ข่าว

วันเข้าพรรษา 2568 ขายเหล้าได้ไหม หลังปลดล็อก พ.ร.บ.ควบคุมสุราฯ ใหม่

เช็กด่วน วันเข้าพรรษา และ วันอาสาฬหบูชา 10-11 ก.ค. 2568 ขายเหล้าได้หรือไม่ หลังปลดล็อก พ.ร.บ.ควบคุมสุราฯ ใหม่ เปิด 5 สถานที่ยกเว้นจำหน่ายได้

ผู้ประกอบการโปรดทราบเนื่องในวันหยุดยาวช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่กำลังจะมาถึง ได้แก่ วันอาสาฬหบูชา (พฤหัสบดีที่ 10 ก.ค.) และ วันเข้าพรรษา (ศุกร์ที่ 11 ก.ค.) ขอแจ้งเตือนว่าเป็นวันที่กฎหมายกำหนดห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทั่วประเทศ ยกเว้นในสถานที่บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นเท่านั้น

อ้างอิงจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับล่าสุด) พ.ศ. 2568 ซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้มีการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาที่ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามประกาศดังกล่าวได้ระบุวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 5 วัน ที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย

1. วันมาฆบูชา

2. วันวิสาขบูชา

3. วันอาสาฬหบูชา

4. วันเข้าพรรษา

5. วันออกพรรษา

ดังนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 10 และวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม 2568 ที่จะถึงนี้ ร้านค้าทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, และร้านค้าปลีกต่าง ๆ ไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

เช็กข้อยกเว้นสถานที่แอลกอฮอล์จำหน่ายได้

ประกาศดังกล่าวยังได้กำหนดข้อยกเว้นให้สถานประกอบการบางประเภทสามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามปกติ ได้แก่

  • อาคารผู้โดยสารในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ
  • สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
  • สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว
  • โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • สถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติ หรือมีคนจํานวนมากไปทํากิจกรรมร่วมกันตามรายชื่อสถานที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นต้องมีมาตรการคัดกรองและดูแลความปลอดภัย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ราชกิจจานุเบกษาประกาศห้ามขายเหล้า วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา 2568
ภาพจาก : ratchakitcha

ตามประกาศจากราชกิจจานุเบกษา ระบุข้อความว่า “ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2568 โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2567 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567

ข้อ 3 ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายในกรณีดังต่อไปนี้

(1) การขายในอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ

(2) การขายในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

(3) การขายในสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการที่ตั้งอยู่ใน พื้นที่หรือบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

(4) การขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

(5) การขายในสถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติและมีคนจํานวนมากไปทํากิจกรรมร่วมกันตามรายชื่อสถานที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ข้อ 4 ผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามข้อ 3 ต้องจัดให้มีการคัดกรองและมาตรการที่จําเป็น เพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชน และการจํากัดการเข้าถึง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน

ประกาศ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี”

ข้อมูลจาก : ratchakitcha

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

sukanlaya s.

นักเขียนบทความ SEO ประจำเว็บไซต์ The Thaiger จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญงานเขียนประเภท ข่าวกระแสสังคม และบทความไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น รีวิวที่เที่ยว เทรนด์แฟชั่นและความงาม พร้อมแนะนำกระแสมาแรง ทันเหตุการณ์ ช่องทางติดต่อ ying@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx