ศบ.ทก.แจง มาตรการชายแดนไทย-กัมพูชา ยันทำเพื่อ ปชช.ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ

ศบ.ทก. ชี้แจงมาตรการผ่อนปรนชายแดนไทย-กัมพูชา ยันทำตามข้อเรียกร้องประชาชน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ เพื่อลดผลกระทบเร่งด่วน ย้ำดำเนินการอย่างสมดุลระหว่างความมั่นคงและเศรษฐกิจ
(วันที่ 22 กรกฎาคม 2568) ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา (ศบ.ทก.) ได้โพสต์แถลงต่อกรณีที่มีการออกมาตรการผ่อนปรนให้รถส่งสินค้า สามารถเข้า-ออกข้ามแดนได้ในบางกรณี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงตึงเครียด โดยยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการตอบสนองต่อข้อเท็จจริงและความจำเป็นเร่งด่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่
“พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนทุกท่าน ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา (ศบ.ทก.) ได้ออกมาตรการผ่อนปรนบางประการในพื้นที่ชายแดน เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ “การค้าขายตามแนวชายแดน” ได้บางส่วน ภายใต้การพิจารณาอย่างรอบคอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นการอนุญาตให้ “รถส่งสินค้า” เข้า-ออกข้ามแดนได้ ในบางกรณี
ศบ.ทก.ตระหนักดีว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อมาตรการเหล่านี้ ซึ่งขอเรียนว่า ศบ.ทก. มิได้ดำเนินการโดยพลการ หรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด หากแต่เป็นการตอบสนองต่อ “ข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ชายแดน” ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการหยุดชะงัก ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

มาตรการที่ออกมานั้น มีจุดประสงค์เพื่อลดผลกระทบเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ผู้ประกอบการบางรายต้องส่งสินค้าไปยังคู่สัญญาต่างประเทศ ภายในกำหนดเวลา หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามเงื่อนไข จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย หรือชำระค่าปรับรายวัน ซึ่งในสถานการณ์ที่ตึงเครียดเช่นนี้ การเจรจาเพื่อขอยกเว้นหรือผ่อนผันค่าเสียหายเป็นเรื่องยาก และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งสองประเทศ
2. ในหลายกรณี โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมหรือโรงงาน ที่มีนักลงทุน จากประเทศที่สาม จำเป็นต้องส่งชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบข้ามแดน หากการขนส่งหยุดชะงัก อาจทำให้สายการผลิตหยุดลงทันที กระทบทั้งภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และแรงงานเป็นวงกว้าง ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ยังสะเทือนต่อระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) ของประเทศโดยรวม
ดังนั้น ศบ.ทก.จึงได้วางหลักการว่า การผ่อนปรนทุกกรณี จะต้องผ่านการเห็นชอบร่วมกัน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และอยู่บนหลักการของความจำเป็น เหมาะสม และตรวจสอบได้ พร้อมมีการติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด และพร้อมทบทวนหากมีการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์
ศบ.ทก.ขอยืนยันว่า เราให้ความสำคัญกับทั้งมิติความมั่นคงและความอยู่รอดของ ภาคเศรษฐกิจไทยอย่างสมดุล บนพื้นฐานของข้อมูล ข้อเท็จจริง และเสียงสะท้อนจากประชาชน เป็นสำคัญ”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เริ่มแล้ว “จันทบุรี-ตราด” ผ่อนปรนด่านชายแดน รถขนส่งสินค้า ไทย-กัมพูชา ผ่านได้
- ศักดิ์ศรีชายแดน? อินฟลูฯ เขมรให้รางวัล ‘จ่าสมครก’ ทหารขู่ไทย 15 บาท-ทุเรียน 2 ลูก
- ชาวเขมรโอด “นมสด” ขาดตลาดหนักใน กัมพูชา หลังปิดด่าน แบนสินค้าไทย
ติดตาม The Thaiger บน Google News: