ข่าว

ย้อนดูคลิป “ฮุน เซน” เกือบเจอรองเท้าปาหน้า พาไขปมอดีตผู้นำเขมรทำไรไว้ที่สหรัฐ

เพจดังขุดวีกรกรรมเก่า ฮุน เซน สมัยเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันหนแรกในชีวิตก็เจอดีทันที หลังชายเขมรพลัดถิ่น วัยกว่า 70 สุดทนผลงานครองอำนาจยาวนานกว่า 30 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 การเดินทางเยือนกรุงวอชิงตันในสหรัฐครั้งแรกของสมเด็จฮุน เซน ได้ทำให้อดีตผู้นำสูงสุดกัมพูชาได้ลิ้มรสชาติของการต่อต้านที่เขาบดขยี้จนหมดสิ้นไปแล้วในบ้านเกิดตลอดเกือบ 36 ปีที่ครองอำนาจ เมื่อชาวกัมพูชาพลัดถิ่นคนหนึ่งได้ขว้างรองเท้าเข้าใส่ ขณะที่เขากำลังทักทายกลุ่มผู้สนับสนุนที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อต้อนรับ

อ้างอิงข้อมูลของ Rfa.org เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ โรงแรมวิลลาร์ด อินเตอร์คอนติเนนตัล ขณะที่ ฮุน เซน และทีมงานกำลังเดินทางเพื่อไปประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนพ.ค.ของสามปีก่อน มีโจ ใบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐในตอนนั้นเป็นเจ้าภาพการประชุม

โดยเหตุการณ์นี้ถูกบันทึกเป็นคลิปไว้อย่างชัดเจน เมื่อชายชาวกัมพูชาคนหนึ่งได้ขว้างรองเท้าซึ่งเฉียดศีรษะของสมเด็จฮุนเซนไปอย่างหวุดหวิด

ต่อมาวิดีโอของเหตุการณ์นี้ได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกโซเชียลอย่างรวดเร็ว ขณะที่เสียงจากผู้ขว้างเกือกก็ย้ำว่า เขาต้องการให้ท่านผู้นำรายนี้อับอาย

นายอุก ทัช ชายผู้ขว้างรองเท้า กล่าวกับวิทยุเอเชียเสรี (RFA) ในวันต่อมาว่า “ผมรู้สึกโล่งใจและนอนหลับได้ดีขึ้นมากหลังจากที่ได้ขว้างรองเท้าใส่หัวฮุน เซน ผมตั้งใจจะทำสิ่งนี้มานานแล้ว เพราะผมต้องการให้เขาอับอาย ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น”

นายอุก ทัช วัย 72 ปี อดีตทหารกัมพูชาในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งพำนักในแคลิฟอร์เนีย เล่าว่าองครักษ์ของฮุน เซน พยายามจะเข้ามาทำร้ายเขา แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสหรัฐฯ ได้เข้าขัดขวางไว้ก่อน

“การกระทำของผมเป็นเพียงการขว้างรองเท้า แต่ฮุน เซน ขว้างระเบิดใส่ประชาชนชาวกัมพูชาที่ประท้วงอย่างสันติ เขาคือเผด็จการและฆ่าคนไปมากมาย รวมทั้งญาติของผมด้วย” นายอุก ทัช กล่าว โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธต่อพรรคร่วมรัฐบาลของฮุน เซน ในปี 1997 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บ 150 ราย และผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล

อย่างไรก็ดีกรณีของนายอุก ทัช แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับนางสาวสาม สักคา นักกิจกรรมฝ่ายค้านที่ถูกจำคุก 4 ปีในกัมพูชา เพียงเพราะขว้างรองเท้าใส่โปสเตอร์ของฮุน เซน แล้วแชร์ลงโซเชียลมีเดีย

บทบาทประธานอาเซียน ตั๋วผ่านทางสู่วอชิงตันหนเก่า 3 ปีก่อน

การเดินทางเยือนเมืองหลวงของสหรัฐฯ ครั้งแรกของสมเด็จฮุน เซน ในห้วงยามดังกล่าว เกิดขึ้นในฐานะที่เจ้าตัวยังดำรงตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียนซึ่งทำให้ได้รับเชิญร่วมโต๊ะอาหารค่ำที่ทำเนียบขาว

ฮุนเซนเจอรองเท้าเขวี้ยงหน้า
แฟ้มภาพ

“ปมในใจฮุน เซน” ความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกเมินจากสหรัฐ

การที่สมเด็จฮุน เซน ไม่เคยได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีต กลายเป็นปมในใจที่ฝังลึก เซบาสเตียน สแตรงจิโอ บรรณาธิการข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนิตยสาร The Diplomat และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกัมพูชา ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจผ่านอีเมลถึง RFA

“พฤติกรรมแบบอำนาจนิยมของฮุน เซน คือเหตุผลหลักที่เขาไม่เคยได้รับเชิญเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นความจริงที่ว่าผู้นำหลายคนที่มีประวัติคล้ายกัน (หรือแย่กว่า) กลับได้รับการต้อนรับอย่างดีดุจปูพรมแดง”

“สำหรับฮุน เซน การที่เขาถูกมองข้าม ขณะที่ผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ของไทยที่ยึดอำนาจมา หรือ เหงียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กลับได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในวอชิงตัน ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจให้เขาอยู่เสมอ จากมุมมองของเขา นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่ชาติตะวันตกปฏิบัติต่อกัมพูชาแตกต่างจากชาติพันธมิตรอื่นๆ”

ทั้งนี้การเยือนวอชิงตันครั้งนั้นเปรียบเสมือนภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความแตกแยกทางการเมืองในกัมพูชา ที่ถูกนำมาจัดแสดงบนเวทีโลก ระหว่างภาพของผู้สนับสนุนที่ถูกจัดตั้งมา กับการแสดงออกถึงความขุ่นแค้นของพลเมืองที่ต้องลี้ภัยจากอำนาจเผด็จการที่เขาจากมา

ขอบคุณคลิป : @yetharvlog4035

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน สถานการณ์สู้รบชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ล่วงเข้าสู่วันที่ 4 ของเหตุการปะทะของกองกำลังทั้งสองฝ่าย อัปเดตตัวเลขผู้อพยพถึงเมื่อวันที่ 26 ก.ค. รายงานของอัลจาซีราห์ระบุ พลเรือนไทยเสียชีวิต 13 ราย ทหาร 6 นาย อพยพ 1.4 แสนคน ส่วนฝั่งกัมพูชา พลเรือนเสียชีวิต 7 ราย ทหาร 5 นาย และอพยพจำนวน 38,000 ราย

กัมพูชา ผูอพยพจำนวน 38000 ราย
ผู้อพยพชาวกัมพูชา รับน้ำที่ค่ายผู้ลี้ภัยบาตขาว จ.อุดรมีชัยของกัมพูชา เมื่อ 26 ก.ค.68 ขณะที่เหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชาเข้าสู่วันที่ 3 (AP Photo/Anton L. Delgado).

ส่วนความเคลื่อนไหวของฮุนเซน ประธานวุฒิสภาและบิดานายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา โพสต์ภาพตัวเองยังนั่งบัญชาการการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ในสภาพที่ประเทศและประชาชนกำลังเผชิญความทุกข์ยากเช่นนี้ พวกเราไม่มีสิทธิที่จะเจ็บป่วยหรือพักผ่อนเลย พวกเราไม่เคยมีนิสัยทอดทิ้งประชาชนในยามที่พวกเขากำลังประสบความยากลำบาก ตลอดชีวิตของข้า ไม่ต่างจากเหล่าทหารคนอื่นๆ คือ (อุทิศชีวิตเพื่อชาติ และอัฐิให้กับครอบครัว)”.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx