เศร้า! พบพะยูนตายเพิ่มอีก เป็นตัวที่ 21 ของปี และมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
วานนี้ (1 ต.ค.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ระบุทางเฟซบุ๊ก ระบุถึงการตายของพะยูนตัวล่าสุด ตัวที่ 21 ของปี โดยระบุว่า
พะยูนตัวดังกล่าวถูกพบโดย นายสำราญ บุตรน้อยซึ่งพะยูนตัวนี้ลอยตายอยู่แหลมไม้ตาย บ้านทุ่งรัก อำเภอคุระบุรี จ.พังงา (ใกล้เกาะระ/พระทอง) ซึ่งนับว่าปีนี้มีพะยูนตายมากเป็นประวัติการณ์
“เพื่อนธรณ์อาจสงสัย ไม่ใช่ที่ตรัง/กระบี่หรือ? พะยูนในไทย 250 ตัว อยู่ตรัง/กระบี่ 200 ตัว ที่เหลืออยู่ตามแหล่งอื่นอีก 11 แห่ง รวมเป็น 12 แหล่งทั่วไทย ทะเลชายฝั่งคุระบุรีถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดในพังงา และเป็น 1 ใน 12 เขตที่อยู่ในแผนอนุรักษ์พะยูนใน #มาเรียมโปรเจ็ค” ดร.ธรณ์ ระบุ
นอกจากนี้ ยังระบุว่า สาเหตุการตายของพะยูนตัวนี้นั้นเห็นได้ชัดเจน หากดูที่ภาพก็จะเห็นว่ามีอวนดักปลาติดอยู่ ซึ่งพะยูนนั้นเป็นสัตว์ที่หายใจด้วยปอด และเมื่อติดอวนก็สามารถทำให้จมน้ำตายได้
“ตามที่เคยบอกไว้ 90% ของพะยูนที่ตายจากผลของมนุษย์ เป็นปัญหาจากเครื่องมือประมง การทำประมงทับซ้อนในพื้นที่หากินพะยูน จำเป็นต้องวางแผนในการแก้ไขอย่างรอบคอบ มิใช่ออกกฎเกณฑ์ไปเรื่อย โดยที่ปฏิบัติตามไม่ได้”
“แผนอนุรักษ์พะยูนที่คณะสัตว์ทะเลหายากเพิ่งเสนอผ่านคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ รอเข้า ครม. จะเน้นเรื่องการหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับพะยูน โดยตั้งเป้า 12 พื้นที่ รวมทั้งตรงนี้ด้วย”
ดร.ธรณ์ระบุว่า ได้พูดคุยกับคนในพื้นที่และได้รู้ว่าคนในพื้นที่เองก็อยากให้เกิดการอนุรักษ์อย่างจริงจังโดยอาจนำตัวอย่างจากตรังมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ชาวบ้านอยู่ ในขณะที่พะยูนก็อยู่ได้ โดยไม่ไม่ใช่การอนุรักษ์เพียงอย่างเดียวจนชาวบ้านไม่รักพะยูน
“ถึงตอนนี้ คงไม่มีอะไรจะเสนอแนะอีกแล้ว ยกเว้นภาวนาให้ 21 พะยูนในปีนี้ไปสู่สวรรค์ และอย่าให้มีตัวที่ 22 เลย สุดท้ายที่หวังคือขอให้ มาเรียมโปรเจ็ค ผ่าน ครม. ได้งบพอเพียงตามที่ขอ และแผนอนุรักษ์ 3 ปี (63-65) เดินหน้าเต็มตัว เราสูญเสียมากเกินไปแล้วจริงๆ”
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat