ภูมิธรรม แจง เครื่องบิน k-8 พม่า ไม่รุกล้ำน่านฟ้าไทย แค่บินเฉียด

ภูมิธรรม แจง เครื่องบิน k-8 พม่า ไม่รุกล้ำน่านฟ้า แค่บินเฉียด เพราะเครื่องเทคออฟ ส่ง F-18 เตือนเขาก็ถอย
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีกองทัพอากาศไทยได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบินสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของอากาศยาน K-8 ไม่ทราบฝ่าย บินเฉียดเข้ามาใกล้พื้นที่ชายแดนไทย บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาทราบว่าเป็นเครื่องบินพม่านั้น
นายภูมิธรรมกล่าวว่า กรณีนี้ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหารุนแรง อธิบายว่าเป็นเครื่องบินของ “ฝั่งข้างบ้าน” ที่กำลังทำการขึ้นบิน เฉียดเข้ามาใกล้เขตแดนทางอากาศของไทยเท่านั้น
“เมื่อบินอยู่บนอากาศ อาจมีความคลาดเคลื่อนได้ เมื่อเราบอกเขา เขาก็ถอยออกไป ก็จบแค่นั้น กองทัพอากาศของเราก็ทำหน้าที่ตามปกติ อย่างแม่นยำและตรงไปตรงมา” รองนายกฯ กล่าว
นายภูมิธรรมชี้ว่า ยังไม่เป็นการรุกล้ำน่านฟ้า เครื่องบินเมียนมาอยู่ที่ขอบชายแด กองทัพอากาศไทยจึงได้ส่ง F-16 ขึ้นบินเพื่อเตือนล่วงหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรุกล้ำเข้ามาจริง
ส่วนกรณีภาพวิดีโอของอากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือ “โดรน” ที่ประชาชนถ่ายไว้ได้ และมีการตั้งข้อสงสัยว่าอาจเป็นการล้ำแดนจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายภูมิธรรมกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า “ไม่ต้องลงรายละเอียด เอาเป็นว่าตอนนี้ไม่ใช่ปัญหารุกล้ำดินแดนแล้ว ตอนนี้มีการเจรจาจนเข้าใจกันหมดแล้ว”
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยุติลงโดยไม่เกิดเหตุการณ์บานปลาย รัฐบาลไทยยืนยันว่ามีช่องทางสื่อสารที่ดีในการป้องกันความเข้าใจผิดกับประเทศเพื่อนบ้าน.
หากมีเครื่องบินรบบินข้ามเขตน่านฟ้าประเทศเข้ามาโดยไม่ขออนุญาต ประเทศเจ้าบ้านทำอะไรได้บ้าง
ทั่วไปแล้ว ตามกฎหมายสากล เมื่อมีเครื่องบินรบต่างชาติล่วงล้ำน่านฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ประเทศเจ้าของน่านฟ้ามีสิทธิปกป้องอธิปไตยของตนอย่างเต็มที่ เพราะทุกประเทศมีอำนาจเด็ดขาดเหนือห้วงอากาศของตนเอง
ขั้นตอนแรกเมื่อตรวจพบการรุกล้ำ ต้องพิสูจน์ทราบเครื่องบินดังกล่าว ติดต่อสื่อสารทางวิทยุเพื่อแจ้งเตือน สอบถามเจตนา และสั่งให้ออกจากพื้นที่ หรือเปลี่ยนเส้นทางบินทันที
หากการติดต่อสื่อสารไม่เป็นผล หรือเครื่องบินที่ล่วงล้ำไม่ให้ความร่วมมือ ประเทศเจ้าบ้านจะส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นสกัดกั้น (intercept) เพื่อปฏิบัติการในลำดับต่อไป ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบด้วยสายตาเพื่อยืนยันประเภท สัญชาติ และอาวุธ การใช้สัญญาณภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อแจ้งเตือนอีกครั้ง หรือนำพาเครื่องบินผู้บุกรุกออกจากน่านฟ้า
ในกรณีที่ยังคงเพิกเฉย แสดงท่าทีคุกคาม อาจมีการยิงเตือนเป็นสัญญาณขั้นเด็ดขาด ซึ่งต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
ในสถานการณ์ที่เครื่องบินผู้บุกรุกยังคงดื้อดึง หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาเป็นภัยร้ายแรง ประเทศเจ้าของน่านฟ้าอาจตัดสินใจใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น การบังคับให้เครื่องบินนั้นลงจอดในสนามบินที่กำหนดเพื่อตรวจสอบ สำหรับการใช้กำลังถึงขั้นยิงให้ตก ถือเป็นทางเลือกสุดท้ายอย่างแท้จริง และจะกระทำได้ต่อเมื่อเครื่องบินนั้นเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติอย่างชัดแจ้งและใกล้จะถึง โดยไม่สามารถใช้วิธีอื่นหยุดยั้งได้ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน
หลังจากนี้ ไม่ว่าผลการเผชิญหน้าจะเป็นอย่างไร ประเทศเจ้าบ้านมีสิทธิเต็มที่ในการดำเนินการทางการทูต เช่น การยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการต่อประเทศต้นสังกัดของเครื่องบิน หรือแจ้งต่อองค์กรระหว่างประเทศ การดำเนินการทั้งหมดนี้ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศและกฎการปะทะ โดยคำนึงถึงเจตนาของการล่วงล้ำและมุ่งเน้นการคลี่คลายสถานการณ์อย่างสันติหากเป็นไปได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- “บิ๊กอ้วน” ตอบไม่มีปัญญา ปมส่ง F-16 สกัด เป็นเครื่องบินเฉียดชายแดน
- นาทีชีวิต 5 ผู้รอดชีวิตยืน 36 ชั่วโมง จระเข้-อนาคอนด้า ว่ายรอเขมือบ กลางป่าอะเมซอน หลังเครื่องบินจอดฉุกเฉินกลางน้ำ
- คลิปนาที F-16 ทอ. บินประกบ K-8 ทิ้งบอมบ์ใกล้ชายแดนไทย-เมียนมา
ติดตาม The Thaiger บน Google News: