ข่าวการเมือง

หมอวรงค์ สรุป 9 ข้อ หลังอ่านเอกสารแพทยสภา บอกงานนี้นักโทษชั้น 14 รอดยาก

หมอวรงค์ สรุป 9 ข้อ หลังอ่านเอกสารแพทยสภาฉบับเต็ม บอกงานนี้นักโทษชั้น 14 รอดยาก ไม่มีเหตุผลต้องนอนโรงพยาบาลตำรวจถึง 6 เดือน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กสรุปเอกสารแพทยสภา กรณีนักโทษชั้น 14 ฟันคดีนี้รอดยาก

โดยหมอวรงค์ ระบุว่า “ผมได้มีโอกาสอ่าน เอกสารของแพทยสภาที่สื่อสำนักหนึ่ง นำมาลงรายละเอียด เกี่ยวกับการลงโทษจริยธรรมแพทย์ ด้วยสามัญสำนึก แทบจะพูดได้เต็มปากว่า นักโทษชั้น14 ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะต้องอยู่รพ.ตำรวจต่อเนื่องถึง 6 เดือน เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อเอกสารแพทยสภา แบบง่ายๆ ผมขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจ

1.แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย ตอนกลางวัน แพทย์หญิงรวมทิพย์ สุภานันท์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ได้ตรวจร่างกายและเขียนหนังสือส่งตัวให้นักโทษ เนื่องจากมีประวัติจากต่างประเทศ มีโรคหลายโรค และต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง ตั้งใจให้ไปตรวจในเวลาราชการ รักษาแบบผู้ป่วยนอก

2.ช่วงเวลากลางคืน เวลา 21.00-22.00น. พยาบาลได้โทรไปปรึกษา แพทย์ผู้ตรวจร่างกายตอนกลางวันว่า นักโทษมีอาการ เจ็บแน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ออกซิเจนในเลือดต่ำลง สังเกตอาการแย่ลง อ้างว่าได้ปรึกษาแพทย์เวร แนะนำให้ส่งนักโทษไปรพ.ตำรวจ

จากรายงานที่ได้รับ แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย สงสัยนักโทษจะเป็นโรคทางด้านเส้นเลือดหัวใจ จึงแนะนำว่าไม่ควรสังเกตอาการในสถานพยาบาลของเรือนจำ ควรส่งต่อไปที่สถานพยาบาลที่เหมาะสม พยาบาลได้ขอใช้หนังสือส่งตัวที่เขียนตอนกลางวัน (ข้อมูลข้อนี้มีความขัดแย้งในข้อมูลที่สื่อรายงานการไต่สวน)

โดยทั่วไปไม่ควรใช้ใบส่งตัวใบเดียวกัน เนื่องจาก การเขียนใบส่งตัวที่เขียนตอนกลางวัน จะเป็นโรคเรื้อรังเก่าที่มีประวัติจากต่างประเทศ ส่วนอาการตอนกลางคืน เป็นอาการวิกฤติที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้น ซึ่งอาการจะไม่เหมือนกัน

3.ช่วงวันที่ 23 สิงหาคม พลตำรวจโท นายแพทย์โสภณรัชต์ สิงหจารุ ได้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ โดยพูดถึงปัญหาโรคความดันที่อ้างตัวเลข ตัวบนยัง 170 ตัวล่างยัง 115-120 โดยกลัวว่าพวกความดันสูงมากๆ เดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง และอ้างว่าทางอาจารย์หมอราชทัณฑ์ก็กลัวเรื่องนี้

แต่จากข้อมูลที่แพทยสภาตรวจพบว่า วันที่ 23 สิงหาคม เวรเช้ามีความดันโลหิตที่ 150/100 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งแสดงว่าแพทย์โรงพยาบาลตำรวจได้รักษาผู้ป่วยจนอาการทุเลา

วันที่25 สิงหาคม 2566 แพทย์ท่านนี้ได้มีการให้สัมภาษณ์ ว่ามีการตรวจ echoหัวใจ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตรวจปอดและหัวใจยังพบว่าอาการน่าเป็นห่วง

แต่ข้อมูลที่ปรากฏในสำเนาเวชระเบียนกลับพบว่า ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ไม่ได้มีการบันทึกว่า การทำงานของปอดและหัวใจอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงหรือผิดปกติไปจากเดิม

และพยาบาลที่บันทึกติดตามอาการของผู้ป่วยตลอดมาจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ก็ไม่พบว่ามีสัญญาณชีพหรืออาการที่น่าเป็นห่วง

จะสังเกตพบว่าช่วงเช้าวันที่ 23 ส.ค.2566 ความดันโลหิตของนักโทษทุเวลาขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ นักโทษรายนี้ถูกส่งมาจากราชทัณฑ์ด้วยเกรงปัญหาโรคหัวใจขาดเลือด แต่เมื่อรักษาจริงตามเอกสารนี้มีแต่ปัญหาโรคความดัน

ข้อมูลจากรายงานนี้ มีการอ้างความเป็นห่วงของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ก็ไม่สอดคล้อง เพราะการส่งตัวจากราชทัณฑ์ ไม่ได้พบแพทย์ มีแต่พยาบาลเวร

4.ในวันที่ 15 กันยายน 2566 ได้มีการออกใบรับรองแพทย์ (ช่วงครบ 30 วันตามกฏกระทรวง) โดยพลตำรวจโทนายแพทย์ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ซึ่งเป็นแพทย์ศัลยกรรมประสาท เขียนว่า

“การรักษายังไม่สิ้นสุด เพราะต้องรักษาแผลที่ผ่าตัด ตรวจและวางแผนผ่าตัดโรคที่รายงาน จึงจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล”
จากรายงานพบว่ามีการผ่าตัดนิ้วล็อค และแพทย์ที่ผ่าตัดได้ให้ถ้อยคำกับแพทยสภาว่า “การอยู่ในโรงพยาบาลของผู้ป่วย ไม่ใช่ปัญหาของด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ” และรายงานทางเวชระเบียบของแพทย์ผู้ผ่าตัด ก็ไม่พบภาวะแทรกซ้อนใดๆ
รวมทั้งความเห็นของราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย(แพทย์กระดูกและข้อ) ว่า โดยปกติการผ่าตัดนิ้วล็อคไม่ต้องนอนโรงพยาบาล และไม่ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน

5.ส่วนกลุ่มอาการและโรคทางด้านอายุรศาสตร์ (โรคหัวใจ ความดัน ปอด) แพทย์ที่ทำการรักษาได้ให้ถ้อยคำว่า “เป็นโรคเรื้อรัง ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล” แสดงว่า โรคที่ถูกส่งตัวมา ไม่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล

ประกอบกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า ” จากข้อมูลที่ได้รับ โรค อาการ และอาการแสดงทางอายุรศาสตร์ ไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤตที่คุกคามต่อชีวิต หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤต ณขณะนั้น”

6.ปัญหาทางกระดูกสันหลัง แพทย์ที่รักษา ได้ให้ถ้อยคำว่า ปัญหาทางด้านกระดูกสันหลังมิใช่ภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นอาการทางด้านกระดูกสันหลัง จึงไม่มีเหตุที่ต้องถูกรับรักษาตัวไว้ในโรงพยาบาล

โดยสรุปแล้วการออกใบรับรองแพทย์ ในวันที่ 15 กันยายน 2566 จึงไม่มีกลุ่มอาการหรือโรคที่ต้องพักรักษาตัวต่อเนื่องในโรงพยาบาล เพราะสามารถรักษาตัวแบบผู้ป่วยนอกได้

7.ได้มีการออกใบรับรองแพทย์ (ช่วงครบ 60 วันตามกฏกระทรวง) โดยพลตำรวจโทนายแพทย์ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ ระบุ
“ต้องรับการผ่าตัดเร่งด่วน เพราะมีอาการปวดรุนแรง มือและแขนอ่อนแรง”

ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย แจงว่า ไม่มีอาการปวดไหล่ขวามาก่อน ต่อมาได้มีการวินิจฉัยว่าเป็นไหล่ขวาฉีก ทางออร์โธปิดิกส์จัดว่า หากเกิดขึ้นเฉียบพลัน ไม่ใช่ภาวะเร่งด่วน

8.โดยสรุปการออกใบรับรองแพทย์ทั้ง 2 ใบ ของนายแพทย์ท่านนี้ ซึ่งเป็นประสาทศัลแพทย์ ซึ่งไม่ใช่ผู้มีความชำนาญทางด้านกระดูกและข้อ จึงไม่ควรลงความเห็นแทนแพทย์กระดูกและข้อ ควรให้แพทย์เจ้าของไข้หรือแพทย์ผู้ผ่าตัดเป็นผู้ลงความเห็น

9.รายงานของแพทยสภา ไม่ได้พูดถึง การออกใบรับรองแพทย์ตามกฏกระทรวง ช่วง120วัน ว่าใครเป็นผู้ออก และออกด้วยเหตุผลอะไร

นี่คือบทสรุปของรายงานแพทยสภา ที่ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่นักโทษชั้น14 รายนี้ ต้องนอนต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตำรวจ อ่านจากรายงานก็พบว่า อาการทุเลาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2566 (นักโทษมาถึงรพ.ตำรวจ 23ส.ค.2566)

ดังนั้นการที่จะมีแพทย์ มาให้ปากคำต่อศาล ถ้าแพทย์ท่านใด ให้ปากคำขัดแย้งต่อรายงานแพทยสภานี้ ก็น่าจะเป็นข้อมูลที่ขัดแย้ง ท้ายที่สุดทุกอย่างจะชัดเจนเมื่อศาลท่านมีคำพิพากษา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx