งานวิจัยช็อก ฝุ่น PM2.5 ทำป่วยมะเร็งปอด ในคนไม่สูบบุหรี่ แรงกว่าควันบุหรี่มือ 2

หมอวี เผยข่าวช็อกวงการแพทย์ งานวิจัยยืนยัน ฝุ่น PM 2.5 คือตัวการก่อมะเร็งปอดในคนไม่สูบบุหรี่ กระตุ้นยีนกลายพันธุ์แรงกว่าควันบุหรี่มือสอง
หมอวี วีระพันธ์ สุวรรณนามัย ให้ความรู้ ผ่านช่องยูทูบ “Dr.V Channel” มีศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ล่าสุด รวบรวมตัวอย่างเนื้อเยื่อมะเร็งจากผู้ป่วยที่ไม่เคยสูบบุหรี่จำนวน 871 ราย จาก 28 ประเทศทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์ลายพิมพ์ทางพันธุกรรม (Genomic Signature) ค้นหาปัจจัยแวดล้อมที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด
ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มประชากรแถบเอเชีย จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระดับฝุ่น PM2.5 ในอากาศสูง มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกลายพันธุ์ของยีนที่ชื่อว่า EGFR และ TP53 ซึ่งเป็นยีนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่สูบบุหรี่ ช่วยให้อธิบายได้ว่าเหตุใดผู้คนในภูมิภาคเอเชียจึงมีอัตราการป่วยด้วยมะเร็งปอดสูงขึ้น แม้จะไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ก็ตาม
การวิจัยยังพบหลักฐานในระดับเซลล์ เซลล์มะเร็งของผู้ป่วยที่สัมผัส PM2.5 มีส่วนปลายของโครโมโซมที่เรียกว่า “เทโลเมียร์” (Telomere) สั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเซลล์เกิดการเสื่อมสภาพและแบ่งตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ ยิ่งความเข้มข้นของ PM2.5 สูงขึ้น การกลายพันธุ์ของยีนและการสั้นลงของเทโลเมียร์ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่น่าตกใจคือ เมื่อนักวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบระหว่างฝุ่น PM2.5 กับควันบุหรี่มือสอง พบว่า PM2.5 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนได้รุนแรงกว่า
งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นชิ้นแรกๆ ที่ฟันธงถึงความเชื่อมโยงโดยตรงของมลพิษทางอากาศต่อการเกิดมะเร็งปอดในคนไม่สูบบุหรี่ จึงเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ดังและชัดเจนถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบและประชาชนทุกคน ให้ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทยอย่างจริงจัง
ติดตาม The Thaiger บน Google News: