เศรษฐกิจ

กยศ.เปิดรายชื่อ 5 จังหวัด แชมป์เบี้ยวหนี้ ผิดนัดมากสุดกว่า 1.2 แสน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดสถิติ 5 จังหวัดยอดค้างชำระสูงสุด “กรุงเทพมหานคร” นำโด่ง ตามด้วยโคราช นครศรีฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ ด้านกลุ่มอายุ 30-39 ปี มีหนี้สะสมมากที่สุด พร้อมเดินหน้ามาตรการอุ้มลูกหนี้ ปรับโครงสร้างใหม่ ลดดอกโหด คืนเงินคนจ่ายเกิน

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้เปิดเผยสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพรวมผู้กู้ยืมที่มียอดค้างชำระหนี้ ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2568 ชี้ชัดว่า กรุงเทพมหานคร ยังคงรั้งตำแหน่งจังหวัดที่มีจำนวนบัญชีผู้ค้างชำระสูงสุดถึง 129,146 บัญชี ตามมาด้วย นครราชสีมา 78,816 บัญชี, นครศรีธรรมราช 77,687 บัญชี, ขอนแก่น 73,409 บัญชี และ เชียงใหม่ 63,346 บัญชี

เมื่อพิจารณากลุ่มอายุ พบว่ากลุ่มที่มียอดค้างชำระมากที่สุดคือ ช่วงวัยทำงานอายุ 30-39 ปี จำนวนมากถึง 1,132,339 บัญชี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 40-49 ปี จำนวน 675,184 บัญชี และกลุ่มอายุ 20-29 ปี จำนวน 356,209 บัญชี ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนภาพภาระหนี้สินของประชากรในวัยสร้างตัว

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กยศ. กำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลังในการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้แก่ผู้กู้ยืม

ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 กฎหมายใหม่นี้มีการปรับเปลี่ยนสำคัญคือ ลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่เป็น “เงินต้น – ดอกเบี้ย – เบี้ยปรับ” พร้อมทั้งลดอัตราเบี้ยปรับจากเดิมที่เคยสูงถึง 18% เหลือเพียง 0.5% ต่อปี ส่งผลให้ผู้กู้ยืมทุกรายจะเห็นยอดหนี้คงเหลือลดลงในทันที

การคำนวณหนี้รูปแบบใหม่นี้ครอบคลุมกลุ่มผู้กู้ยืมประมาณ 3.5 ล้านราย ขณะนี้ กยศ. ได้ดำเนินการปรับปรุงข้อมูลไปแล้วกว่า 2.3 ล้านราย หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด ผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ใหม่ของตนเองได้ทางเว็บไซต์ www.studentloan.or.th สำหรับผู้ที่เคยทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ไปก่อนหน้าการคำนวณหนี้รูปแบบใหม่

แม้ในช่วงแรกอาจปรากฏยอดหนี้สูงขึ้น แต่ระบบจะทำการปรับยอดให้อัตโนมัติเมื่อการพัฒนาระบบคำนวณหนี้ใหม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ซึ่ง กยศ. กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่เพื่อรองรับระบบดังกล่าว เนื่องจากแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” เดิมยังไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบใหม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

กยศ. เปิดชื่อ 5 จังหวัดค้างหนี้มากสุด ย้ำเร่งปรับโครงสร้าง-ลดเบี้ยปรับช่วยด่ว

ประเด็นเรื่องการหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง ซึ่ง กยศ. ได้ดำเนินการหักเฉพาะยอดหนี้ปีปัจจุบัน ไม่รวมยอดหนี้ค้างเก่า ส่งผลให้ในเดือนเมษายน 2568 มีผู้กู้จำนวน 490,225 ราย (510,716 บัญชี) และในเดือนพฤษภาคมอีก 251,083 ราย (258,151 บัญชี) ถูกหักเงินเดือนเพื่อชำระยอดหนี้ค้างเก่าเพิ่มเติม กยศ. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาทต่อบัญชี

โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว จะต้องชำระงวดแรกด้วยตนเองพร้อมแจ้งนายจ้างเพื่อระงับการหักเงินเดือนเพิ่ม และนายจ้างจะเริ่มหักตามสัญญาใหม่ในงวดถัดไป

ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ หากไม่สามารถให้หักเงินเดือนเพิ่มในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2568 ได้ ต้องยื่นขอปรับลดจำนวนการหักเงินเดือนผ่านเว็บไซต์ กยศ. ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ในส่วนของการคืนเงินให้ผู้กู้ยืมที่ได้ชำระเงินเกินหลังจากคำนวณหนี้ตามกฎหมายใหม่ ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 พบว่ามีบัญชีที่มียอดชำระเกินจำนวน 286,362 บัญชี คิดเป็นเงินรวม 3,399.13 ล้านบาท กยศ. ได้ดำเนินการคืนเงินไปแล้ว 2,528 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 73.81 ล้านบาท และมีแผนจะคืนเงินเพิ่มเติมอีก 1,215 บัญชี เป็นเงิน 2.95 ล้านบาทภายในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยตั้งเป้าจะทยอยคืนเงินให้ครบทุกบัญชีภายในเดือนกันยายน 2569

สำหรับผู้กู้ยืมที่เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้จะได้รับสิทธิพิเศษหลายประการ อาทิ ผู้ค้ำประกันจะได้รับการปลดภาระทันที สามารถผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนได้นานสูงสุดถึง 15 ปี หรือจนกว่าผู้กู้จะมีอายุไม่เกิน 65 ปี และจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ กยศ. ยังมีมาตรการลดหย่อนหนี้เพิ่มเติมสำหรับผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างระยะเวลาปลอดหนี้ และผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ที่ยังไม่ถูกฟ้องคดี โดยจะได้รับส่วนลดต้นเงิน 5-10% และส่วนลดเบี้ยปรับ 100% เมื่อชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียว ซึ่งสามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิได้ที่เว็บไซต์ กยศ. ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม 2568

นางสาวศศิกานต์ กล่าวย้ำว่า “กยศ. เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ผู้กู้สามารถเริ่มชำระหนี้หลังจบการศึกษา 2 ปี และผ่อนชำระได้นานถึง 15 ปี” การปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการบรรเทาภาระและเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมสามารถกลับมาบริหารจัดการหนี้สินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

New Nidhikant

จบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ เอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนสายมูเตลู และนักอ่านไพ่ทาโรต์ โหราศาสตร์ มีความสนใจด้านข่าวการเมือง ศิลปะวัฒนธรรม แฟชั่น และสายดูดวงมูเตลู งานเขียนเน้นเนื้อหาที่เข้าใจง่าย อ่านสนุก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx