ข่าว

เพจดังชี้ เคส ‘หนุ่มถูกงูกัด’ แปลกมาก หมอสั่งกลับบ้าน ทั้งที่ต้องแอดมิตดูอาการก่อน

เพจดังชี้ เคส ‘หนุ่มถูกงูกัด’ แปลกมาก หมอให้ยาแก้ปวดแล้วสั่งกลับบ้าน ทั้งที่ปกติต้องแอดมิตดูอาการ-ให้เซรุ่มก่อน ล่าสุดอาการโคม่า

จากกรณีที่มีนายจ้างรายหนึ่ง โพสต์เฟซบุ๊ก Paweena Tubtimhom ร้องเรียนว่า ลูกน้องถูกงูสมิงคลากัด นำตัวส่งโรงพยาบาลกลางดึก หมอเจาะเลือดไม่เจอพิษ จ่ายยาฆ่าเชื้อ-แก้ปวด ก่อนสั่งกลับบ้านได้ แล้วนัดมาใหม่อีกครั้งตอน 9 โมงเช้า สุดท้ายอาการทรุดหนักกว่าเดิม พูดไม่ออก หายใจไม่ได้ ลิ้นคับปาก ลืมตาไม่ขึ้น นอนโคม่าในห้อง ICU

ต่อมาเพจดังอย่าง Drama-addict ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวที่เกิดขึ้น ระบุว่า โดยปกติแล้วเวลาเจอเคสที่ถูกงูกัดมา หมอจะต้องสั่งให้แอดมิตเพื่อสังเกตอาการ และตรวจเลือดเป็นระยะ หรือหากผลเลือดเริ่มผิดปกติ หรือคนไข้เริ่มมีอาการอ่อนแรง หมอจะได้ให้การรักษาและให้เซรุ่มต้านพิษงูได้ในทันที

“สืบเนื่องจากโพสข่าว คนถูกงูทับสมิงคลากัด ไป รพ แล้วหมอให้กลับบ้าน แล้วนัดมาใหม่ตอนเช้า 9 โมง ได้ยาฆ่าเชื้อกับยาแก้ปวดไปกิน ปรากฏว่าตอนเช้าก่อน 9 โมง คนไข้อาการแย่ลง พูดไม่ออก หายใจไม่ได้ ลิ้นคับปาก ลืมตาไม่ขึ้น เลยรีบนำส่ง รพ ผลคือถูกพิษงูจริง ๆ จนเกือบตาย

เรื่องงู ปรกติแล้วในบ้านเรา หลัก ๆ งูพิษจะมี พิษต่อระบบเลือด และพิษต่อระบบประสาท (พิษอีกประเภทส่วนมากเจอในงูทะเล น๊านนนานจะเจอซะทีแล้วไม่มีเซรุ่มในไทยด้วย แต่ที่ออสมี)

ในเคสนี้ งูที่กัดคือสมิงทับคลา ซึ่งมีพิษในระดับสุดยอดของบรรดางูพิษในไทย พิษของมันมีผลต่อระบบประสาท จะทำให้คนที่โดนพิษ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น และพอกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจจะอ่อนแรง จนไม่สามารถหายใจได้ และเสียชีวิตเพราะขาดออกซีเจน

เวลาเจอเคสแบบนี้เราจะช่วยด้วยการใส่เครื่องช่วยหายใจ ให้เซรุ่มต้านพิษงู จนกว่าอาการคนไข้จะดีขึ้นและสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง

ปัญหาคือ เวลาถูกงูกัด มักจะไม่แสดงอาการทันที อยู่ที่การไหลเวียนของพิษเข้าสู่ระบบเลือดและน้ำเหลือง มีทั้งเกิดอาการภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังถูกกัด จนถึงเคสที่แสดงอาการ 6-10 ชั่วโมงหลังถูกกัดได้เลยทีเดียว เคสนี้น่าจะเป็นเคสที่แสดงอาการช้า

ดังนั้นปรกติแล้ว เวลาเจอเคสที่ถูกงูกัด หมอจะให้แอดมิท เพื่อสังเกตอาการ และตรวจเลือดเป็นระยะ ถ้าระหว่างนั้นเริ่มอ่อนแรง หรือผลเลือดเริ่มผิดปรกติ ก็จะได้รักษาและให้เซรุ่มทันที

ปรกติจะให้แอดมิททุกราย เคสนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นทำไมคนไข้กลับบ้าน แต่ปรกติแล้ว เวลาถูกอะไรกัดมา เช่นบางเคสมีรอยเขี้ยว แต่ไม่ชัวร์ว่า งูหรือตะขาบกัด หมอก็จะให้แอดมิทไว้ก่อน กันเหนียว เพราะถ้าเกิดเป็นงูกัดขึ้นมา แล้วมีอาการตอนกลับบ้าน มันโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นเคสงูทับสมิงคลา ตัวนี้จะพิเศษสองห่อใส่ไข่หน่อย เพราะพิษมันรุนแรงระดับสุดยอด ต่อให้ยังไม่มีอาการก็ให้เซรุ่มได้เลย

หรือต่อให้เป็นงูจริงๆ ก็อย่าเพิ่งมั่นใจว่าเป็นงูไม่มีพิษ แล้วให้กลับบ้าน เพราะมีงูหลายชนิดที่สีและลายคล้ายกันมาก อาจเข้าใจผิดได้ เช่น งูทับสมิงคลา ที่พิษโคตรรุนแรง กับงูปล้องฉนวน ที่ไม่มีพิษ หน้าตาคล้ายกันมาก

ถ้าเจอเคสที่ไม่มั่นใจ อย่าให้คนไข้กลับบ้าน ให้ติดต่อสายด่วน งูเข้าบ้าน เพื่อรับทราบข้อมูลและแนวทางปฎิบัติที่ถูกต้อง หรือเข้าไปถามในกลุ่ม งูไทย อะไรก็ได้ จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านงูมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเวลาไม่นาน

โดยเฉพาะถ้าเป็นงูทับสมิงคลา ตัวนี้จะพิเศษสองห่อใส่ไข่ คือต่อให้ยังไม่มีอาการ แต่ถ้าชัวรว่างูตัวนี้กัด ให้เซรุ่มไปเลย เพราะความเสียหายที่จะเกิดกับคนไข้รุนแรงมาก”

ขณะที่เพจ Tensia ก็ได้มีการออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับพิษของงูสมิงคลา (Malayan krait) ซึ่งเป็นงูที่มีพิษรุนแรงต่อระบบประสาทเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย โดยจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับ งูเก่า, งูจงอาง และงูสามเหลี่ยม

“งูทับสมิงคลา (Malayan krait) มีพิษที่ทำลายทั้งการหลั่ง และการออกฤทธิ์สารสื่อประสาท ซึ่งฤทธิ์แบบแรกรุนแรง และเสียหายยาวนานหลายวัน-สัปดาห์

ในกลุ่มงูที่มีพิษต่อระบบประสาทที่พบในไทย จะมี งูเห่า, งูจงอาง, งูทับสมิงคลา และงูสามเหลี่ยม

โดยทั้ง 4 ชนิด จะมีจุดเหมือนกันคือ มีพิษกลุ่ม alpha-neurotoxin ที่เมื่อเข้าร่างแล้ว จะเข้าไปรอยต่อระหว่าง เซลล์ประสาทสั่งการ กับ กล้ามเนื้อ แล้วเข้าไปยับยั้งตัวรับสารสื่อประสา Ach ที่ชื่อว่า Nicotonic receptor ทำให้ประสาทไม่สามารถสั่งกล้ามเนื้อได้

แต่งูทับสมิงคลาและงูสามเหลี่ยม จะเป็นกลุ่ม Krait ที่มีจุดเด่นคือ จะมี beta-neurotoxin ด้วย ชื่อ beta-bungarotoxin จุดที่อันตรายคือ มันจะเข้าไปทำลายที่ปลายประสาทสั่งการด้วย ทำให้เสียหายจนไม่สามารถหลั่งสารสื่อได้ ซึ่งก็ลงเอยด้วยการสั่งกล้ามเนื้อไม่ได้ อัมพาตเช่นกัน

แต่ความเสียหายจาก beta-bungarotoxin ค่อนข้างใช้เวลาในการฟื้นฟูนานมากค่ะ

ดังนั้นถ้าโดนงูกัดและสงสัยว่าน่าจะเป็นงูทับสมิงคลาหรืองูสามเหลี่ยมต้องรีบแจ้ง เพราะจะพิจารณาให้เซรุ่มทันทีแม้ยังไม่มีอาการ

ส่วนกรณีอื่น งูอาจกัดโดยใส่พิษไม่เยอะพอ หรือไม่ทราบชนิดงู จำเป็นต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชนิด ร่วมกับตรวจสมรรถนะของกล้ามเนื้อหายใจ และ ดูการแข็งตัวของเลือด เพื่อใช้เป็นข้อมูลว่า การให้เซรุ่มมีประโยชน์ มากกว่าโทษ (โทษคือแพ้เซรุ่ม ซึ่งบางรายแพ้แบบรุนแรง)

แต่ถึงแม้ให้เซรุ่มแล้ว พิษบางส่วนก็ได้ออกฤทธิ์ไปแล้ว การรักษามักจะยังไม่เปลี่ยน คือต้องดูแลประคับประคองไปอยู่ดี”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจาก : FB Drama-addict, Tensia

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

GIFT T.

Rewriter สาวจากรั้วสวนดุสิต เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวมากว่า 5 ปี ชื่นชอบการส่งต่อเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟ์สไตล์ หวย และข่าวบันเทิง พร้อมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้นักอ่านได้เห็นประเด็นรอบด้านมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx