ตายแล้ว 2 โรคลิชมาเนีย ปรสิตกินผิวหนัง แผลเหวอะหวะ เช็กวิธีป้องกัน

อย่าชะล่าใจ โรคลิชมาเนีย อันตรายจากริ้นฝอยทราย ติดเชื้อในประเทศแล้ว 14 คน เช็กอาการหลังถูกกัด แนะนำวิธีป้องกันตนเอง
ภัยอันตรายที่มากับอากาศร้อน มีเรื่องน่ารู้และควรระวังเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่มากับแมลงตัวเล็ก ๆ ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้ย้ำเตือนถึงภัยที่มาจาก ‘โรคลิชมาเนีย’ (Leishmaniasis) คล้ายปรสิตกินผิวหนัง เป็นโรคที่มีอยู่จริง และมีการตรวจพบผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว แม้จะยังไม่ใช่โรคที่แพร่หลายก็ตาม
สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ ภาพแผลจากเพจ Drama-addict ไม่ใช่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในประเทศไทย แต่เป็นเคสของเด็กชาวเวเนซูเอลาที่ติดเชื้อมาจากประเทศต้นทาง และอาการปรากฏระหว่างการเดินทางข้ามประเทศ

สำหรับ ‘โรคลิชมาเนีย’ เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากปรสิตเซลล์เดียวขนาดเล็กชื่อลิชมาเนีย (Leishmania) โดยมีแมลงพาหะสำคัญคือ ริ้นฝอยทราย (Sandfly) เมื่อริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อปรสิตไปกัดคน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังบริเวณที่ถูกกัด อาการที่ควรสังเกตหลังถูกริ้นฝอยทรายที่มีเชื้อกัดประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือนจะเริ่มมีอาการทางผิวหนัง มีตุ่มนูนแดง บริเวณที่ถูกกัด โดยตุ่มจะค่อย ๆ ขยายขนาดขึ้น และอาจกลายเป็น แผลเรื้อรัง ลักษณะขอบแผลนูนแข็ง ไม่เจ็บปวด ยกเว้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน

ริ้นฝอยทรายอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ในประเทศแถบตะวันออกกลาง และโซนร้อน ในไทยมีริ้นชนิดนี้เช่นเดียวกัน แต่เคสส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยชาวต่างชาติ และแรงงานไทยกลับจากแหล่งโรคในประเทศตะวันออกกลางนำเข้ามา รวมจำนวน 49 ราย และคนไทยติดเชื้อในประเทศ รวมจำนวน 14 ราย ตาย 2 ราย มีทั้งชาย หญิง และเด็ก
พื้นที่พบผู้ป่วยในประเทศกระจายอยู่ในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย น่าน กรุงเทพฯ จันทบุรี พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และตรัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจังหวัดทางภาคใต้
รู้จักวิธีป้องกัน 5 มาตรการหลักสกัดโรคลิชมาเนีย
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้สรุปแนวทางป้องกันโรคลิชมาเนียซิส ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตัวในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
1. กำจัดต้นตอในผู้ป่วย ค้นหาผู้ป่วยโรคลิชมาเนียให้พบโดยเร็ว ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่มีอาการ แล้วให้การรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว จนหายขาด เป็นการตัดวงจรไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่ริ้นฝอยทรายตัวอื่น
2. ควบคุมและกำจัดพาหะ ลดจำนวนริ้นฝอยทราย ซึ่งเป็นตัวนำโรค ทำได้โดย ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ดูแลความสะอาดและจัดระเบียบบริเวณบ้านและนอกบ้าน ไม่ให้เป็นแหล่งรกทึบ อับชื้น และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ กำจัดแหล่งน้ำขัง หรือบริเวณที่ริ้นฝอยทรายอาจใช้เป็นที่วางไข่
3. ควบคุมและกำจัดสัตว์รังโรค สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ ควรจัดการที่อยู่สัตว์เลี้ยง เช่น คอกสัตว์ หรือที่อยู่สัตว์เลี้ยง ควรห่างจากตัวบ้านอย่างน้อย 10 เมตร รวมทั้งป้องกันสัตว์ หากเลี้ยงในบ้านหรือใกล้บ้าน ควรให้สัตว์นอนในมุ้ง หรือใช้มุ้งชุบสารเคมีไล่แมลง หรือใช้ปลอกคอชุบสารเคมี (ตามคำแนะนำ) ในช่วงกลางคืน
กำจัดสัตว์ติดเชื้อ หากพบสัตว์มีเชื้อลิชมาเนีย ควรปรึกษาสัตวแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินการกำจัดอย่างถูกวิธี
4. ป้องกันตนเองจากการถูกกัด
- ทายากันยุง/แมลง : ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่สามารถป้องกันริ้นฝอยทรายได้
- สวมเสื้อผ้าปกปิด : ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า เมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น ป่า ถ้ำ สวน ไร่
- นอนในมุ้ง : ใช้มุ้งเสมอเมื่อนอนหลับ โดยเฉพาะมุ้งชุบสารเคมี จะเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน
- หลีกเลี่ยงช่วงเวลาเสี่ยง : ริ้นฝอยทรายมักออกหากินมากในช่วงพลบค่ำและกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวในพื้นที่เสี่ยง
5. ข้อควรระวังพิเศษสำหรับกลุ่มเสี่ยง
- ผู้ติดเชื้อ HIV : ควรป้องกันตนเองจากการถูกริ้นฝอยทรายกัดอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อ HIV
- ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ : แรงงานไทย หรือผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่เป็นแหล่งระบาดของโรค หากมีประวัติถูกริ้นฝอยทรายกัดบ่อย ๆ และต่อมามีอาการที่น่าสงสัย เช่น ตุ่มหรือแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยังต้องระวัง ดัชนีความร้อน กทม. วันนี้ 24 เม.ย. อยู่ระดับอันตราย 42.0-51.9 องศาฯ
- พาณิชย์ วอนห้าง ตรึงราคาหมู รับแพง เหตุอากาศร้อน ทำน้ำหนักลด ต้นทุนพุ่ง
- หัวรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง ‘ลิงคอล์น’ ละลาย หลังเจออากาศร้อนจัดกว่า 37 องศา