ข่าว

ดร.ธรณ์ เตือนให้เฝ้าระวัง แผ่นดินไหวใต้น้ำถี่ เตรียมพร้อมหากเกิดสึนามิ

ดร.ธรณ์ เตือนให้เฝ้าระวัง แผ่นดินไหวใต้น้ำถี่ โดยเฉพาะจากแผ่นดินไหวเกาะนิโคบาร์ ห่างพังงา 480 เมตร เตรียมพร้อมหากเกิดสึนามิ ย้ำอย่าเชื่อข่าวลือ

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กถึงกรณีเกิดแผ่นดินไหวถี่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างจาก จ.พังงา ราวๆ 480 กิโลเมตร ว่า “แผ่นดินไหวเป็นระยะที่ภูเขาไฟใต้น้ำในทะเลอันดามัน จึงอยากมาอธิบายให้เพื่อนธรณ์ทราบแบบสรุปครับ

สึนามิเกิดจากแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดในทะเล (อาจเกิดจากภูเขาถล่มในฟยอร์ด แต่ไม่มีในบ้านเรา)
แผ่นดินไหวในเมียนมาร์เกิดบนแผ่นดินไกลทะเล ไม่เกี่ยวกับสึนามิ (แต่เราอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวโดยตรง)
สีนามิในอ่าวไทยเกิดยาก ถ้าเกิดจะมีขนาดเล็กมาก รู้ล่วงหน้านาน เพราะอยู่ห่างจุดเกิดแผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด (อินโด/ฟิลิปปินส์)

เมื่อพูดถึงสึนามิ ที่ต้องระวังคือฝั่งทะเลอันดามัน จุดเกิดมี 2 แห่ง ในอินโด (จุดเดิมที่เคยเกิด) และแนวเกาะอันดามัน/นิโคบาร์ (แผ่นดินไหว ภูเขาไฟใต้น้ำ) ประเทศอินเดีย เกาะภูเขาไฟแห่งเดียวในแถวนี้คือเกาะ Barren แต่แผ่นดินไหวถี่ๆ ในช่วงนี้ไม่ใช่ที่เกาะนั้น แต่อยู่ใต้ลงมา เป็นแนวภูเขาไฟเดียวกัน แต่จมอยู่ใต้น้ำ

ทะเลแถวนี้ลึก 2,000+ เมตร มีภูเขาไฟระเบิดจนโผล่เหนือน้ำแห่งเดียวคือเกาะ barren ที่ยัง active อยู่ มีการระเบิดเป็นระยะ ล่าสุดคือปี 2022 จึงมีความเป็นไปได้ที่ภูเขาไฟใต้น้ำในแนวเดียวกันจะระเบิด แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไหร่

เมื่อมีแผ่นดินไหวถี่ๆ ในบริเวณนั้น (แรงเกิน 4 ขึ้นไป) อาจเกิดการเคลื่อนของแมกมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะระเบิดแน่ ต้องตามดูต่อไป สึนามิเกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดมีหลายครั้ง หนล่าสุดคือที่ tonga Hunga Tonga–Hunga Haʻapai eruption เกิดในปี 2022 กลางมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นสึนามิใหญ่มาก สูง 20 เมตร (บางจุดรายงานว่ามากกว่านั้น) แต่เคราะห์ดีที่เกิดห่างไกลในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มาก

ภูเขาไฟใต้น้ำในอันดามัน จุดที่เกิดการไหวถี่ๆ ห่างจากพังงา 470-480 กม. (กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว) หากเกิดการระเบิดที่จุดนั้น อาจเกิดสึนามิระดับน่าห่วงได้ เพราะน้ำค่อนข้างลึก หากระเบิดแรงจะมีมวลน้ำจำนวนมากถูกผลักออกมาให้กลายเป็นคลื่น
เนื่องจากอยู่ใกล้ไทยมากกว่าจุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 46 คลื่นจึงอาจเข้าถึงฝั่งเร็วกว่าหนนั้น (คราวก่อนประมาณ 2 ชม.)

จุดเกิดต่างกัน การเกิดต่างกัน (แผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด) แนวคลื่นอาจต่างกัน จุดที่ไม่เคยโดนหรือโดนน้อย ก็ต้องระวังไว้
มีการซ้อมเตือนภัย/ซ้อมอพยพ เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ต้องตกใจว่าจะเกิดแน่ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดหรือไม่ ญี่ปุ่นมีข่าวว่าจะเกิดๆ มาหลายเดือนแล้วก็ยังไม่เกิดแบบภัยพิบัติ

เพื่อนธรณ์จึงไม่ต้องตระหนก แต่ถ้ายังมีการไหวถี่ๆ แบบนี้ก็คงต้องเฝ้าระวังไว้บ้าง พูดคุยซักซ้อมกับคนในครอบครัวว่าหากฉุกเฉินทำไง ดูเส้นทางหนีภัยใกล้ตัว ฯลฯ

คราวก่อนตึก 3 ชั้นอาจไม่พ้น เทียบกับทองก้าแล้ว แนะนำตึก 7-8 ชั้นขึ้นไป (ถ้าหาไม่ได้ก็ไปตามเส้นทางอพยพ)

ลูกหลานที่อยู่โรงเรียน ต้องพูดคุยกับคุณครูให้ชัดเจน โรงเรียนควรมีแนวทางฉุกเฉินบอกผู้ปกครอง ไม่ใช่ขับรถไปติดกองกันหน้าโรงเรียน

สุดท้าย อย่าเชื่อข่าวลือใดๆ ให้ตกใจสั่นประสาท ติดตามข้อมูลจากหน่วยงาน/นักวิชาการที่เชื่อถือได้ มีแบคกราวด์ทำงานด้านนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ไม่รู้ จู่ๆ ก็เก่งทันที

ถ้าคนเราเก่งได้เร็วขนาดนั้น ผมกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ คงไม่ต้องทั้งเรียนทั้งวิจัยกันให้เหนื่อยมาหลายสิบปี นอนกลิ้งอยู่บ้านรอเวลาฟ้าประทานความเก่งมาให้กลายเป็นเวล 999 ดีกว่าฮะ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Nateetorn S.

ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx