ข่าว

รู้จักโคลง “ราชสวัสดิ์” หลักปฏิบัติผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

รู้จักโคลง “ราชสวัสดิ์” หลักปฏิบัติผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

ราชสวัสดิ์แปลว่า – ในช่วงวันมานี้คำว่า “ราชสวัสดิ์” ถูกคนไทยนำมาหยิบยกพูดถึง ต่างพยายามหานิยาม ที่มา และความหมายของคำคำนี้ ผู้เขียนจึงนึกไปถึงวรรณคดีเรื่องหนึ่งของไทยนั่นก็คือ “โคลงราชสวัสดิ์” วรรณคดีคำสอนว่าด้วยหลักปฏิบัติของข้าราชการผู้รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์

คำว่าราชสวัสดิ์ หรือ “ราชสวัสดี” คำนี้ปรากฎแทรกอยู่ในวิธุชาดก พระชาติว่าด้วยพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิต ได้กล่าวสั่งสอนข้อราชสวัสดีไว้แก่บุตรผู้ซึ่งจะรับราชการในภายภาคหน้า (พอพล สุขใส, 2550)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า โคลงราชสวัสดิ์ ถูกแต่งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวน 63 บท กำหนดให้พิธูรเป็นผู้กล่าวคำสอนต่าง ๆ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการสอนหลักปฏิบัติของผู้ที่จะรับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ สอนทั้งหลักปฏิบัติในการเป็นข้าราชการ และหลักปฏิบัติให้ตนเป็นคนดี เพื่อให้ดำเนินชีวิตด้วยดีในสังคม

ด้านหลักปฏิบัติในการเป็นข้าราชการที่ดีนั้น พิธูรสอนไว้ว่าควรรับใช้พระมหากษัตริย์ด้วยใจที่ซื่อตรง จงรักภักดี สงบเสงี่ยมและนอบน้อมต่อองค์พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ลูกหลานญาติมิตรและบริวารต้องมีความจงรักภักดีเช่นกัน

หนึ่งในใฝ่เฝ้าท้าว สถิตสถาน
โรงราชอาส์นจงมาน ชื่นช้อย
โดยคุณสุนทรปาน ปราโมทย์
สงบเสงี่ยมเจียมอาตม์ร้อย เรียนรู้อิริยา

หนึ่งให้ใจฉลาดรู้ เรื่องการ
จงพินิจพิจารณ์ ถี่ถ้วน
รู้จักลักษณะขลาดหาญ ทานเทียบ
สมบัติจงมีล้วน อย่างเลี้ยงพูนสกนธ์

ในส่วนรายละเอียดปลีกย่อยนั้น ได้กำหนดข้อพึงปฏิบัติของข้าราชการไว้น่าสนใจหลายข้อ เช่น

“ทางเดินที่ตกแต่งไว้เป็นพระราชวิถีแม้ได้รับพระบรมราชานุญาติให้เดินด้วยก็ไม่ควรเดิน”

“ไม่พึงใช้ของเสมอพระราชาหรือหัวหน้า ไม่บริโภคให้ทัดเทียมกับพระราชาหรือหัวหน้า พึงปฏิบัติให้ต่ำกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง”

“ไม่พึงทะนงตนว่าเป็นคนที่พระราชาหรือหัวหน้าโปรดปราน แล้วขึ้นร่วมพระแท่นบัลลังก์ เรื่อพระที่นั่ง หรือรถพระที่นั่ง”

“เมื่อพระราชาหรือหัวหน้าจะบำเหน็จความชอบแก่ผู้ใด ไม่ควรทูลหรือเสนอขัดตัดลาภของผู้นั้น พึงรอบคอบสอบสวนให้ถ้วนถี่ มีจิตใจอ่อนโยนโอนไปในทางที่เหมาะที่ควร”

พอพล สุขใส กล่าวว่า ราชสวัสดิ์นี้มีการนำมาแต่งเป็นตำราว่าด้วยหน้าที่ของข้าราชการ ทั้งมีการตราขึ้นเป็นกฎหมายทั้งในอดีต จวบจนปัจจุบัน เช่นที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนเป็นต้น

อ้างอิงจาก:

พอพล สุกใส. (2550). “ราชสวัสดี” : คำสอนของวิธุรบัณฑิตสำหรับข้าราชการที่สืบทอดอยู่ในวรรณกรรมคำสอนของไทย, วิทยานิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาตะวันออก, มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2558). นามานุกรมวรรณคดีไทย: โคลงราชสวัสดิ.

กลอนวรรณคดีไทย. (2019). โคลงราชสวัสดิ์.

ganeshnoi07. (2551). “โคลงราชสวัสดิ์ “หรือหลักปฏิบัติราชการ.

Aindravudh

นักเล่าเรื่อง จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ ผู้สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ผนวกกับการเริ่มต้นเส้นทางด้วยการเขียนงานวรรณกรรม ก่อนผันตัวมาเจาะประเด็นข่าวทางสังคม ออนไลน์ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button