ก.วัฒนธรรม แถลง กัมพูชาไม่ได้เคลม วรรณกรรมไทย 22 เรื่อง ชี้ เป็นการเข้าใจผิด

กระทรวงวัฒนธรรม ปฏิเสธข่าวลือ หลังถูกวิจารณ์ว่าปล่อยให้กัมพูชาเคลมวรรณกรรมไทย 22 เรื่อง ชี้ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ยืนยันตามหลักเกณฑ์ยูเนสโก วรรณกรรมไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้โดยตรง
(วันที่ 15 กรกฎาคม 2568) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการ กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่าประเทศกัมพูชาได้นำวรรณกรรมไทย 22 รายการไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับองค์การยูเนสโก ซึ่งสร้างความไม่พอใจและความเข้าใจผิดในวงกว้าง โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและขอยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง
ข้อเท็จจริงคือ กัมพูชาไม่ได้เสนอขอขึ้นทะเบียน “วรรณกรรม 22 เรื่อง” แต่ได้เสนอขึ้นทะเบียนศิลปะการแสดงโบราณของกัมพูชาในชื่อ The Royal Ballet of Cambodia (ระบำพระราชทรัพย์แห่งกัมพูชา) และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) แล้ว

ส่วนรายชื่อวรรณกรรม 22 เรื่อง เช่น ไกรทอง, พระสังข์, อุณรุท ที่ปรากฏในเอกสารที่ถูกแชร์นั้น มาจากหนังสือชื่อ Inventory of Intangible Cultural Heritage of Cambodia ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2548 (หลังการขึ้นทะเบียน) หนังสือเล่มนี้เป็นเพียง บัญชีรายการมรดกภูมิปัญญาของชาติกัมพูชาเอง ที่รวบรวมว่าบทละครเหล่านี้ถูกนำไปใช้ประกอบการแสดง “Royal Ballet” ไม่ใช่เอกสารการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกแต่อย่างใด
กระทรวงวัฒนธรรมชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโกนั้น วรรณกรรม (Literature) ที่เป็นตัวบท ไม่สามารถเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) ได้โดยตรง โดยมรดกฯ ที่จะขึ้นทะเบียนได้ต้องเป็น 1 ใน 5 ประเภทนี้เท่านั้น คือ (1) ประเพณีมุขปาฐะ (2) ศิลปะการแสดง (3) แนวปฏิบัติทางสังคมและพิธีกรรม (4) ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และ (5) งานฝีมือดั้งเดิม ดังนั้น การอ้างว่ามีการขึ้นทะเบียนวรรณกรรม 22 เรื่องจึงเป็นไปไม่ได้ตามกฎของยูเนสโก
วรรณกรรมหลายเรื่องที่ปรากฏในรายการ เช่น รามเกียรติ์ อิเหนา สังข์ทอง ถือเป็น วัฒนธรรมร่วม ที่ได้รับอิทธิพลและมีการเผยแพร่ร่วมกันในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมหลายเรื่องในฉบับที่คนไทยคุ้นเคยกันดีนั้น เป็น พระราชนิพนธ์หรือผลงานของกวีไทย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ไกรทอง (พระราชนิพนธ์ ร.2) จันทโครพ และลักษณวงศ์ (สุนทรภู่) เป็นต้น

วัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฯ ยูเนสโก คือ การอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย และสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าร่วมกัน ไม่ใช่การแสดงความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ดังตัวอย่างที่เมียนมาขึ้นทะเบียน ประเพณีติงยัน และไทยขึ้นทะเบียน สงกรานต์ ซึ่งเป็นประเพณีปีใหม่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ละประเทศก็มีสิทธิ์ขึ้นทะเบียนในนามของตนเองได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีรายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว 6 รายการ ได้แก่ โขน นวดไทย โนรา สงกรานต์ ต้มยำกุ้ง และเคบายา และมีรายการที่รอการพิจารณาอีก 4 รายการ คือ ชุดไทย มวยไทย ผ้าขาวม้า และลอยกระทง ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศต่าง ๆ และประสานความร่วมมือในภูมิภาคมาโดยตลอด
กระทรวงวัฒนธรรมจึงขอขอบคุณในความห่วงใยของประชาชน และขอให้ทุกท่านโปรดรับฟังข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัมพูชา หยิบวรรณคดีไทย ขึ้นทะเบียนยูเนสโก้ 22 เรื่อง วธ. ว่าแบบนี้
- ประวัติ ‘วันสุนทรภู่’ กวีเอกเมืองไทย ผู้บุกเบิกโลกวรรณกรรม
- คนไทยเอ๊ะ เตรียมฉาย เปรี๊ยะอภัยมณี ละครเขมร ก็อป พระอภัยมณี ทั้งดุ้น
ติดตาม The Thaiger บน Google News: