู่ – พิศมัย วิไลศักดิ์ จากภาพยนตร์ ในม่านเมฆ ปี 2509
  • หนึ่งนุช จากภาพยนตร์เรื่อง หนึ่งนุช

เพลงประเภททั่วไป

  • ในโลกแห่งความฝัน (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน)
  • ใจพี่ (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน)
  • ครวญ (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน)
  • ตัวไกลใจยัง (แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน 2522)
  • ดาวลอย
  • เพียงคำเดียว
  • ดอกแก้ว
  • คำคน ลาก่อนสำหรับวันนี้
  • ไม่อยากให้โลกนี้มีความรัก
  • ชั่วนิจนิรันดร
  • โลกนี้คือละคร
  • คนจะรักกัน
  • บทเรียนก่อนวิวาห์
  • คืนหนึ่ง
  • วิญญาณในภาพถ่าย
  • หวานรัก
  • ชื่นรัก
  • เสน่หา

เพลงประเภทปลุกใจและศาสนา

  • เทิดพระเกียรติพระปิยมหาราช
  • สดุดีมหาราชา
  • พลังไทย
  • พระรัตนตรัย
  • พุทธธรรม
  • เดือนเพ็ญตรัสรู้
  • องคุลีมาร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • พ.ศ. 2533 – Order of the White Elephant - 2nd Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
  • พ.ศ. ไม่ปรากฏ – Order of the Crown of Thailand - 2nd Class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
  • พ.ศ. 2556 – Order of the Direkgunabhorn 4th class (Thailand) ribbon.svg เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)

ที่มา: วิกิพีเดีย

P. Wanutch

อัพเดททุกความบันเทิง ทั้งไทย ต่างประเทศ K-pop รีวิวหนัง เพลง คอนเสิร์ต พร้อมนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจและหลากหลาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button