เช็กอาการ แมลงริ้นฝอยทรายกัด เสี่ยงโรคลิชมาเนีย ติดเชื้อ 40 ราย ป้องกันก่อนสาย

กรมควบคุมโรค เตือนภัย โรคลิชมาเนีย ภัยร้ายหน้าร้อนจากแมลงริ้นฝอยทราย ปี 68 พบแล้ว 2 ราย เสียชีวิต 1 รู้จักอาการ แนะป้องกันตัวเองจากการถูกกัด สังเกตอาการเบื้องต้นก่อนสาย
อย่าชะล่าใจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง “โรคลิชมาเนีย” (Leishmaniasis) หรือ โรคติดเชื้อปรสิตที่นำโดยแมลงริ้นฝอยทราย เป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนีย มักพบได้ในเขตร้อนชื้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของแมลงพาหะ แม้โรคนี้จะยังไม่แพร่หลายในไทย แต่มีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้เสียชีวิต หากรู้จักโรคและวิธีป้องกันไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า ประเทศไทยพบโรคลิชมาเนียมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ข้อมูลสะสมถึงปัจจุบัน มีรายงานผู้ป่วยรวม 45 ราย และเสียชีวิต 7 ราย โดยเฉพาะในปี 2568 พบผู้ป่วยแล้ว 2 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับเชื้อจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศเช่นกัน
ขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุง และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าไปในป่า หรือพื้นที่ชื้นแฉะควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณบ้าน ไม่ให้มีกองไม้/กองฝืน เศษใบไม้ทับถม และพื้นที่ชื้นแฉะ

รู้จัก ‘โรคลิชมาเนีย’ เช็กอาการเบื้องต้นหลังถูกกัด
โรคลิชมาเนียเกิดจากเชื้อปรสิตลิชมาเนียที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการกัดของริ้นฝอยทรายตัวเมียที่มีเชื้อ อาการแสดงจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย แบ่งเป็น 3 ลักษณะหลัก
1. อาการทางผิวหนัง (Cutaneous – CL) เริ่มจากตุ่มแดง คัน บริเวณที่ถูกกัด แล้วค่อยๆ กลายเป็นแผลเรื้อรัง ขอบแผลนูนแข็ง อาจเป็นแผลหลุม แผลแห้งมีสะเก็ด หรือแผลเปียกแฉะ อาจมีแผลเดียวหรือหลายแผล
2. อาการทางเยื่อบุ (Mucocutaneous – MCL) เชื้อลามไปทำลายเยื่อบุในช่องจมูก ช่องปาก หรือลำคอ ทำให้เกิดแผลเรื้อรัง อาจมีเลือดกำเดาไหล จมูกอุดตัน หายใจลำบาก เสียงเปลี่ยน หรือใบหน้าผิดรูปได้
3. อาการทางอวัยวะภายใน (Visceral – VL / Kala-azar) เป็นชนิดที่รุนแรงที่สุด เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะภายใน เช่น ตับ ม้าม ไขกระดูก ผู้ป่วยจะมีไข้เรื้อรังนานเกิน 10 วัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีด ตับโต ม้ามโต หากไม่รักษา อาจเสียชีวิตได้
ริ้นฝอยทราย พาหะตัวจิ๋ว แต่ร้ายกาจ
สำหรับริ้นฝอยทรายมีตัวมีขนาดเล็กกว่ายุง 4-5 เท่า อาจมีสีดำ ขาว น้ำตาล มีขนปกคลุมทั่วตัว รูปปีกเหมือนปลายหอก ปีกตั้งเป็นรูปตัว V ตัวเมียกินเลือดทั้งคนและสัตว์ หากินไม่ไกลจากแหล่งอาการ ออกหากินมากตอนพลบค่ำ และออกหากินตลอดทั้งคืน ช่วงเวลากลางวันที่มืดครึ้มก็ออกหากินได้เหมือนกัน ตัวเมียจะวางไข่ตามพื้นดินชื้นแฉะที่มีอินทรีย์สูง เช่น คอกสัตว์ กองขยะ ใบ้ไม้ทับถม รูหนู โพรงไม้ โพรงดิน เป็นต้น

ใครเสี่ยงโรคลิชมาเนีย พื้นที่ไหนต้องระวัง?
- ผู้ที่อาศัยหรือทำงานใกล้แหล่งเพาะพันธุ์ริ้นฝอยทราย เช่น ป่าเขา พื้นที่เกษตรกรรม คอกสัตว์
- ผู้ที่ทำกิจกรรมในป่า ล่าสัตว์ หาของป่า เข้าถ้ำ
- ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นแหล่งระบาด
- ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV
มาตรการป้องกันสำคัญ ลดเสี่ยงโรค
1. ป้องกันตนเองไม่ให้ถูกกัด
- ทายากันยุง/แมลง ที่มีส่วนผสมป้องกันริ้นฝอยทรายได้
- สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาว เสื้อผ้าหนา สีอ่อน ปกปิดร่างกายให้มิดชิดเมื่อเข้าพื้นที่เสี่ยง
- หลีกเลี่ยงการอยู่นอกบ้าน หรือใกล้แหล่งเพาะพันธุ์ ในช่วงเวลาพลบค่ำ-กลางคืน
2. ควบคุมพาหะ (ริ้นฝอยทราย) ปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน กำจัดกองขยะ ใบไม้ทับถม ลดความชื้นแฉะ เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์
3. ควบคุมสัตว์รังโรค จัดการที่อยู่สัตว์เลี้ยงให้อยู่ห่างตัวบ้าน ป้องกันสัตว์เลี้ยง (สุนัข, แมว) ไม่ให้ถูกริ้นกัด (เช่น ใช้มุ้ง/ปลอกคอชุบสารเคมี) หากพบสัตว์ติดเชื้อให้ปรึกษาหน่วยงานปศุสัตว์/สัตวแพทย์
4. กำจัดเชื้อในผู้ป่วย หากมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว เพื่อลดการแพร่เชื้อต่อ
5. เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ที่กลับจากประเทศแหล่งโรค ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากมีอาการน่าสงสัย ควรรีบพบแพทย์ทันที
ส่วนวิธีการรักษาโรคลิชมาเนียสามารถรักษาได้ด้วยยา ทั้งยาทา ยารับประทาน และยาฉีด แต่ยาฉีดบางชนิดมีผลข้างเคียงรุนแรง ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความรุนแรงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ให้ตระหนักและปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันตนเองและคนในครอบครัว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตายแล้ว 2 โรคลิชมาเนีย ปรสิตกินผิวหนัง แผลเหวอะหวะ เช็กวิธีป้องกัน
- ระบาดหนัก “ขนม-ลาบูบู้” เสพแล้วหมดสติ กล้ามเนื้อเกร็ง ตายแล้ว 2 ศพช่วงสงกรานต์
- ลุยจับเข้ม คนเสพ-ค้า ยาอี “ลาบูบู้” ล่าสุดหัวใจล้มเหลว ตายแล้ว 2 ไอซียู 1