ไม่ต้องตกใจ! วันนี้บ่ายโมง ทดสอบ “เซลล์บรอดคาสต์” เข้ามือถือทุกเครื่อง 5 พื้นที่

ปภ. เตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย “Cell Broadcast” ครั้งแรก 2 พ.ค. นี้ เริ่มต้นนำร่อง 5 จุดทั่วประเทศ เสียงเตือนดังแม้ปิดเสียงมือถือ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ย้ำเป็นเพียงการทดสอบระบบ วอนประชาชนอย่าตื่นตกใจ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษากองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภช.) เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคมนี้ เวลา 13.00 น. จะมีการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยเทคโนโลยี Cell Broadcast (CB) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มต้นในระดับเล็ก ครอบคลุมพื้นที่นำร่อง 5 จุด ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย, อุบลราชธานี, สุพรรณบุรี, สงขลา และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคาร A และ B กรุงเทพมหานคร
การทดสอบครั้งนี้จะเริ่มต้นเวลา 13.00 น. ที่ห้องกองบัญชาการกลาง ด้วยการจำลองสถานการณ์ภัยพิบัติ เช่น น้ำป่าไหลหลาก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเสนอข้อความแจ้งเตือนเพื่อขออนุมัติจากอธิบดีกรม ปภ. เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จะส่งคำสั่งไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อทำการกระจายสัญญาณแจ้งเตือนในรูปแบบ CBS ไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนในพื้นที่ที่กำหนด
โดยระบบจะส่งข้อความครั้งเดียว พร้อมเสียงเตือนยาว 8 วินาที แสดงข้อความทั้งภาษาไทยและอังกฤษ และจะค้างสัญญาณไว้เป็นเวลา 10 นาที เพื่อให้ผู้ที่เดินเข้าสู่พื้นที่หลังจากการส่งยังสามารถรับข้อความได้ทันที
ระบบ CB นี้จะส่งข้อความเตือนภัยเข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่อยู่ในรัศมีพื้นที่ทดสอบ โดยมีเสียงและการสั่นแจ้งเตือนแม้ผู้ใช้จะปิดเสียงหรือเปิดโหมดสั่นไว้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่คุ้นเคยเกิดความตกใจได้ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าเป็นเพียงการทดสอบระบบเท่านั้น
นายจิรายุ ระบุว่า การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยให้ทันสมัยและเข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึงในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำท่วม หรือเหตุการณ์ใหญ่ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยระบบ CB มีความแตกต่างจาก SMS ตรงที่สามารถส่งข้อความพร้อมเสียงเตือนโดยไม่ต้องรู้หมายเลขโทรศัพท์หรือให้ประชาชนลงทะเบียนล่วงหน้า
ทั้งนี้ การทดสอบจะดำเนินการทั้งหมด 3 ครั้ง ได้แก่
- ครั้งที่ 1 วันที่ 2 พ.ค. ระดับเล็ก ครอบคลุม 5 จุดนำร่อง
- ครั้งที่ 2 วันที่ 7 พ.ค. เวลา 13.00 น. เป็นการทดสอบระดับ “อำเภอ” ครอบคลุม 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองลำปาง, อ.เมืองนครราชสีมา, อ.เมืองนครสวรรค์, อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
- ครั้งสุดท้ายในวันที่ 13 พ.ค. เวลา 13.00 น. จะเป็นการทดสอบ “ระดับจังหวัด” ครอบคลุม จ.เชียงใหม่, อุดรธานี, พระนครศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร
หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบทั้ง 3 รอบแล้ว ปภ. จะเดินหน้าทดสอบระบบ CB ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการรับรู้สถานการณ์ได้ทันท่วงที.
ทั้งนี้ Cell Broadcast (CB) คือเทคโนโลยีการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยแบบเฉพาะพื้นที่ โดยระบบจะส่งข้อความในรูปแบบกระจาย (broadcast) ผ่านเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือไปยังทุกเครื่องที่เปิดอยู่ภายในพื้นที่นั้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้เบอร์โทรศัพท์ ไม่ต้องลงทะเบียน และไม่ต้องมีแอปพลิเคชันใด ๆ
ความพิเศษของ CB คือ แม้โทรศัพท์จะอยู่ในโหมดปิดเสียงหรือสั่น ระบบจะยังส่งเสียงเตือนและแสดงข้อความแจ้งเตือนบนหน้าจอได้ทันที ทำให้สามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วในภาวะฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม ไฟป่า หรือภัยพิบัติร้ายแรงอื่น ๆ ที่ต้องการเตือนภัยเป็นวงกว้างแบบเร่งด่วน
หลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในสหภาพยุโรป ต่างใช้ Cell Broadcast เป็นระบบหลักในการเตือนภัยสาธารณะ โดยในประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมและหน่วยงานรัฐ กำลังนำระบบนี้มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเตือนภัยให้ทันสมัย ทั่วถึง และลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เตือนภัยร้อนจัด หมอสมอง แนะแยกให้ออก ไข้ กับ ฮีทสโตรก ชี้ร้อนแค่ไหนถึงตาย
- เตือนภัยสายชาไทย ดื่มเกิน 2 แก้ว/วัน เสี่ยงรับสี Sunset Yellow เกินขนาด
- เตือนภัย! วัยรุ่นจีน ทดลองเคมี บึ้มกลางบ้าน ตาเกือบบอดสนิท-ต้องตัดแขนทิ้ง
ติดตาม The Thaiger บน Google News: