ข่าวการเมือง

สนธิญา ยื่นสอบ “พีระพันธุ์” อ้าง DNA ลุงตู่-ถือหุ้น 3 บริษัท หลังนั่งรมว.

สนธิญา สวัสดี ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบการกระทำ “พีระพันธุ์” ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังอ้างดีเอนเอ “ลุงตู่” และถือหุ้น 3 บริษัทหลังขึ้นเป็น รมว.

วันนี้ (23 เม.ย.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งหมด 2 ประเด็นดังนี้

  • กรณีการอ้างถึงดีเอนเอ “ลุงตู่” หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ซึ่งไม่สามารถมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 12 ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
  • ประเด็นการถือหุ้นอยู่ใน 3 บริษัท หลังจากที่รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566

หลังยื่นหนังสือเรียบร้อย “สนธิญา” เผยว่าตนได้รับเอกสารจากประชาชนขอให้ตรวจสอบ “พีระพันธุ์” ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ จึงต้องการให้ ป.ป.ช. พิจารณา วินิจฉัย ไต่สวน และตรวจสอบข้อเท็จจริง 2 ประเด็นข้างต้น

ภาพจาก สนธิญา สวัสดี

นายสนธิญา กล่าวว่า กรณีที่นายพีระพันธุ์พูดถึง DNA ของ “ประยุทธ์” องคมนตรี ในหลายโอกาส รวมทั้งเพจของพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือบุคคลอื่นบุคคลใดก็ตามที่กล่าวถึงองคมนตรี ขณะนี้สถานะขององคมนตรีเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 12

ดังนั้นองคมนตรีไม่สามารถเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือพรรคการเมืองได้ แม้จะรัก เคารพ หรือนับถือกันมากเท่าใด แต่เราไม่สามารถดึงองคมนตรีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้ หากยังกระทำต่อไป ตนถือว่าการกระทำเหล่านั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นที่ 2 เรื่องการถูกกล่าวหาว่าเป็นกรรมการบริหารบริษัทและมีส่วนการพิจารณาหรือตัดสินใจ มีหุ้นส่วน ตั้งแต่ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ 77 เปอร์เซ็นต์ และ 10 เปอร์เซ็นต์ ของ 3 บริษัทนั้น หากเป็นไปตามนั้นจริง กระบวนการจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) มาตรา 160 (5) และมาตรา 179 (9) เพราะกรณีการเป็นกรรมการบริหารในบริษัทเอกชนหรือถือหุ้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหารต้องลาออกก่อนดำรงตำแหน่งนั้น ๆ โดยช่วงที่ตนตรวจสอบเรื่องนี้ พบว่าบางบริษัทยังมีชื่อนายพีระพันธุ์ดำรงตำแหน่งอยู่

อย่างไรก็ตาม หาก ป.ป.ช. ตรวจสอบและวินิจฉัยอย่างชัดเจน ว่า นายพีระพันธุ์ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารบริษัทเอกชนต่างเหล่านั้น ก็จะเข้าสู่กระบวนการการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ที่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 219

ภาพจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค – Pirapan Salirathavibhaga

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

yo

นักเขียนข่าว บทความทั่วไปประเภทไลฟ์สไตล์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาปรัชญา มศก. ติดต่อได้ที่อีเมล yo@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button