สลช. แจงแนวทางแต่งชุด ลูกเสือ-เนตรนารี ย้ำ ชุดเต็มใช้เฉพาะพิธี-เข้าค่าย

สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ แจงแนวปฏิบัติแต่งกายชุดลูกเสือ/เนตรนารี ชุดเต็มใช้เฉพาะงานพิธี-เข้าค่าย ชุดลำลอง/พละ ใช้ตอนฝึกอบรม-เข้าค่ายได้ ขณะนี้รอกฎหมายใหม่บังคับใช้
จากกรณีที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความสับสนในหมู่ผู้ปกครอง หลังจาก นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาว่า สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) เตรียมจะออกประกาศ “ยกเว้นการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารี” ให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ทำให้ผู้ปกครองหลายคนเกิดคำถามว่าจะต้องเตรียมชุดให้บุตรหลานอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีประกาศที่ชัดเจนออกมา
ล่าสุด (28 เมษายน 2568) เพื่อคลายความสับสนและสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (NSOT) ได้เผยแพร่หนังสือลงวันที่ 23 เมษายน 2568 ระบุข้อความแจ้ง แนวปฏิบัติการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ในสถานศึกษา ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการทบทวนความเข้าใจ ในระหว่างที่รอกฎกระทรวงฉบับใหม่
ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่ การแต่งเครื่องแบบของลูกเสือ ได้มีการกำหนดลักษณะ ชนิดและประเภทของเครื่องแบบลูกเสือ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสื้อ พ.ศ. 2507 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. ….
กำหนดให้การแต่งกายลูกเสือ มีความยืนหยุ่น คล่องตัว เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ต่าง ๆ โดยเน้นความประหยัด คุ้มค่า แต่ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ ธรรมเนียมปฏิบัติ และพิธีการของลูกเสือ ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น
เพื่อให้การดำเนินงานของสถานศึกษา มีความชัดเจน ในระหว่างที่กฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. …. ยังไม่ประกาศใช้ จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ดังนี้
1. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือตามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ประกอบด้วย หมวก เสื้อ กางเกง/กระโปรง ผ้าผูกคอ เข็มชัด ถุงเท้า รองเท้า และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบ ให้ใช้สำหรับงานพิธีเข้าประจำกองลูกเสือ งานพิธีของลูกเสือ หรืองานพิธีอื่น ๆ ที่สถานศึกษา จังหวัด สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น และในการฝึกอบรมหรืออยู่ค่ายพักแรม
2. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสำรองแบบลำลอง และเครื่องแบบลูกเสือสามัญแบบลำลอง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ซึ่งประกอบด้วย เครื่องแบบนักเรียน, ผ้าผูกคอ, เครื่องหมายลูกเสือ ใช้สำหรับการฝึกอบรม การอยู่ค่ายพักแรม เท่านั้น และการแต่งเครื่องแบบลำลอง อนุโลมให้ใช้ชุดพลศึกษาได้
3. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสื้อวิสามัญแบบลำลอง อนุโลมให้แต่งเครื่องแบบตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507
ในการนี้การจัดกิจกรรมฝึกอบรมลูกเสือ เนตรนารี ที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ให้สถานศึกษาพิจารณาปรับรูปแบบลักษณะการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสภาพอากาศ และกำหนดการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ตามข้อ 1-3 ได้ตามความเหมาะสม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ข่าวดี ศธ.ไ่ฟเขียว ยกเลิกบังคับ ชุดลูกเสือ-เนตรนารี ลดภาระผู้ปกครอง
- ร้านค้า มอง ศธ. หยุดบังชุดลูกเสือ ทำเด็กไร้ระเบียบ หวั่นยกเลิกวิชาในอนาคต
- โรงเรียนดัง ปรับชุดลูกเสือ-เนตรนารีใหม่ ผปค. แห่ชม คล่องตัว ประหยัดเงิน
ติดตาม Thaiger The บน Google News: