ออกหมายจับ 17 ราย เปรมชัย กรรณสูต โดนพร้อม วิศวกร-ผู้คุมงาน พิษคดี ตึกสตง.ถล่ม

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา สะเทือนมาถึงประเทศไทย จนอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ สูง 30 ชั้น ตั้งอยู่ริมถนนกำแพงเพชร 2 ย่านจตุจักร กรุงเทพมหานคร ทรุดตัวพังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต 89 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย บาดเจ็บทั่วไป 8 ราย และยังมีผู้สูญหายอีก 11 ราย จนต้องสืบสวนสอบสวนอย่างละเอียดเพื่อค้นหาสาเหตุและผู้รับผิดชอบ
พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อคลี่คลายคดีนี้ โดยมอบหมายให้ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมี พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ เป็นรองหัวหน้าคณะฯ
จากการรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งในส่วนของเอกสารที่เกี่ยวข้องและคำให้การของพยานบุคคล คณะทำงานสอบสวนได้ค้นพบข้อบกพร่องสำคัญหลายประการ ได้แก่
การออกแบบที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน แบบแปลนการก่อสร้างอาคารไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในกฎกระทรวงและมาตรฐานทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง
ตำแหน่งปล่องลิฟต์เสี่ยงอันตราย โครงสร้างกำแพงปล่องลิฟต์ของอาคารไม่ได้ถูกออกแบบให้อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของตัวอาคาร แต่กลับถูกจัดวางให้อยู่ชิดกับขอบอาคารด้านหลัง การออกแบบลักษณะนี้ส่งผลให้จุดศูนย์กลางการรับแรงบิดของอาคาร ไม่ได้อยู่ที่เดียวกับจุดศูนย์กลางทางเรขาคณิตของอาคาร (Geometric Center)
เมื่อเกิดการสั่นไหวจากแผ่นดินไหว อาคารจึงเกิดการแกว่งตัวในลักษณะที่ผิดปกติ ทำให้กำแพงปล่องลิฟต์และเสาค้ำยันที่ฐานของอาคารพังทลายลงเกือบจะในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้อาคารทั้งหลังยุบตัวลงมาในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว
วัสดุก่อสร้างต่ำกว่ามาตรฐาน
ปูนซีเมนต์ ผลการตรวจสอบคุณภาพปูนซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้าง พบว่าค่าความแข็งแรงของคอนกรีต (KSC) ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
เหล็กเส้น การตรวจสอบเหล็กเส้นที่เก็บรวบรวมได้จากซากอาคาร พบว่ามีบางส่วนไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในแบบแปลนการก่อสร้าง
การปลอมแปลงลายมือชื่อ ผลการตรวจสอบลายมือชื่อของนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ซึ่งเป็นผู้เสียหายและมีชื่อปรากฏในฐานะวุฒิวิศวกรในเอกสารที่เกี่ยวข้อง จากกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่า ลายมือชื่อดังกล่าวมีลักษณะการเขียนและรูปแบบที่แตกต่างจากลายมือชื่อจริงของนายสมเกียรติ จึงสรุปได้ว่าเป็นการปลอมแปลงลายมือชื่อ
จากพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้จำแนกกลุ่มผู้ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดออกเป็น 3 กลุ่มหลัก เป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านการออกแบบ ควบคุมงาน หรือดำเนินการก่อสร้าง ซ่อมแซม หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันควรปฏิบัติ จนอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น โดยมีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
กลุ่มที่ 1บริษัทผู้ออกแบบ (รวม 6 ราย)
บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด
บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคล 1 ราย
กลุ่มวิศวกรโครงสร้างผู้ลงนามในแบบแปลน 5 ราย
กลุ่มที่ 2 บริษัทผู้รับจ้างควบคุมการก่อสร้าง (รวม 5 ราย)
กิจการร่วมการค้า PKW (ผู้แทนลงนามในสัญญา 1 ราย) ซึ่งประกอบด้วย
บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด
บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด
บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด (ทั้ง 3 บริษัทตกลงร่วมรับผิดต่อผู้ว่าจ้างในทุกกรณี)
กลุ่มที่ 3 บริษัทผู้รับจ้างก่อสร้าง (รวม 6 ราย)
บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้มีอำนาจกระทำการแทนกิจการร่วมค้า ITD-CREC
ในข้อหา “เป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุม หรือทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้น ๆ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 และ 238
มีรายงานเพิ่มเติมว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 17 รายนี้ มีชื่อของ นายเปรมชัย กรรณสูต ด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักตกปลาชื่อดัง โต้เดือดคนเทียบ เสือดำเปรมชัย ชี้คนละกรณี วอนหยุดอคติ
- หาใคร? ‘เปรมชัย’ โผล่ทำเนียบ หอบเอกสารขึ้นตึก ใช้เวลา 5 นาทีก่อนนั่งรถกลับ
- ปิดภารกิจ สตง.ถล่ม 48 วัน สังเวย 89 ชีวิต สูญหาย 7 ชัชชาติ ลั่นลุยสอบสวนต่อ
ติดตาม The Thaiger บน Google News: