ข่าว

พิธา เปิดตัวหนังสือ ‘The Almost Prime Minister’ เบื้องหลัง ชนะเลือกตั้ง แต่ชวดตำแหน่งนายก

“พิธา” เตรียมเปิดตัวหนังสือ “The Almost Prime Minister” เล่าเบื้องหลังพลาดเก้าอี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมคือคนที่ประชาชนเลือก แต่ยังไปไม่ถึงเบอร์ 30

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โพสต์เล่าผ่านเฟซบุ๊ก เปิดตัวหนังสือ “The Almost Prime Minister” หนังสือเล่มนี้…ไม่มีชื่อภาษาไทยครับ มันเป็น political memoir — บันทึกการเมืองของผมที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อนเรื่องเล่าของชัยชนะที่ถูกขวาง การเดินทางที่ไม่ถอย และเรื่องราวของประเทศหนึ่ง ที่ประชาชนกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเอง

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ขณะเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะที่ฮาร์วาร์ด ยุโรป หรือเวทีโลกต่าง ๆ ผมมักถูกถามด้วยความงุนงงว่า “เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยกันแน่?”, “คุณชนะเลือกตั้ง แล้วทำไมถึงมาอยู่ที่บอสตัน?” และเมื่อผมเล่าเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อนต่างชาติและนักศึกษาหลายคนจึงตั้งชื่อเล่นให้ผมว่า “The Almost Prime Minister” หรือบางคนเรียกผมว่า “29.5”

เพราะผมคือคนที่ประชาชนเลือก แต่ยังไปไม่ถึงเบอร์ 30 ติดอยู่กลางทาง — ระหว่างความหวังของประชาชน กับกำแพงของรัฐพันลึก ที่ยังบล็อกฉันทามติของผู้คนไว้อย่างแน่นหนา

หน้าปกหนังสือ 'The Almost Prime Minister' เบื้องหลัง ชนะเลือกตั้ง แต่ชวดตำแหน่งนายก

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวจาก “ยุบสภา ถึง ยุบพรรค” วันที่ประชาชนตัดสินใจเปิดทางให้ความเปลี่ยนแปลง ต่อเนื่องถึงชัยชนะในการเลือกตั้ง และการเผชิญหน้ากับ “นิติสงคราม” และ “กลไกต่อต้านเสียงข้างมาก” ต่าง ๆ นานา สกัดกั้นเจตจำนงของผู้คน ก่อนจะนำไปสู่จุดจบของพรรคที่ประชาชนไว้วางใจ

นี่คือเส้นทางที่เต็มไปด้วยบททดสอบของศรัทธา บทพิสูจน์ของการยึดมั่นในหลักการ และบทเรียนสำคัญของประชาธิปไตยไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน แม้หนังสือเล่มนี้จะเล่าผ่านมุมมองส่วนตัว แต่ผมขอยืนยันว่า มันห่างไกลจากการเป็นเรื่องของผมคนเดียว เพราะนี่คือเรื่องราวของ “พวกเรา” ทุกคน ของประชาชนกว่า 14 ล้านเสียงที่ร่วมกันจุดประกายความหวังครั้งประวัติศาสตร์

หวังที่จะเห็นประเทศไทยเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีกว่า เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เป็นประเทศที่ทุกคนมีอนาคต มีศักดิ์ศรี และมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ผมเข้าใจดีว่า การเดินทางครั้งนี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกเหนื่อยล้า ผิดหวัง และเต็มไปด้วยคำถาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่เคยสูญเสียไปเลย คือคำว่า “ความหวัง”

แม้การเมืองไทยจะยังซับซ้อน และหลายครั้งดูเหมือนไม่มีทางออก แต่ทุกรอยยิ้ม ทุกกำลังใจ และทุกความเชื่อมั่นที่ประชาชนมอบให้ คือเชื้อเพลิงที่ทำให้ผม — และพวกเราทุกคน — ยังคง “ก้าวต่อไป” อย่างไม่ย่อท้อ

หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่แค่บันทึกความทรงจำทางการเมืองแต่มันคือหลักฐานของความพยายามที่เราร่วมกันสร้าง คือภาพจำของช่วงเวลาที่ประวัติศาสตร์เกือบเปลี่ยนทิศ และคือเครื่องเตือนใจว่า — ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ถ้าเรายังร่วมมือกัน คำว่า “Almost” จะถูกขีดฆ่าทิ้งไป และเราจะไปถึงเส้นชัย…ไปเปลี่ยนประเทศนี้ด้วยกัน พบกัน 29.5 นี้ครับ

ฉายาสภา 66 'พิธา' ได้ดาวดับ ไร้คนดีศรีสภา ยกเลือกนายกเป็นเหตุการณ์แห่งปี

ทั้งนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 14 ล้านเสียง ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สาเหตุหลักมาจากกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน รวมเป็น 750 คน ดังนั้น ผู้ที่จะได้รับเลือกต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง

เมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในการลงมติครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

ปรากฎว่า นายพิธาได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ส่วนใหญ่ แต่ไม่เพียงพอที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. มีจำนวนน้อยมาก ผลการลงมติคือ เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง ทำให้นายพิธาได้เสียงสนับสนุนไม่ถึง 376 เสียง

ก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง นายพิธาเผชิญกับประเด็นการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นกิจการสื่อสารมวลชน อันอาจขัดต่อคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยในคดีการถือครองหุ้น ITV แม้คำสั่งนี้จะไม่กระทบต่อการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่ก็ส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองและความเชื่อมั่น

มีความพยายามที่จะเสนอชื่อนายพิธาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สองในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 แต่ที่ประชุมรัฐสภามีมติว่าการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำเป็นการเสนอญัตติซ้ำซึ่งขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ทำให้ไม่สามารถลงมติเลือกนายพิธาได้อีก

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนให้นายพิธาได้สำเร็จ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในตอนแรก ได้แยกตัวออกไปเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่กับพรรคการเมืองอื่น ๆ

ในที่สุด พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ได้รับการโหวตเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx