ข่าว

DSI เผยผลสอบ “สมชาย” วิศวกรจัดการตึก สตง. รับรู้เอกสารแก้ไขแบบ 9 ฉบับ

ดีเอสไอ เผลผลสอบปากคำ “สมชาย ทรัพย์เย็น” วิศวกรผู้จัดการตึก สตง. ยอมรับรู้รายละเอียดเอกสารแก้ไขแบบทั้ง 9 ฉบับ ส่วน “สมเกียรติ” ไม่เคยเจอที่ไซต์ก่อสร้าง

จากกรณีนายสมชาย ทรัพย์เย็น วิศวกรผู้จัดการโครงการ ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ในฐานะผู้ควบคุมงาน มีชื่อปรากฏในการลงนามให้ปรับแก้ Core Lift ตามแบบขยายที่ผู้ออกแบบได้ปรับแก้ ในการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ พร้อมเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ข้อมูลและชี้แจงกระบวนการทำงานเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ในฐานะผู้จัดการโครงการ

ล่าสุด (4 พ.ค.) คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เผยผลการสอบสวน “สมชาย” ข้างต้นเป็นระยะเวลากว่า 8 ชั่วโมง ว่า นายสมชาย ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนในคดีอย่างมาก โดยอธิบายว่า ตามหลักการทำงานก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ย่อมประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม คือ เจ้าของงาน, ผู้ออกแบบ, ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ควบคุมงาน

ดังนั้น กรณีเฉพาะในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ควบคุมงาน ย่อมมีการพูดคุยประสานงานกัน เพราะถ้าหน้างานการก่อสร้างมีปัญหาอะไร ก็ต้องแจ้งมายังผู้ควบคุมงาน และเนื่องจากผู้ควบคุมงานมีบทบาทคือการรับจ้างทำหน้าที่ควบคุมงานให้กับผู้ว่าจ้าง (สตง.) ทำให้การเซ็นชื่อลงนามในเอกสารการควบคุมงานก่อสร้าง (แก้แบบตึก สตง.) เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ตนไม่ได้ถือเป็นคนตัดสินใจทั้งหมด

แฟ้มภาพ

รวมถึงการจะแก้ไขแบบได้นั้น ต้องมีการถูกตรวจพบก่อนว่าเหตุใดในการออกแบบเพื่อจะนำไปสู่การก่อสร้าง จึงต้องมีการแก้ไขแบบก่อน ซึ่งต้องเสนอตามลำดับชั้น ทางผู้ว่าจ้างเองก็ต้องรับทราบเพื่อให้การอนุมัติ จึงได้มีการก่อสร้างตามแบบที่ปรับแก้ไขให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย และระหว่างการก่อสร้างก็ต้องมีการควบคุมงานเพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่ารู้รายละเอียดเอกสารแก้ไขแบบทั้ง 9 ฉบับ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องรับทราบตามการทำงานอยู่แล้ว

“สำหรับการแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ (Core Lift) และผนังรับแรงเฉือน (Core Wall) หรือส่วนใดก็ตาม นายสมชาย ให้ข้อมูลว่า ทุกคนภายใต้สัญญาโครงการฯ ต้องรับรู้รับทราบหมด เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับตัวกฎหมาย อาทิ กรณีการปรับแก้ผนังปล่องลิฟต์บางจุดเกิดขึ้นในช่วงการบริหารสัญญาระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยผู้รับจ้างก่อสร้างพบว่าแบบงานโครงสร้างขัดกับแบบงานสถาปัตยกรรมภายใน

โดยขนาดของผนังปล่องลิฟต์บริเวณทางเดินเมื่อรวมกับวัสดุตกแต่งตามแบบทำให้ทางเดินมีความกว้างไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบของทางราชการ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันหลายฝ่าย ต้องร่วมกันพิจารณา มิใช่เพียงใครคนใดคนหนึ่งมีอำนาจตัดสินใจทั้งหมด” คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ

ทั้งนี้กรณีของ “สมชาย” มีเอกสารเกี่ยวข้องจำนวนมากที่ต้องลงนามเซ็นรับรอง ไม่เพียงแต่เอกสารการปรับแก้แบบ แต่เนื่องจากเจ้าตัวคือผู้จัดการโครงการก่อสร้าง จึงจะมีพนักงานคอยเตรียมเอกสารให้เซ็น เช่น แบบรายงานการควบคุมงานก่อสร้างประจำสัปดาห์ และแบบรายงานการควบคุมงานก่อสร้างประจำเดือน

ส่วนประเด็นที่นายสมชาย และนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานตึก สตง. ภายใต้กิจการร่วมค้า PKW นั้น นายสมชายให้การว่า ไม่เคยเจอ “สมเกียรติ” ที่ไซต์งานก่อสร้าง รวมถึงบทบาทของนายสมชาย กับนายสมเกียรตินั้น หากดูตามตำแหน่งในเอกสาร ก็ดูแลรับผิดชอบกันคนละส่วน เพราะนายสมชาย คือ ผู้จัดการโครงการ หากมีปัญหาใดในระหว่างการก่อสร้างก็ต้องเข้าไปตรวจสอบ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ “สมเกียรติ” ถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงานตึก สตง. นั้น จะทำให้เห็นความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวที่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เจ้าของลายเซ็นที่ถูกปลอมในเอกสารถือเป็นผู้เสียหาย และ สตง. ในฐานะที่ถูกนิติบุคคลนำลายเซ็นในเอกสารมาใช้

ดังนั้น ปัจจุบันเรื่องการถูกปลอมลายเซ็นทั้งกรณีของนายสมเกียรติ และพยานวิศวกรรายอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการส่งตรวจพิสูจน์เรื่องลายเซ็น เพื่อใช้พิจารณาความผิดทางคดีอาญาต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตาม The Thaiger บน Google News:

0 0 โหวต
Article Rating
สมัครรับข้อมูล
แจ้งเตือนเกี่ยวกับ
0 Comments
เก่าแก่ที่สุด
ใหม่ล่าสุด ถูกโหวตมากที่สุด
Inline Feedbacks
ดูความคิดเห็นทั้งหมด

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button
0
เราอยากทราบความคิดเห็นของคุณ โปรดแสดงความคิดเห็นx