
ไขข้อข้องใจ ใช้ฟิล์มยืดในไมโครเวฟ ก่อมะเร็ง จริงหรือ? ผู้เชี่ยวชาญยัน ผ่านทดสอบเข้มงวด สถาบันมะเร็งอังกฤษชี้ ไร้หลักฐาน แนะ 3 ข้อใช้ปลอดภัย เลือก Microwave Safe – ห้ามสัมผัสอาหาร – เจาะรูระบายไอ
สารภาพมาซะดี ๆ ว่าใครเคยบ้าง? ห่ออาหารที่เหลือด้วย “ฟิล์มยืด” ใส ๆ แล้วโยนเข้าไมโครเวฟ อุ่นร้อนพร้อมทาน สะดวกสบายสุด ๆ แต่แล้วก็ต้องใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ เมื่อเปิดโซเชียลมีเดียเจอข่าวแชร์สนั่น “ระวัง! ใช้ฟิล์มพลาสติกในไมโครเวฟ สารเคมีละลาย เสี่ยงมะเร็งนะ” คำเตือนทำนองนี้วนเวียนหลอกหลอน จนหลายคนเริ่มไม่แน่ใจ ตกลงไอเทมคู่ครัวชิ้นนี้ มันคือตัวช่วยอำนวยความสะดวก หรือเพชฌฆาตเงียบกันแน่?
กระแสความกลัวหลัก ๆ พุ่งเป้าไปที่ “สารเคมี” ในเนื้อฟิล์มพลาสติก โดยเฉพาะสารชื่อคุ้นหูอย่าง BPA (Bisphenol A) หรือสารพลาสติไซเซอร์ (Plasticizers) ที่ช่วยให้ฟิล์มยืดหยุ่นแนบสนิทกับภาชนะ มีการกล่าวอ้างว่าเมื่อฟิล์มโดนความร้อนในไมโครเวฟ สารอันตรายเหล่านี้อาจ “ละลาย” หรือ “ซึม” ปนเปื้อนเข้าไปในอาหาร เมื่อกินเข้าไปสะสมมาก ๆ จะก่อให้เกิดมะเร็งร้าย โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก ฟังดูน่าขนลุกไม่น้อย
ใจเย็นก่อน! ก่อนจะโยนฟิล์มยืดในครัวทิ้งทั้งหมด ลองมาฟังเสียงจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง นิค เคอร์นาแกน ผู้อำนวยการบริษัท PIRAS International ในอังกฤษ ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์อาหารโดยตรง ออกมายืนยันผ่านสื่อดังอย่าง Express.co.uk ว่า แม้ฟิล์มยืดจะมีสารเคมีเพิ่มเข้ามาเพื่อให้เนื้อฟิล์มอ่อนนุ่มยืดหยุ่นได้จริง แต่ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น รวมถึงฟิล์มยืดหุ้มอาหาร ก่อนจะวางขายสู่มือผู้บริโภค ต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดสุด ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานมาตรฐานอาหารระดับโลก เช่น EFSA หรือองค์การความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรป
กระบวนการทดสอบเหล่านี้โหดหินชนิดที่ว่า ฟิล์มจะถูกนำไปทดสอบในสภาวะที่หนักหน่วงที่สุด หากพบว่ามีการรั่วไหลของสารเคมีในระดับที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ฟิล์มยืดชนิดนั้นจะ “ไม่มีทาง” ได้รับการอนุมัติให้วางจำหน่ายในท้องตลาดเด็ดขาด
แล้วข่าวลือเรื่องมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มาจากไหน? นิค เคอร์นาแกน ชี้แจงว่า มีงานวิจัยในห้องทดลองบางชิ้นเคยพยายามเชื่อมโยงประเด็นนี้ แต่ผลการศึกษาเหล่านั้น ถูกปฏิเสธโดยองค์กรวิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ซึ่งเป็นสถาบันที่น่าเชื่อถือระดับโลก เนื่องจาก “ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเพียงพอ” มาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว เว็บไซต์ของ Cancer Research UK ยังระบุชัดเจนว่า ประชาชนสามารถใช้ฟิล์มยืดที่ระบุว่า “ปลอดภัยสำหรับใช้ในไมโครเวฟ” ได้ ตราบใดที่ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้อง
แม้จะสบายใจได้ระดับหนึ่งว่า ฟิล์มยืดที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ตัวการก่อมะเร็งอย่างที่ลือกัน แต่การใช้งานอย่างถูกวิธีก็ยังสำคัญที่สุด กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) รวมถึงหน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารในหลายประเทศ แนะนำหลักการง่าย ๆ 3 ข้อ ดังนี้
- เช็กฉลากให้ชัวร์ ไม่ใช่ฟิล์มทุกชนิดจะทนความร้อนได้เท่ากัน ก่อนใช้ ควรอ่านฉลากให้แน่ใจว่าระบุข้อความ “Microwave Safe” หรือ “ใช้กับไมโครเวฟได้” อย่างชัดเจน หากไม่ระบุไว้ ห้ามนำเข้าเวฟเด็ดขาด!
- เว้นระยะห่าง อย่าให้สัมผัสอาหาร หัวใจสำคัญที่สุด! เวลาปิดหุ้มภาชนะ ต้องแน่ใจว่าตัวฟิล์ม “ไม่สัมผัสโดยตรง” กับผิวหน้าของอาหาร เพราะความร้อนสูงอาจทำให้ฟิล์มละลายหรือหดตัวติดอาหารได้ในจุดที่สัมผัสกัน
- เปิดช่องระบายไอน้ำ ก่อนกดปุ่มเริ่มอุ่น ควรใช้ปลายมีดหรือส้อมเจาะฟิล์มให้เป็นรูเล็กๆ สัก 1-2 รู หรือแง้มมุมฟิล์มเปิดไว้เล็กน้อย เพื่อให้ไอน้ำที่เกิดขึ้นระหว่างการอุ่นมีทางระบายออก ป้องกันไอน้ำดันฟิล์มจนตึง หรืออาจเกิดแรงดันจนภาชนะเสียหายได้
คำแนะนำเพิ่มเติม เลือกซื้อฟิล์มยืดหุ้มอาหารจากผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือ มีชื่อ ที่อยู่ ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ และถ้าให้ดี ควรเลือกชนิดที่มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานความปลอดภัย (เช่น เครื่องหมาย อย. ของไทย) เพื่อความมั่นใจสูงสุด
สรุปแล้ว ข่าวลือเรื่องฟิล์มยืดในไมโครเวฟก่อมะเร็งนั้น ส่วนใหญ่เป็นความเข้าใจผิด หรือการตีความข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ตราบใดที่เราเลือกใช้ฟิล์มประเภท “Microwave Safe” และปฏิบัติตาม 3 ข้อง่าย ๆ ข้างต้น ก็สามารถอุ่นอาหารได้อย่างสะดวกและปลอดภัย หายห่วงเรื่องสารเคมีอันตรายแล้วล่ะ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 5 เทคนิคเลือกมัจฉะง่าย ๆ ฉบับคนขี้เกียจ ไม่ต้องเซียนก็อร่อยได้
- เปิดตำรา 4 กล้วยห้ามซื้อ พร้อมเคล็ดลับเลือกหวี ให้ได้รสหวานฉ่ำ
- ไข่ไก่ ทำไขมันในเลือดสูง? ความเชื่อเก่าๆ VS ความจริง อันไหนถูก
อ้างอิง: Soha VN