กฎหมายหมิ่นประมาทไทย ยิ่งพูดเรื่องจริง ยิ่งผิด? เอ้า ทำไมเป็นแบบนั้น

สาเหตุความเชื่อ หมิ่นประมาท ยิ่งจริงยิ่งผิด? เปิดข้อกฎหมาย วิเคราะห์ตัวบท กล่าวหาแบบไหนไม่ผิด ข้อยกเว้นให้พูดได้
จากกรณีดราม่า พลอย เฌอมาลย์ ด่า โต้ง ทูพี อดีตคนรัก ด้วยคำแรงจัดเต็ม แฟนคลับหน้าหงายกันทั้งประเทศ จนนักกฎหมายทั่วฟ้าเมืองไทย ออกมาเตือน ให้ความรู้ว่า การใช้ข้อความด่าแบบนั้น อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายหมิ่นประมาทได้
กฎหมายหมิ่นประมาทในประเทศไทย บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ถึง มาตรา 333 มีหัวใจสำคัญคือการคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล ไม่ให้ใครมาใส่ความ หรือกล่าวหาเรื่องราวที่อาจทำให้บุคคลนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
การกระทำที่จะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลักๆ คือ การใส่ความผู้อื่น คือ การยืนยันข้อเท็จจริงบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จก็ตาม ต่อบุคคลที่สาม ต้องมีการบอกเล่า หรือเผยแพร่ข้อความนั้นไปยังบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่ถูกกล่าวถึง ประการที่น่าจะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หมายความว่า ข้อความนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้คนทั่วไปมองผู้ถูกกล่าวถึงในแง่ลบ
การหมิ่นประมาทสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน การโฆษณาด้วยภาพหรือตัวอักษร หรือแม้แต่การแสดงกิริยาท่าทางที่สื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้
“ยิ่งเรื่องจริง ยิ่งผิด” จริงหรือ?
คำตอบคือ มีโอกาสผิดได้
หลายคนอาจจะแปลกใจ ยิ่งเป็นความจริงยิ่งต้องพูดได้สิ อาจขัดกับสามัญสำนึกเรื่องเสรีภาพในการพูด แต่กฎหมายไทยมีหลักการที่ซับซ้อนกว่านั้น
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว การพิสูจน์ว่าเรื่องที่กล่าวหานั้นเป็นความจริง จะเป็นข้อต่อสู้ที่สำคัญของผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท (ตามมาตรา 330) ถ้าเรื่องเป็นความจริงไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามพิสูจน์เรื่องส่วนตัว ที่ไม่เป็นเรื่องประโยชน์ต่อประชาชน นั่นเท่ากับว่า ต่อให้จริงแต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็อาจถูกศาลตัดสินว่าผิดได้

อย่างไรก็ดี มาตรา 329 เปิดช่องให้ผู้กล่าวหาไม่ต้องรับผิด หากการกล่าวหานั้นเป็นไปโดยสุจริต และมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อป้องกันตนเองหรือส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม, ในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่, ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ, แจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
นี่คือที่มาของแนวคิดที่ว่า พูดเรื่องจริงก็อาจผิดได้
กฎหมายหมิ่นประมาทของไทยพยายามสร้างสมดุลระหว่าง “สิทธิในชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัว” กับ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ลองคิดว่า หากมีคนนำเรื่องส่วนตัวของเราที่แม้เป็นเรื่องจริง แต่เป็นเรื่องน่าอับอาย หรือเป็นเรื่องที่เราไม่ต้องการให้ใครรู้ ไปเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อสังคมโดยรวมเลย มีแต่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวถึงเสียหาย อับอาย กฎหมายก็มองว่าการกระทำเช่นนั้นไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง เพราะเป็นการมุ่งทำลายชื่อเสียงโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
โพสด่า ไม่เอ่ยชื่อ ผิดกฎหมายไหม
บางคนพอรู้กฎหมายบ้าง ใช้วิธีเลี่ยงบางลี ด่ากล่าวหาอีกฝ่ายแบบลอยๆ ด่าแบบใครร้อนตัวก็รับไป ฉันไม่ได้เอ่ยชื่อ ไม่ได้บอกตรงๆ
ต้องระวังไว้ว่า ถ้าโพสต์นั้นอ่านแล้วคนทั่วไปไม่สามารถรู้ได้ว่าหมายถึงใคร หรือสิบคนอ่าน ก็นึกไปได้สิบชื่อคน ก็ไม่เข้าข่ายผิดหมิ่นประมาท แต่ถ้าอ่านแล้ว ไม่บอกชื่อ ไม่บอกรายละเอียด แต่สิบคนเข้าใจพร้อมกันทันทีว่าหมายถึง นางสาวเอ หรือนายบี ศาลก็อาจตัดสินให้ผิดได้ เคยมีคดีแบบนี้มาแล้ว
เช่น นายไก่ โพสต์ด่าลอยๆ ไม่บอกชื่อ แต่คนอื่นอ่านแล้วรู้ว่าหมายถึง นางไข่ แล้วคนจำนวนมากแคปโพสต์นั้นไปบอกว่านางไข่ว่านายไก่ด่า นางไข่ใช้หลักฐานนี้ไปแจ้งความ ก็มีโอกาสชนะได้
ดูหมิ่น VS หมิ่นประมาท ต่างกันยังไง
สองคำนี้อาจดูใกล้เคียงกัน แต่ตามหลักกฎหมาย ฟ้องคนละมาตรา ดูหมิ่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
หัวใจสำคัญ คือการดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า หรือด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นหรือไม่วัดกันที่กิริยาวาจาที่ไม่สุภาพ ดูถูกเหยียดหยาม ต่อผู้ถูกดูหมิ่นโดยตรง แม้จะไม่มีบุคคลที่สามอยู่ด้วยในขณะนั้นก็ตาม
ส่วนด้วยการโฆษณา คือการทำให้ปรากฏต่อสาธารณะด้วยวิธีการใดๆ เช่น การตะโกนด่าในที่สาธารณะ การเขียนป้ายประจาน หรือการโพสต์ข้อความด่าทอในโซเชียลมีเดียให้คนทั่วไปเห็น
คำดูหมิ่นต้องหวังลดทอนคุณค่า ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้ถูกดูหมิ่นรู้สึกอับอาย เจ็บใจ เสียความรู้สึกโดยตรง ไม่ได้เน้นที่ความเสียหายต่อชื่อเสียงในสายตาคนอื่นเป็นหลักเท่าหมิ่นประมาท
ดังนั้น คำที่เข้าข่ายดูหมิ่น เช่น คำหยาบคาย ด่าทอ สบประมาท หรือแสดงกิริยาดูถูกเหยียดหยาม ไม่จำเป็นต้องเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเสมอไป เช่น การชูนิ้วกลางให้ การด่าด้วยคำว่า “ไอ้โง่” “อีหน้าด้าน” ต่อหน้า
ที่สำคัญ ความจริงของคำด่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการต่อสู้คดี เพราะกฎหมายมุ่งคุ้มครองความรู้สึกและศักดิ์ศรีของบุคคลจากการถูกแสดงอาการดูถูกเหยียดหยามโดยตรง
เช่น นายสวย ด่านางอ้วนว่า อีอ้วนช้างน้ำต่อหน้า ไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่ผิดดูหมิ่น บทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นลหุโทษ ขณะที่หมิ่นประมาททั่วไปจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
แล้วกฎหมายหมิ่นประมาทต่างประเทศล่ะ
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แนวทางก็จะมีความแตกต่างกันไปครับ กฎหมายหมิ่นประมาทสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) ตามรัฐธรรมนูญอย่างมาก ทั่วไปแล้ว “ความจริง” ถือเป็นข้อต่อสู้ที่สมบูรณ์ในคดีหมิ่นประมาท ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับบุคคลสาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้กล่าวหาพูดเท็จ และพูดไปด้วย “เจตนาร้าย” คือรู้ว่าเท็จแต่ก็ยังพูด หรือไม่ใส่ใจเลยว่าจริงหรือเท็จ ฉะนั้นยิ่งพูดเรื่องจริงยิ่งมีโอกาสชนะสูง
กฎหมายหมิ่นประมาทอังกฤษ ให้การพิสูจน์ความจริงของสิ่งที่พูด เป็นข้อต่อสู้ที่สำคัญเช่นกัน รวมถึงยังมีข้อต่อสู้เรื่อง การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือ การเผยแพร่ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งกฎหมาย Defamation Act 2013 ได้เพิ่มเกณฑ์ว่าข้อความนั้นต้องก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชื่อเสียงด้วย
กฎหมายหมิ่นประมาทเยอรมนี คุ้มครอง “เกียรติยศส่วนบุคคล”ค่อนข้างมาก มีการแยกแยะระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ การแสดงความคิดเห็นเชิงคุณค่า การกล่าวข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงโดยทั่วไปไม่เป็นความผิด เว้นแต่จะเป็นการจงใจดูหมิ่นอย่างชัดเจน หรือละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างสูง กฎหมายเยอรมันจะให้น้ำหนักกับการชั่งผลประโยชน์ระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกกับสิทธิส่วนบุคคล
ดังนั้น ก่อนจะพูดหรือเผยแพร่เรื่องราวใดๆ เกี่ยวกับผู้อื่น ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตระหนักว่าแม้เป็นเรื่องจริง ก็อาจไม่ได้รับการคุ้มครองเสมอไป หากเป็นการก้าวล่วงสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นโดยไม่จำเป็นครับ
อ้างอิง : jla.coj.go.th
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ฟังความเห็น ทนายนิด้า-ทนายเจมส์ ด่าผู้ชาย ‘กะxรี่’ ผิดไหม? เสี่ยงหมิ่นประมาท
- “ไชยันต์ ไชยพร” ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท เฟซ “สมเจียมฯ” กล่าวหาเป็น IO
- รักชนก รับทราบข้อหา หมิ่นประมาทฯ รองโฆษกเพื่อไทย เลียรองเท้าเจ้านาย
ติดตาม The Thaiger บน Google News: