กัมพูชาวางกับระเบิดช่องบก ทหารไทยข้อเท้าขาด อาจละเมิดอนุสัญญาออตตาวา

ชายแดนตึงเครียด ทหารไทย 3 นายเหยียบกับระเบิดที่ช่องบก บาดเจ็บสาหัส-ข้อเท้าซ้ายขาด ชี้กัมพูชาอาจละเมิดอนุสัญญาออตตาวา หรือ รณรงค์ห้ามใช้, สะสม หรือผลิต ทุ่นระเบิดสังหาร
สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณช่องบก กลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังจากทหารไทย 3 นายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเหยียบกับระเบิดบริเวณเนิน 481 ขณะปฏิบัติภารกิจลาดตระเวน ล่าสุด แม่ทัพภาคที่ 2 สั่งหน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิดเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยละเอียด ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำของกัมพูชาอาจเข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาออตตาวาว่าด้วยการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลหรือไม่
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจขึ้น เมื่อกำลังพลจากหน่วยร้อย ร.6021 กำลังปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนรักษาความสงบในพื้นที่ช่องบก ได้ประสบเหตุเหยียบกับระเบิด ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย หน่วยได้รีบถอนกำลังและนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์อย่างเร่งด่วน
ล่าสุดในช่วงบ่ายของวันนี้ (17 ก.ค. 68) แม่ทัพภาคที่ 2 ได้สั่งการให้หน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด (EOD) เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุอย่างละเอียด เพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานและพิสูจน์ทราบว่าทุ่นระเบิดดังกล่าวเป็นชนิดใด มีแหล่งที่มาอย่างไร และที่สำคัญคือเป็นทุ่นระเบิดเก่าที่ตกค้าง หรือเป็นการวางใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงถึงความเคลื่อนไหวของฝ่ายกัมพูชาที่น่ากังวลในช่วงที่ผ่านมา ปลาย พ.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารสองฝ่ายที่บริเวณช่องบก ต่อมาวันที่ 1 – 3 ก.ค. มีรายงานว่าทหารกัมพูชาได้เริ่มทำการติดตั้งสนามทุ่นระเบิดในพื้นที่ 355 ลูก
ต่อมา วันที่ 8 ก.ค. 68 มีข้อมูลว่าทหารกัมพูชาได้รับทุ่นระเบิดเพิ่มเติมอีก 106 ลูก จากนั้น 2 วันต่อมา มีการติดตั้งทุ่นระเบิดจำนวน 120 ลูก จนกระทั่ง 15 ก.ค. 68 หน่วยทหารช่างของไทยได้ตรวจพบทุ่นระเบิดสังหารบุคคลชนิด PMN2 จำนวน 4 ลูก บริเวณใกล้ช่องบก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถูกตั้งข้อสังเกตว่า หากพิสูจน์ได้ว่ากัมพูชาวางทุ่นระเบิดใหม่จะถือเป็นการละเมิด สนธิสัญญาออตตาวา ปี 2540 (Ottawa Treaty) หรือไม่ เป็นอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อย่างร้ายแรง รวมถึงอาจละเมิดบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ไทยและกัมพูชาทำร่วมกันไว้เมื่อปี 2543
สำหรับ ‘สนธิสัญญาออตตาวา’ คือ การรณรงค์ให้ทั่วโลก ห้ามใช้ สะสม ผลิต และถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหาร เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อยุติการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Landmines: APLs) เนื่องจากส่งผลกระทบรุนแรงอาจต่อคร่าชีวิตพลเรือนได้ ปัจจุบันมี 164 ประเทศเข้าร่วม และทำลายทุ่นระเบิดไปแล้วกว่า 50 ล้านลูกทั่วโลก
ทั้งนี้ กองทัพภาคที่ 2 ขอให้ประชาชนรอผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และขอความร่วมมือในการติดตามข้อมูลจากหน่วยงานด้านความมั่นคงหรือช่องทางของทางราชการเป็นหลัก เพื่อป้องกันความสับสน
ข้อมูลจาก : กองทัพภาคที่ 2
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ลี้ภัยกัมพูชา เตรียมฟ้อง ฮุน เซน ในศาลไทย ปมสั่งลอบสังหาร พร้อมหลักฐาน
- จับคืนเดียว 38 ชีวิต ลอบเข้าไทย “แอดมินเว็บพนัน-บัญชีม้า-มิจ” อ้างไร้งานในกัมพูชา
- เปิดความโหด “ทุ่นระเบิด PMN2” ของกัมพูชา เป็นของใหม่ ผลิตในรัสเซีย
ติดตาม The Thaiger บน Google News: