อพท. หารือแผนสร้าง “กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง” คาดใช้งบไม่เกินพันล้าน

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รับ อพท. ประชุมหารือแผนการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงแล้ว ยันกระทบธรรมชาติน้อยที่สุด
วันนี้ (5 พ.ค.) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีสำนักงบประมาณ อนุมัติงบ 25.7 ล้านบาท ให้คณะกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เพื่อดำเนินการโครงการออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ว่า อพท. ได้ประชุมหารือแผนการสร้าง เรื่องขั้นตอนการขออนุญาต บริหารจัดการ และตั้งคณะทำงานร่วมกันเรียบร้อย
ทั้งนี้รายละเอียดในการออกแบบจะต้องกระทบพื้นที่น้อยที่สุด ซึ่งยังเป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น และยังไม่มีการอนุมัติการก่อสร้างแต่อย่างใด แต่มีการนำเสนอเทคโนโลยีหลายรูปแบบที่มาจากฝั่งยุโรป เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และเยอรมนี รวมถึงทางเลือกจุดสร้างกระเช้าด้านผาหมากดูกที่ไม่ใช่ทางขึ้นในปัจจุบัน โดยคาดว่าระยะทางไม่เกิน 3 กม. ส่วนตัวอย่างที่ได้ดูนั้น เท่าที่เห็นคือเสาแท่งเดียว ไม่กินพื้นที่เยอะ ไม่กระทบพันธุ์ไม้มาก
อย่างไรก็ตาม การหารือเบื้องต้น คาดว่าเฟสแรกการก่อสร้างกระเช้าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 1 พันล้านบาท ขณะที่เฟส 2 เป็นการบริหารจัดการพื้นที่ด้านบนภูกระดึง และด้านล่างต้องมีจุดบริการนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากพื้นที่ด้านบนตั้งแต่ผาหมากดูกถึงผาหล่มสัก มีระยะทาง 10 กม.

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการกระเช้าไฟฟ้าส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มสูงวัย อาจไม่สะดวกการเดินระยะไกล และต้องลงมาพักด้านล่าง แต่กระนั้น กรมอุทยานฯ มีแนวคิดเพิ่มการให้บริการรถรางไฟฟ้าขนาดเล็กบนจุดท่องเที่ยวด้านบน โดยปรับเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดิน เพื่อให้รถวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ถนนถาวร เพื่อให้กลมกลืนธรรมชาติ และลดผลกระทบพื้นที่ให้มากที่สุด
ทั้งนี้พื้นที่ภูกระดึงส่วนที่สามารถเที่ยวได้เป็นเพียงพื้นที่ 1 ใน 4 ของพื้นที่ คือบริเวณผาต่าง ๆ เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีช้างป่า ซึ่งในอนาคตรามีเส้นทางรอบ ๆ ภูกระดึง ทำให้อาจกลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวได้ ขณะที่ประชากรช้างก็เพิ่มขึ้นแน่นอน ทำให้พื้นที่ที่ปิดไว้คงต้องปิดถาวร ทำให้อาจเป็นการท่องเที่ยวแบบนั่งรถซาฟารีในโซนที่ช้างออกมา
“บนภูกระดึงมีถนนรอบพื้นที่ ถ้าบินดูจากเฮเลิคอปเตอร์จะเห็นถนนรอบภูกระดึงที่รูปร่างเหมือนใบโพ เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ใช้เลย เพราะช้างมันเยอะ แต่ในอนาคตคิดว่าเราต้องทำแบบซาฟารี คือให้ขึ้นรถไปเที่ยว” นายอรรถพล กล่าว
ส่วนกระแสคัดค้านการสร้างกระเช้าฯ นั้น “อรรถพล” เผยว่ามีน้อยมาก แถมพื้นที่ที่เปิดรับฟังความเห็นก็เห็นด้วยเกือบทั้งหมด รวมถึงคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้สอบถามความคืบหน้าการดำเนินโครงการแล้ว โดยฝั่งกรมอุทยานฯ ได้ต่ออายุใบอนุญาตให้ศึกษาอีกไม่เกิน 2 ปี ยืนยันว่าต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
นอกจากนี้ อพท.ได้เร่งของบกลางเพื่อดำเนินการ และคาดว่าจะเป็นผู้ก่อสร้าง และมอบพื้นที่ให้กรมอุทยานฯ บริหาร โดยยังคงจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยววันละ 2,000 คน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนตำนาน “ผีภูกระดึง” รายการตีสิบ เรื่องผีน่ากลัวขนหัวลุกที่สุด
- วินาทีชีวิต อพยพ นทท. พันคน ลงภูกระดึง หลังช้างป่าตกมัน สั่งปิดไม่มีกำหนด
- บินฮอไล่ช้างป่าภูกระดึง ดราม่าสนั่นกรมอุทยานฯ เลือกทำสัตว์แตกตื่น แทนที่จะเข้มงวดนทท.
ติดตาม The Thaiger บน Google News: