ข่าว

เปิดบทบาท พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู ในพิธีรับตำแหน่งโป๊ปองค์ใหม่

ไขข้อข้องใจ บทบาท ‘พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู’ ในพิธีเลือกพระสันตปาปาองค์ใหม่ ไม่ใช่ผู้นำพิธี แต่เพราะอาวุโสสุดในฐานะคาร์ดินัลสงฆ์ จึงรับหน้าที่อ่านบทภาวนา

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ลำดับที่ 266 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกต่างจับจ้องไปยังนครรัฐวาติกัน เพื่อรอการประกอบพิธีพระศพและการประชุมเลือกตั้ง (คอนเคลฟ) สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ท่ามกลางความสนใจนี้ ได้มีสื่อหลายสำนักรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทของ พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู แห่งประเทศไทย ผู้อาวุโสที่สุดโดยเวลา จากบรรดาคณะพระคาร์ดินัล (College of Cardinals) ทั่วโลก

ล่าสุด (23 เมษายน 2568) คุณพ่อยอแซฟ ไพศาล ผู้ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนจักรโรมันคาทอลิก ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงข้อเท็จจริง ผ่านทางเฟซบุ๊ก J Phaisan Joseph เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสมณศักดิ์ และเปิดบทบาทของพระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู ในพิธีรับตำแหน่งโป๊ปองค์ใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ กรุงโรม โดยโพสต์ดังกล่าวระบุข้อความไว้ดังนี้

บทบาทของ พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู ในพิธีเข้ารับตำแหน่งของพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่
ภาพจาก : J Phaisan Joseph

“#พระคาร์ดินัลในพระศาสนจักร โรมันคาทอลิก มีสื่อหลายสำนักลงว่า พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู เป็นพระคาร์ดินัลที่อาวุโสที่สุด ในคณะพระคาร์ดินัล (College of Cardinals) ทั่วโลก และท่านจะเป็นผู้นำในพิธีรับตำแหน่งของพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ จึงอยากอธิบายเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ตำแหน่ง พระคาร์ดินัล เป็นฐานันดร (hierarchy) ไม่ใช่ศีลบวช (Holy Orders) โดยพระสันตะปาปาจะเลือกผู้มารับตำแหน่งด้วยพระองค์เองอย่างอิสระ และไม่จำเป็นต้องเลือกจากพระสังฆราช แม้พระสงฆ์ก็สามารถถูกเลือกได้ หากผู้ถูกเลือกเป็นพระสงฆ์ เมื่อได้รับเลือกแล้วจะได้รับศีลบวชเป็นพระสังฆราช แต่เจ้าตัวอาจขอที่จะไม่รับศีลบวชขั้นนี้ได้ด้วยเหตุผลที่จำเป็น ดังเช่นพระคาร์ดินัล Raniero Cantalamessa, OFM Cap.

ในฐานันดรนี้ ยังแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ

พระคาร์ดินัล-สังฆราช (Cardinal-Bishop)

พระคาร์ดินัล-สงฆ์ (Cardinal-Priest)

พระคาร์ดินัล-สังฆานุกร (Cardinal-Deacon)

โดยขึ้นกับพระสันตะปาปาว่าจะแต่งตั้งให้อยู่ในระดับใด และสามารถเลื่อนระดับได้โดยพระองค์เอง เช่น พระคาร์ดินัล Luis Antonio Tagle เมื่อครั้งแรกรับการแต่งตั้งในระดับสงฆ์ เมื่อไปทำหน้าที่ที่สมณกระทรวงประกาศพระวรสาร ได้ถูกเลื่อนจากระดับสงฆ์ เป็นระดับสังฆราช

และบรรดาพระคาร์ดินัลสังฆราชจะเลือกผู้ที่มีอาวุโส เพื่อให้พระสันตะปาปาผ่านความเห็นชอบ ให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล (Dean of the College of Cardinals)

ส่วนพระคาร์ดินัลสงฆ์ที่มีอาวุโสที่สุด จะมีตำแหน่งหัวหน้า (Protopriest) โดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกันกับพระคาร์ดินัลสังฆานุกร (Protodeacon)

พระคาร์ดินัลไมเคิล มีชัย กิจบุญชู
ภาพจาก : J Phaisan Joseph

ในพิธีเข้ารับตำแหน่ง (Inauguration) ของพระสันตะปาปา ซึ่งไม่ใช่ศีลบวชเช่นกัน หัวหน้าพระคาร์ดินัลสังฆานุกร (Protodeacon) จะเป็นผู้สวมปัลลีอุม (Pallium) ให้พระองค์ จากนั้นหัวหน้าพระคาร์ดินัลสงฆ์ (Protopriest) จะกล่าวบทภาวนา และหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล (Dean) จะสวมแหวนชาวประมง (Fisherman Ring) ให้พระองค์ เป็นลำดับสุดท้าย

เรื่อง อาวุโส (senior) ในบริบทเหล่านี้ นับที่ระยะเวลาการเป็นพระคาร์ดินัล เป็นหลัก ไม่ใช่นับอายุ ดังนั้นตอนนี้ พระคาร์ดินัลมีชัย จึงเป็นพระคาร์ดินัลที่อาวุโสที่สุดในคณะพระคาร์ดินัลทั่วโลก ท่านได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 1983 ซึ่งบรรดาพระคาร์ดินัลที่ได้รับการแต่งตั้งพร้อมท่านนั้น เหลือท่านเพียงผู้เดียวที่มีชีวิตอยู่ และท่านเป็นหัวหน้าพระคาร์ดินัลสงฆ์ ซึ่งจะทำหน้าที่อ่านบทภาวนาในพิธีเข้ารับตำแหน่งของพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ในคราวนี้”

จากข้อความข้างต้น ในพิธีเข้ารับตำแหน่งพระสันตปาปา องค์ที่ 267 ของศาสนจักรโรมันคาทอลิก ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงโรมในเร็ว ๆ นี้ พระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู จึงจะเป็นผู่ทำหน้าที่ในการกล่าวบทภาวนา แต่สำหรับผู้ที่มีบทบาทหลักในภาพรวม แท้จริงแล้วคือ หัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล (Dean) และหัวหน้าพระคาร์ดินัลสังฆานุกร (Protodeacon) ตามลำดับหน้าที่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button