ข่าว

ปภ. ยันไม่มีรอยเลื่อนในพื้นที่อ่าวไทย ที่ทำให้เกิดสึนามิได้ พร้อมรับมือ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยันไม่มีรอยเลื่อนในพื้นที่อ่าวไทย ที่ทำให้เกิดสึนามิได้ พร้อมรับมือและซักซ้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน

น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และ นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าวซักซ้อมความเข้าใจการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

ปัจจุบันมีภัยพิบัติเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วโลกเนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งจะนํามาสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือให้ดีที่สุด โดยกระทรวงมหาดไทยและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ทํางานมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีภารกิจตั้งแต่การป้องกันภัยและเมื่อเกิดเหตุไม่คาดการณ์ฝันก็จะต้องมีความพร้อมทั้งเครื่องมือ บุคลากรเพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนที่คํานึงถึงอย่างสูงสุด และในที่ประชุมวันนี้ได้สั่งการเสนอให้แต่ละท้องถิ่นมีการฝึกซักซ้อมเพื่อรับมือสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล

ในส่วนของข้อเท็จจริงเหตุแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ สาธารณรัฐอินเดียและประเทศญี่ปุ่น นายนัฐวุฒิ รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกรมอุตุฯ สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีระบบซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐานสากลสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ว่าเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบทําให้เกิดสึนามิหรือไม่ สําหรับเหตุแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์นั้นเป็นแผ่นดินไหวแนวระนาบไม่มีสึนามิเกิดขึ้น ส่วนแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ห่างจากประเทศไทยค่อนข้างไกลอย่างมากจึงไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน

ขณะที่ นายสุเมธ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในห้วงวันที่ 24 มิถุนายน ถึง 4 กรกฎาคม ขนาด 3.2 – 4.9 ริกเตอร์ เกิดขึ้นทั้งสิ้น 114 ครั้ง โดยยืนยันว่าแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ไม่ทําให้เกิดสึนามิ เนื่องจากอยู่ห่างจากภูเขาไฟใต้ทะเล ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร และไม่มีการยุบตัวของมวลนํ้ารวมถึงในพื้นที่อ่าวไทยไม่มีรอยเลื่อนที่จะมีพลังสามารถทําให้เกิดสึนามิได้แต่อย่างใด

ขณะที่ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่า ประเทศไทยมีทุ่นวัดสึนามิ 2 ตัว อยู่ที่มหาสมุทรอินเดียห่างจากเกาะภูเก็ตระยะทางประมาณ 965 กิโลเมตร หากพบคลื่นสึนามิจะมีการแจ้งเตือนกลับมาโดยใช้เวลาประมาณ 1.30 – 1.45 ชั่วโมง ส่วนทุ่นวัดสึนามิในทะเลอันดามันซึ่งห่างจากภูเก็ตประมาณ 370 กิโลเมตร หากพบคลื่นสึนามิจะมีการแจ้งเตือนกลับมาโดยใช้เวลาประมาณ 30 – 45 นาที

ทั้งนี้ น.ส.ธีรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่สามารถหยุดยั้งได้แต่สามารถป้องกันได้เพื่อให้เกิดความสูญเสียและผลกระทบให้น้อยที่สุด ซึ่งเรามีเครื่องมือที่พร้อมใช้งานแบบ 100% ไม่มีชํารุดหรือจะมาอ้างว่าไม่มีงบประมาณไม่ได้ หากเกิดเหตุขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx