การเงินเศรษฐกิจ

กูลิโกะไทย ขายอะไรบ้าง เปิดกล่องขนม ไอศกรีม อาณาจักรของกินเล่น 55 ปี

เปิดคลังอาณาจักร บริษัท กูลิโกะ ประเทศไทย ทุนจดทะเบียน 240 ล้าน ผลิตภัณฑ์ขนม ของกินเล่น ครองใจคนไทยยาวนาน 55 ปี ป๊อกกี้ ชูโรงเด่น โบกมือลา ไอศกรีม ขยายเครื่องดื่มสุขภาพ

เมื่อ “กูลิโกะ” ประกาศเลิกขายไอศกรีมในไทยหลัง 31 ธันวาคม 2568 หลายคนตกใจ เสียดายที่จะไม่ได้กินไอติมอร่อยๆ ดับร้อนแล้ว แต่จริง ๆ แล้วอาณาจักรขนมของแบรนด์ญี่ปุ่นร้อยปี ยังอัดแน่นไปด้วยของกินเล่นทุกแนว ตั้งแต่บิสกิตจุ่มช็อกโกแลต ไปจนถึงนมอัลมอนด์สายเฮลท์ตี้ ทีมข่าวไทยเกอร์ขอพามาดูให้ครบว่าบนเชลฟ์ของ เอซากิกูลิโกะ (Glico) เมืองไทย วันนี้–นับจากปี 2569 จะเหลืออะไรบ้าง และอร่อยแบบไหนกันแน่

สำหรับหลาย ๆ คน ชื่อ “กูลิโกะ” คือภาพของกล่องป๊อกกี้สีแดงสดใส รสช็อกโกแลต หรือความสนุกในการแกะเพรทซ์รสโปรด แต่เมื่อปี 2559 ชื่อนี้ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในโลกของหวาน ด้วยการเปิดตัว “ไอศกรีมกูลิโกะ” ที่สร้างกระแสฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ

ไทยกูลิโกะ เข้ามาปักธงตั้งโรงงานครั้งแรกเมื่อปี 2513 ด้วยทุนจดทะเบียน 240 ล้านบาท เริ่มจากลูกอมคาราเมล ก่อนจะทะยานขึ้นแท่นแบรนด์ขนมขบเคี้ยวขวัญใจคนไทยด้วย Pocky และ Pretz

ปี 2559 ลุยตลาดไอศกรีมเต็มตัว สร้างกระแส “Glico Fever” ซึ่งถือเป็นตลาดต่างประเทศแห่งแรกสำหรับไอศกรีมของบริษัทเลยทีเดียว แต่แทนที่จะวางขายพร้อมกันทั่วประเทศ กูลิโกะกลับใช้กลยุทธ์จำกัดจำนวนในช่วงแรก ทำให้เกิดสภาวะของหายากที่ทุกคนต้องออก “ตามล่า” มีรายงานว่าไอศกรีมหมดจากตู้ในเวลาเพียง 10 นาที ความฟีเวอร์นี้ได้พลังของโซเชียลมีเดียและการบอกต่อ จนการได้กิน โพสต์รูปไอศกรีมกูลิโกะกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะทางสังคมไปช่วงหนึ่ง

ปัจจัยที่ทำให้ไอศกรีมกูลิโกะประสบความสำเร็จในไทย

  • พลังของแบรนด์ ชื่อ “กูลิโกะ” ที่คนไทยคุ้นเคยและเชื่อใจจากป๊อกกี้อยู่แล้ว ทำให้การเปิดตัวสินค้าใหม่ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว
  • กระแสญี่ปุ่นนิยม ความนิยมในวัฒนธรรมญี่ปุ่นทำให้คนไทยโหยหาผลิตภัณฑ์ “สไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ” ซึ่งไอศกรีมกูลิโกะตอบโจทย์นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
  • กูลิโกะไม่ได้เข้ามาแข่งด้วยรสชาติเดิม ๆ แต่สร้างความแตกต่างด้วยรูปแบบและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากตลาดญี่ปุ่น

ทำความรู้จัก ไอศกรีมกูลิโกะ ก่อนเหลือในความทรงจำ

1. พาลิตเต้ (Palitte)

ไอศกรีมโคนสไตล์ซอฟต์เสิร์ฟระดับพรีเมียม จุดเด่นคือเกลียวช็อกโกแลตกรอบที่พันรอบเนื้อไอศกรีมในโคนแบบนุ่มสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ มีรสชาติยอดฮิตอย่าง นมและดาร์กช็อกโกแลต และ บราวน์ ชูการ์ มิลค์ ที

ไอศกรีมพาลิตเต้ (Palitte)

2. ไจแอนท์ โคน (Giant Cone)

ไอศกรีมโคนขนาดใหญ่ที่เน้นความกรุบกรอบและท็อปปิ้งแน่น ๆ เอกลักษณ์คือช็อกโกแลตก้อนที่ซ่อนอยู่ตรงปลายโคน ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของวอลล์ คอร์นเนตโต ในตลาด

ไอศกรีม ไจแอนท์ โคน (Giant Cone)

3. เซเว่นทีน ไอซ์ (Seventeen Ice)

ไอศกรีมแท่งในบรรจุภัณฑ์สุดเก๋ที่ออกแบบมาให้ทานง่าย ไม่เลอะมือ สร้างความแตกต่างด้วยรสชาติอย่าง ดาร์กช็อกโกแลตและมินต์ ซึ่งหาไม่ได้จากคู่แข่งในขณะนั้น

ไอศกรีมเซเว่นทีน ไอซ์ (Seventeen Ice)

4. พาแนปป์ (Panapp)

ไอศกรีมถ้วยสไตล์พาร์เฟ่ต์ ที่มีไอศกรีมวานิลลาสลับชั้นกับซอสผลไม้และไวท์ช็อกโกแลตกรอบ ให้ความรู้สึกเหมือนทานซันเดในถ้วย

พาแนปป์ (Panapp)

5. ไอซ์โนะมิ (Ice-no-Mi)

ไอศกรีมเชอร์เบททรงกลมขนาดพอดีคำ นำเข้าจากญี่ปุ่น มีเปลือกน้ำแข็งบางกรอบด้านนอกและเนื้อเชอร์เบทฉ่ำๆ ด้านใน ถือเป็นของแรร์ ที่หลายคนตามหา

ไอซ์โนะมิ (Ice-no-Mi)

เบื้องหลังการอำลา ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่คือการปรับทัพครั้งใหญ่

แม้จะเริ่มต้นอย่างสวยงาม แต่ฟีเวอร์ในช่วงแรกนั้นไม่ยั่งยืน เมื่อสินค้าหาซื้อง่ายขึ้น มูลค่าจากความหายากก็หายไป กูลิโกะต้องลงมาแข่งขันในตลาดไอศกรีมที่ดุเดือด มียักษ์ใหญ่อยู่แล้วอย่าง ยูนิลีเวอร์ (วอลล์) และ เนสท์เล่ ครองตลาดอยู่ การแข่งขันนี้ต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรทางการตลาดมหาศาล

ในขณะเดียวกัน กูลิโกะมองเห็นโอกาสในตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด นั่นคือ “ตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ” นี่คือเหตุผลที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญ กูลิโกะเลือกที่จะถอนตัวจากสมรภูมิไอศกรีม (Red Ocean) เพื่อทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดไปบุกเบิกตลาดใหม่ (Blue Ocean) ที่มีศักยภาพสูงกว่า

อาณาจักรปัจจุบันของกูลิโกะ เมื่อไม่ได้มีแค่ขนม แต่หันมาจับสายสุขภาพ

ปัจจุบัน กลุ่มผลิตภัณฑ์ของกูลิโกะในประเทศไทยจะมุ่งเน้นไปที่ 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ ขนม ที่ยืนหยัดแถวหน้าในใจคนไทยมากว่า 50 ปี

ป๊อกกี้ (Pocky) พี่ใหญ่ของแบรนด์ บิสกิตแท่งเคลือบครีมที่เป็นเหมือนตัวแทนของกูลิโกะ มีตั้งแต่รสคลาสสิกอย่างช็อกโกแลต สตรอว์เบอร์รี ไปจนถึงรสพรีเมียมอย่าง “Crushed Nuts” ที่มีเกล็ดอัลมอนด์แท้ และรสชาติพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างรสมะม่วง

ป๊อกกี้ (Pocky)

เพรทซ์ (Pretz) บิสกิตแท่งรสเค็มที่ถูกพัฒนาให้มีรสชาติถูกปากคนไทยโดยเฉพาะ เช่น รสลาบ และ รสต้มยำกุ้ง

เพรทซ์ (Pretz)

พีจอย (Pejoy) บิสกิตแท่งสอดไส้ครีม สำหรับคนที่ชอบความเข้มข้นของไส้แบบเต็มๆ คำ

พีจอย (Pejoy)

โคลลอน (Collon) เวเฟอร์ม้วนกรอบสอดไส้ครีมเนื้อเบา

โคลลอน (Collon)

แอลฟี่ (Alfie), ทีนนี่ (Teenie), ไจแอนท์ คาปุลิโกะ: ขนมทางเลือกที่จับกลุ่มเป้าหมายหลากหลาย โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น

แอลฟี่ (Alfie

ล่าสุดเคลื่อนทัพครั้งสำคัญที่สุดของกูลิโกะในรอบหลายปี เพื่อตอบรับกระแสคนรักสุขภาพ ทิศทางใหม่แห่งอนาคต

นมอัลมอนด์ โคกะ (Almond Koka) ผลิตภัณฑ์เรือธงตัวใหม่ที่กูลิโกะทุ่มสุดตัว เป็นนมอัลมอนด์ที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น และไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ลิ้มลอง ชูจุดเด่นเรื่องวิตามินอีสูง มีใยอาหาร และไม่มีคอเลสเตอรอล มีให้เลือกทั้งสูตรดั้งเดิม, ไม่เติมน้ำตาล และรสช็อกโกแลต

นมอัลมอนด์ โคกะ (

ก่อนหน้านี้ กูลิโกะเคยส่งสัญญาณความสนใจในตลาดสุขภาพมาแล้วด้วยการเปิดตัวไอศกรีม SUNAO (ซูนาโอะ) ซึ่งเป็นสูตรไม่เติมน้ำตาลทรายและคาร์โบไฮเดรตต่ำ การตอบรับที่ดีจาก SUNAO น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กูลิโกะมั่นใจในการเปิดตัวนมอัลมอนด์ โคกะ อย่างเต็มรูปแบบ

แม้ “ไอศกรีมกูลิโกะ” จะโบกมือลา หยุดขายไปก่อน แต่เชลฟ์ขนมไทยยังแน่นเอี้ยดด้วยกองทัพ Pocky, Pretz, Pejoy, Collon และเพื่อน ๆ พร้อมสมาชิกใหม่อย่างนมอัลมอนด์ Koka ที่จะเข้ามาเติมความสนุกอิ่มอร่อยให้คนรักของว่างได้ตั้งแต่เช้ายันดึกสุขภาพดี อารมณ์ดี ไปกับรสชาติแบบกูลิโกะกันต่อไป

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx