ข่าว

รู้จัก อรินทราช 26 หน่วยตำรวจ สุดยอดด้านการใช้อาวุธ ยุทธวิธีพิเศษ

รู้จัก อรินทราช 26 (S.W.A.T.) ตำรวจพิเศษ สุดยอดด้านการใช้อาวุธ ยุทธวิธีพิเศษ ใครสมัครได้บ้าง เงินเดือน ภารกิจสำคัญที่เคยพิชิต

ในยามที่บ้านเมืองเกิดเหตุการณ์คับขัน วิกฤตการณ์ร้ายแรง  อย่างล่าสุด เกิดเหตุชายใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 6 นัด ซอยวัดละครทำ (ซอยข้าง รพ.ธนบุรี) ถ.พรานนก เขตบางกอกน้อย กทม. ตำรวจต้องใช้ หน่วยอรินทราช เหล่าฮีโร่ปิดทองหลังพระที่เข้ามาระงับเหตุ

รายงานพิเศษไทยเกอร์ ขอพามารู้จัก “อรินทราช 26” หน่วยปฏิบัติการพิเศษในสังกัด กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และขึ้นตรงกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เปรียบเสมือนคมเขี้ยว ในการจัดการคนร้ายที่เกินกำลังของตำรวจทั่วไป

อรินทราช 26 หรือชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า S.W.A.T. ชื่อไทยมีความหมายลึกซึ้ง อริ = ข้าศึก, ศัตรู อินท = จอม, ผู้เป็นใหญ่ ราช = พระเจ้าแผ่นดิน ในความหมายกว้างคือ ผู้พิทักษ์ความสงบสุขของประชาชนและประเทศชาติ ส่วนเลข “26” นั้นมาจากปี พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งหน่วยอย่างเป็นทางการ

กว่าจะมาเป็นหน่วยอรินทราช

ในช่วงปี พ.ศ. 2520 ประเทศไทยเเจอภัยคุกคามจากอาชญากรรมร้ายแรง การก่อการร้ายสากลที่มีรูปแบบซับซ้อนขึ้น พันตำรวจเอก ชุมพล อัตถศาสตร์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ กองกำกับการป้องกันและปราบปรามจราจล จึงได้ริเริ่มจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษภายใต้ชื่อ “Anti-Hijacker” ขึ้น

เริ่มแรกได้คัดเลือกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามเกณฑ์กำหนด เพื่อเข้าฝึกฝนสำหรับภารกิจที่ต้องใช้มาตรฐานสากล แต่การดำเนินงานในระยะแรกประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณสนับสนุน เมื่อพันตำรวจเอก ชุมพล ได้ย้ายไปรับตำแหน่งอื่น หน่วยนี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงและขาดความต่อเนื่อง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 เมื่อสถานการณ์การก่อการร้ายสากลและความไม่สงบภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง พลตำรวจตรี ทิพย์ อัศวรักษ์ ผู้บังคับการกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษในขณะนั้น จึงได้เล็งเห็นความจำเป็น จึงรื้อฟื้นหน่วยปฏิบัติการพิเศษนี้ขึ้นมาใหม่ ได้รับการอนุมัติแผนการฝึกอบรมตามมาตรฐานสากล เพื่อให้หน่วยมีความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในปี พ.ศ. 2527 กรมตำรวจได้มีคำสั่งจัดตั้งหน่วยนี้ขึ้น ในสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในนามว่าอรินทราช 26

ภารกิจสุดท้าทาย เสี่ยงตายเพื่อส่วนรวม

หน้าที่หลักของหน่วยอรินทราช 26 ไม่ใช่การเดินตรวจตราทั่วไป ฝึกอาวุธและยุทธวิธีจนเชี่ยวชาญกว่าตำรวจทั่วไป พร้อมรับมือกับงานช้างที่ต้องใช้ทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความกล้าหาญเป็นพิเศษ เช่น จับตัวประกันในอาคาร หรือยานพาหนะ อรินทราช 26 คือหน่วยแรกๆ ที่จะถูกเรียกใช้ พวกเขาต้องวางแผนอย่างรัดกุม ปฏิบัติการอย่างเฉียบขาด เพื่อช่วยเหลือชีวิตตัวประกันให้ปลอดภัยที่สุด

ภารกิจอื่นๆ ได้แก่ ควบคุมสถานการณ์การก่อความไม่สงบ กรณีกลุ่มคนพยายามก่อความวุ่นวาย หรือมีแนวโน้มจะบานปลายจนควบคุมไม่อยู่ อรินทราช 26 จะเข้ามาเสริมกำลังเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ หรือเมื่อคนร้ายมีอาวุธสงคราม พฤติกรรมเป็นอันตรายต่อประชาชน การเข้าจับกุมจำเป็นต้องใช้หน่วยที่มีความพร้อมทั้งยุทธวิธีและอาวุธ

การต่อต้านการก่อการร้าย พวกเขาต้องฝึกฝนให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามจากการก่อการร้ายทุกรูปแบบ ทั้งการป้องกันและการตอบโต้ ในบางสถานการณ์ อรินทราช 26 อาจได้รับมอบหมายให้อารักขาบุคคลสำคัญระดับประเทศหรือแขกบ้านแขกเมือง

อยากเป็นอรินทราช 26 ต้องทำอย่างไร เส้นทางสู่สุดยอดนักรบ

อันดับแรกสุด คุณต้องเป็นตำรวจอยู่แล้ว ในสายปราบปรามสังกัดนครบาล เฝ้าฝึก 1 ปี เมื่อทางหน่วยเปิดรับสมัครก็ไปสมัคร ล่าสุด เพิ่งประกาศรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย (อรินทราช 26) รุ่นที่ 10 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568

แต่การจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยไม่ใช่เรื่องง่าย ด่านการฝึกการคัดโหดหินสุดๆ เพราะพวกเขาต้องเก่ง ต้องแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ

คุณสมบัติเบื้องต้น

  • สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการฝึกและการปฏิบัติงานหนัก
  • มีความมั่นคงทางอารมณ์ สามารถควบคุมสติได้ดีในสถานการณ์กดดัน มีความกล้าหาญ เสียสละ และมีไหวพริบปฏิภาณเป็นเลิศ
  • มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง มีระเบียบวินัย และพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
  • สำคัญที่สุดคือ “ใจ” ที่อยากจะเป็นจริงๆ เพราะการฝึกนั้นหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ใครหลายคนจะจินตนาการได้

การทดสอบสุดโหด

  • ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย วิ่ง ว่ายน้ำ ดันพื้น ซิทอัพ โหนบาร์ ปีนป่าย และอีกสารพัดบททดสอบความแข็งแกร่งและความอดทนของร่างกายที่เข้มข้นกว่าตำรวจทั่วไปหลายเท่าตัว
  • ทดสอบยุทธวิธีตำรวจ การใช้อาวุธปืน การต่อสู้ป้องกันตัว การเคลื่อนที่ในอาคาร การจู่โจม และยุทธวิธีต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติการพิเศษ
  • ทดสอบสภาพจิตใจ จำลองสถานการณ์กดดันต่างๆ เพื่อดูการตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ และความสามารถในการทำงานเป็นทีมภายใต้ความเครียด
  • การฝึกหลักสูตรพิเศษ หากผ่านการทดสอบเบื้องต้น จะต้องเข้ารับการฝึกหลักสูตรต่อต้านการก่อการร้ายและหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกินระยะเวลานานหลายเดือน และขึ้นชื่อเรื่องความโหดหิน ผู้ที่ผ่านการฝึกนี้ได้สำเร็จจึงจะได้รับการประดับเครื่องหมายอรินทราช 26 อันทรงเกียรติ

มีการเปรียบเปรยกันว่า การฝึกของอรินทราช 26 นั้น “ถ้าไม่รักจริง อยู่ไม่ได้” เพราะต้องทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ สติปัญญาอย่างถึงที่สุด

ภาพจาก: อรินทราช 26 – Arintaraj 26

หลักสูตรการฝึก 

ในช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้งหน่วย  การฝึกอบรมยังไม่มีแบบแผนที่ตายตัว อาศัยการสนับสนุนครูฝึกจากหน่วยงานตำรวจเป็นหลัก ประยุกต์ใช้รูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีมขนาดเล็ก 5 นาย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศเยอรมนี

เนื้อหาการฝึกในยุคบุกเบิกครอบคลุมทักษะสำคัญ เช่น การยิงปืนทางยุทธวิธี, การฝึกพลแม่นปืน, การปฏิบัติการทางน้ำ, ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และการขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่างๆ ผู้ที่สำเร็จการฝึกในรุ่นแรกๆ จะทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับกำลังพลรุ่นต่อๆ ไปที่เข้ามาประจำการในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษ

ภาพจาก: อรินทราช 26 – Arintaraj 26

ต่อมา หน่วยได้มีการพัฒนาระบบการฝึกอย่างต่อเนื่อง ส่งกำลังพลไปเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเฉพาะทางต่างๆ จากต่างประเทศ แล้วนำความรู้ที่ได้กลับมาปรับใช้และถ่ายทอดภายในหน่วย ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง จนกระทั่งได้มีการจัดระบบหลักสูตรการฝึกที่เป็นมาตรฐานออกเป็น 5 หมวดหลัก ได้แก่

1. หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (24 สัปดาห์) สำหรับกำลังพลที่เพิ่งเข้ารับการบรรจุใหม่ในหน่วย

2. หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล (6 สัปดาห์): สำหรับกำลังพลที่ปฏิบัติงานประจำในหน่วยอยู่แล้ว และมีการฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายเพิ่มเติมอีก 1 สัปดาห์

3. หลักสูตรการทำลายวัตถุระเบิด (12 สัปดาห์) สำหรับกำลังพลที่ได้รับการบรรจุในตำแหน่ง “พลเก็บกู้ทำลายระเบิด”

4. หลักสูตรพลแม่นปืน (4 สัปดาห์) สำหรับกำลังพลที่ได้รับการบรรจุในตำแหน่ง “พลซุ่มยิง”

5. หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิกส์ (12 สัปดาห์) สำหรับกำลังพลที่ได้รับการบรรจุในตำแหน่ง “ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิกส์”\

นอกเหนือจากหลักสูตรหลักเหล่านี้ หน่วยอรินทราช 26 ยังคงมีการฝึกซ้อมในรูปแบบอื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น การฝึกภายใต้รหัส “แผนกรกฎ 48” ซึ่งเป็นการฝึกจำลองสถานการณ์เสมือนจริง รวมถึงการฝึกร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างความชำนาญและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ

เครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่

ขณะปฏิบัติหน้าที่ จะแต่งกายแบบปิดคลุมใบหน้า ไหล่ซ้าย มีอาร์มสีบานเย็น รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ตรงกลางมีรูปอักขระยันต์ มีตัวหนังสือบอกหน่วยสังกัดว่า “ตำรวจนครบาล ปฏิบัติการพิเศษ” นั่นคือ “ตำรวจ 191” เนื้ออาร์มมีคำว่า “อรินทราช 26”

บริเวณหน้าอก มีรูปโล่อยู่ตรงกลาง พื้นโล่สีดำแดง กลางโล่มีสายฟ้าสีขาว มีดอกชัยพฤกษ์สีทองพุ่งเข้าหาโล่จากด้านข้าง ข้างละ 6 ดอก สีพื้นของชุดจะเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยชุดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ชุดทำงานปกติ สามารถเห็นได้ทั่วไปตามจุดสำคัญ
  2. ชุดเวสสีน้ำเงิน ใช้สำหรับฝึกและเตรียมพร้อมก่อนปฏิบัติงาน
  3. ชุดเวสพร้อมอุปกรณ์ มีอุปกรณ์ครบมือ ตั้งแต่หมวกกันกระสุน, เสื้อกันกระสุน, อาวุธอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น
  4. ชุดปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย จะเหมือนแบบที่ 3 เว้นแต่สีชุดที่เป็นสีดำ จะใส่ชุดนี้เมื่อต้องทำงานกับหน่วยงานอื่น (การสนธิกำลัง)

เงินเดือน ตำรวจอรินทราช

ไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ

ตัวอย่างภารกิจจริงที่หน่วยอรินทราช 26 เคยช่วยเหลือ

กราดยิงที่โคราช เทอมินัล 21 8-9 กุมภาพันธ์ 2563

จ.ส.อ. จักรพันธ์ ถมมา สังกัดค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ใช้อาวุธปืนยิง พ.อ. อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ ผู้บังคับบัญชา แม่ยายของผู้บังคับบัญชาเสียชีวิตที่บ้านพัก จากนั้นบุกเข้าไปในคลังอาวุธของค่ายทหาร ยิงเจ้าหน้าที่เวรเสียชีวิต ขโมยอาวุธปืนพร้อมรถฮัมวี่หลบหนีออกมา

ระหว่างทางยิงประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามสกัดกั้น รวมถึงยิงใส่ผู้คนที่วัดป่าศรัทธารวม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย จ.ส.อ. จักรพันธ์ ขับรถฮัมวี่มาถึงห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ใช้อาวุธปืนกราดยิงผู้คนบริเวณด้านนอกห้าง และยิงถังแก๊สจนเกิดระเบิดเล็กน้อย จากนั้นบุกเข้าไปในห้างพร้อมอาวุธสงครามเต็มมือ

จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารสังกัดกองทัพบก ก่อเหตุกราดยิง ทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก หน่วยอรินทราช 26 ได้รับมอบหมายให้เข้าปฏิบัติการยุติเหตุการณ์ดังกล่าว โดยสามารถวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราช 26 เสียชีวิต 2 นายในปฏิบัติการครั้งนี้

เจ้าหน้าที่หน่วยอรินทราช 26 บุกเข้าไปในห้าง ชิงตัวประกัน วิสามัญฆาตกรรมผู้ก่อเหตุ ยุติเหตุการณ์ที่ยืดเยื้อนานกว่า 17 ชั่วโมง

กราดยิงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดหนองบัวลำภู ตุลาคม 2565

ส.ต.อ. ปัญญา คำราบ อดีตตำรวจวัย 34 ปี ถูกให้ออกจากราชการในคดียาเสพติด ได้บุกเข้าไปในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ ใช้อาวุธปืนและมีด ทำร้ายครู เด็กเล็กที่กำลังนอนพักผ่อนอยู่จนเสียชีวิตจำนวนมาก

หลังจากก่อเหตุในศูนย์เด็กเล็ก ปัญญา คำราบได้ขับรถหลบหนี ระหว่างทางได้ทำร้ายผู้คนที่พบเห็น ก่อนจะกลับไปที่บ้านของตนเอง ยิงภรรยากับลูกเสียชีวิต จากนั้นจึงยิงตัวเองเสียชีวิตในที่สุด

เหตุการณ์นี้มีเหยื่อเสียชีวิตทั้งสิ้น 38 ราย (รวมผู้ก่อเหตุ) จำนวนนี้เป็นเด็กเล็ก 24 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 10 ราย

สารวัตรคลั่ง มีนาคม 2566

พ.ต.ท.กิตติกานต์ แสงบุญ สารวัตรสังกัดสันติบาล เกิดอาการคลุ้มคลั่ง ใช้อาวุธปืนยิงออกมาจากบ้านพักในเขตสายไหม กรุงเทพฯ หน่วยอรินทราช 26 ได้เข้าปฏิบัติการควบคุมสถานการณ์ ใช้เวลาเจรจาและปิดล้อมพื้นที่นานกว่า 27 ชั่วโมง ก่อนจะเข้าจับกุมตัวได้สำเร็จ

อรินทราช 26 VS หนุมาน กองปราบ ต่างกันยังไง

แม้ว่าทั้งอรินทราช 26 กับ หนุมาน กองปราบ จะเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่จัดการภัยร้ายในกรณีร้ายแรงพิเศษเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้ง 2 หน่วยนี้มี ความแตกต่างที่สำคัญ ทั้งในด้านสังกัดหน่วยงาน, ขอบเขตอำนาจหน้าที่หลัก และลักษณะภารกิจที่รับผิดชอบ เทียบได้ดังนี้

อรินทราช 26 หนุมาน กองปราบ
สังกัดหลัก กก.ต่อต้านการก่อการร้าย บก.สปพ. (191) กก.สนับสนุน บก.ป. (กองปราบ)
ขึ้นตรงกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)
พื้นที่รับผิดชอบหลัก กรุงเทพมหานคร ทั่วราชอาณาจักร (สนับสนุนคดีของกองปราบ)
ภารกิจเด่น ต่อต้านการก่อการร้ายในเมืองหลวง, ช่วยเหลือตัวประกัน (กทม.), ระงับเหตุร้ายแรง (กทม.) จับกุมผู้ต้องหาคดีสำคัญของกองปราบ, ปราบปรามผู้มีอิทธิพล, สนับสนุนการสืบสวนทั่วประเทศ
บทบาท หน่วยเผชิญเหตุหลักในนครบาล (SWAT นครบาล) หน่วยสนับสนุนการปฏิบัติการของกองปราบ (SWAT สอบสวนกลาง)

 

ภาพจาก: อรินทราช 26 – Arintaraj 26

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx