ข่าวข่าวภูมิภาค

วิกฤติหนักภูเก็ตขาดน้ำประชาชนเดือดร้อนถ้วนหน้า จี้รัฐแก้ระยะยาว

ภูเก็ตวิกฤต ถ้าฝนไม่ตกเขื่อนบางวาดมีน้ำใช้ อีกแค่สิ้นเดือน พ.ค. นี้เท่านั้น ขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนหนัก ส่วนการการประปาเหาแหล่งน้ำดิบสำรองรับมือภัยแล้ง ปี 2562 ด้านเอกชนเสนอภาครัฐหามาตรการแก้ระยาว ภูเก็ตมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกวัน

ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้กันอย่างถ้วนหน้า เนื่องจากน้ำประปาที่มีอยู่ส่งจ่ายไม่เพียงพอ ต้องหาซื้อน้ำมาใช้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าเท่าตัว บางพื้นที่ขาดน้ำใช้มาเป็นเวลานานตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้พบว่าความเดือดร้อนของประชาชนมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยระบุว่าปีนี้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ขณะที่ฝนไม่ตกติดต่อต่อกันเป็นเวลานาน น้ำในเขื่อนต่างๆพบว่ามีเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามขณะนี้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้ออกมาโพสต์ถึงความเดือดร้อนของการไม่มีน้ำใช้กันจำนวนมาก ต่างก็ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่กำลังเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับปัญหาเรื่องน้ำในภูเก็ต ก่อนหน้านี้ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กำชับให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางมาตรการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562 ในหลายๆ ด้าน เช่น การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของจังหวัด, การปรับปรุงแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้รับทราบแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัด พร้อมทั้งนำบทเรียนจากการปฏิบัติงานและปัญหาอุปสรรคจากที่ผ่านมา ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อการเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ,จัดทำแผนแจกจ่ายน้ำในแต่ละหมู่บ้าน ชุมชน,ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้านการเกษตร ตามแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานยังคงมีแนวโน้มประสบปัญหาภัยแล้งจากการมีน้ำไม่เพียงพอส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้ ซึ่งยังคงต้องติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือหากเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ โดยขณะนี้จังหวัดภูเก็ต มีแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 3 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำบางวาด อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ และ อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ โดยอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ หาแหล่งน้ำดิบสำรอง พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ขอความร่วมมือเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรืองดการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง

ขณะที่ นายไกรสร มะหะหมัด ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค กล่าวว่า ในส่วนของการจัดหาน้ำมาผลิตน้ำประปาเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนและสถานประกอบการต่างๆ คิดว่าถ้าฝนยังไม่ตกลงมา การจัดหาน้ำมาผลิตน้ำประปายอมมีปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องจากน้ำที่มีอยู่โดยเฉพาะในส่วนของเขื่อนบางวาดจะมีน้ำรองรับได้แค่ปลายเดือน พ.ค.นี้เท่านั้น และขณะนี้ทางชลประธานได้แจ้งให้ทางการประปาลำกำลังการผลิตลง เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อความต้องการตลอดหน้าแล้งนี้

อย่างไรก็ตามเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทางการประปาได้จัดหาแหล่งน้ำสำรองจากหลายพื้นที่เข้ามาใช้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเร่งเชื่อมต่อเพื่อส่งน้ำ ซึ่งมีการตกลงซื้อน้ำดิบจากเอกชนไว้หลายรายแล้ว คิดว่าน่าจะรับมือกับภัยแล้งได้ แต่ในส่วนของประชาชนก็จะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด และบางจุดที่มีปัญหาแรงดันน้ำส่งน้ำไม่ถึงก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำไหลอ่อน หรือน้ำไม่ไหล แต่การประปาก็แก้ปัญหาโดยการเอารถน้ำไปส่งให้แต่ละจุด

ขณะที่นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในส่วนของเทศบาลนครภูเก็ต ว่า เทศบาลนครภูเก็ตได้มีการให้บริการน้ำประปาให้กับพี่น้องประชาชนทั้งในเขตเทศบาลนครภูเก็ตและพื้นที่ข้างเคียงจำนวน 18,000 หลังคาเรือน ใช้น้ำวันละประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ในจำนวนดังกล่าว 70% เป็นน้ำที่ผลิตเอง และส่วนที่เหลือมีการซื้อจากภาคเอกชนและการประปาส่วนภูมิภาค

“สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน มีน้ำดิบในแหล่งน้ำของเทศบาลฯ สามารถใช้ได้ไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ภายใต้เงื่อนไขในการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งได้มีการแจ้งสถานการณ์ให้ผู้ใช้น้ำในความรับผิดชอบได้รับทราบมาโดยตลอด พร้อมทั้งออกแผนในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ เช่น การลดความดันน้ำในบางช่วงเวลา เป็นต้น แต่ถ้าไม่มีฝนตกลงมาเตรียมแผนสำรองด้วยการจัดซื้อน้ำจากแหล่งน้ำของเอกชนเพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้น้ำ รวมทั้งยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วย”

นางสาวสมใจ ได้กล่าวต่อไปว่า ขอความร่วมมือไปยังผู้ใช้น้ำด้วยว่า เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีจำกัดขอให้ประชาชนได้ใช้น้ำกันอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดแล้งนี้ ส่วนของแผนระยะยาวนั้นทางเทศบาลก็ได้มีการดำเนินการมาโดยตลอด เช่น การขุดลอกแหล่งเก็บน้ำดิบที่มีอยู่ให้สามารถจุน้ำได้เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นขุมน้ำสวนหลวงหรือขุมน้ำในซอยพะเนียง เป็นต้น

ในอนาคตระยะยาวหากวิกฤตจริงๆ นอกจากซื้อน้ำจากแหล่งน้ำของเอกชนแล้ว ยังมีโครงการนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด หรือการนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ แต่นั่นคงจะเป็นเรื่องในระยะยาว เพราะผู้ใช้จะยังไม่คุ้นชินกับการนำน้ำที่บำบัดและทรีทน้ำแล้วนำกลับมาใช้ แต่หากขาดแคลนหนักๆ ในอนาคตก็จำเป็น

ขณะที่ นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวถึงปัญหาสถานการณ์น้ำของภูเก็ตว่า ขณะนี้ปัญหาน้ำมีผลกระทบกับการประกอบธุรกิจค่อนข้างมาก และมีผู้สอบถามมายังสมาคมฯ ค่อนข้างมาก โดยในส่วนผู้ประกอบการโรงแรมจะวางแผนการซื้อน้ำจากเอกชนมาใช้ในช่วงที่น้ำประปาขาดแคลน แม้ว่าจะมีราคาสูงอยู่ที่ลูกบาศก์เมตรละ 100 – 120 บาท ซึ่งก็ยอมซื้อเพราะยังสามารถซื้อได้ เนื่องจากจำนวนโรงแรมที่พักมีการเติบโตค่อนข้างมากและรวดเร็ว แต่ในปีนี้พบว่าน้ำที่เคยซื้ออยู่ในราคาลูกบาศก์เมตรละ 100-120 บาทก็หมดเช่นกัน ประกอบกับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีข่าวว่าน้ำดิบในอ่างใกล้จะหมดหากฝนไม่ตกในเดือนเมษายนก็จะเกิดปัญหาหากไม่มีการจัดการ

“การหาแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่เป็นเรื่องใหญ่เกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจจะไปหาได้เอง โดยเราต้องพึ่งพาภาครัฐ สิ่งที่ทางโรงแรมทำได้ คือ การวางแผนบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่และมีการใช้น้ำอย่างประหยัด เชื่อว่าทุกโรงแรมได้ทำมาแล้วในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการให้บริการและไม่กระทบกับลูกค้า แม้ว่าจะมีการณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณน้ำที่ใช้ภายในโรงแรมก็คงไม่ลดลงกว่าที่ใช้กันอยู่

จึงอยากให้ภาครัฐหามาตรการในระยะยาวรับมือกับปัญหาน้ำขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง โดยดึงน้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่อีกจำนวนมากในพื้นที่ และมีโครงการที่ทางกรมชลประทานได้ศึกษาไว้แล้วเพื่อดึงน้ำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการดึงน้ำมาจากจังหวัดใกล้เคียง น้ำในขุมน้ำเอกชน หรือน้ำใต้ดิน ซึ่งหากทำในช่วงนี้จะสามารถแก้ปัญหาในช่วงแล้งปีหน้าได้” นายก้องศักดิ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button