ย้อนประวัติ Foodpanda แอปส่งอาหารสีชมพูคู่เมืองไทย ก่อนปิดตัว เซ่นพิษเศรษฐกิจ

ย้อนรอย 10 ปี ประวัติ Foodpanda แอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์มบุกเบิกส่งอาหารในประเทศไทย บุกครบ 77 จังหวัด ลุยส่งของชำ แต่เจอคู่แข่งหิน-บทเรียนราคาแพง
ภาพของเหล่าไรเดอร์ในเสื้อแจ็กเกตสีชมพูสดใส เคยเป็นส่วนหนึ่งของทิวทัศน์บนท้องถนนเมืองไทย ไม่ว่าจะในเมืองใหญ่หรือตามต่างจังหวัด พวกเขาคือส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงวิถีการกิน การจับจ่ายของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ และหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญ ผู้บุกเบิกที่เข้ามาแต่งแต้มสีสันให้ตลาดนี้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คือ ฟู้ด แพนด้า Foodpanda แพลตฟอร์มที่เดินทางผ่านร้อนผ่านหนาวบนแผ่นดินไทยมากว่าทศวรรษ
ก้าวแรกของผู้บุกเบิก แพนด้าสีส้มในเมืองกรุง
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2555 ปีเดียวกับที่บริษัทถือกำเนิดขึ้นในระดับโลก (ด้วยฐานการก่อตั้งในเยอรมนีและการสนับสนุนจาก Rocket Internet) Foodpanda ก็ได้ปักหมุดหมายแรกในประเทศไทย ณ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นผู้ให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันรายแรกอย่างแท้จริง ในยุคที่การสั่งอาหารเดลิเวอรี่ยังไม่แพร่หลายเท่าวันนี้
ช่วงแรกเริ่มมีร้านอาหารเข้าร่วมเพียงราว 50 ร้าน การสั่งซื้อยังพึ่งพาเว็บไซต์และฮอตไลน์เป็นหลัก ก่อนที่แอปพลิเคชันบนมือถือในโลโก้หมีแพนด้าสีส้มอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม จะเปิดตัวตามมาในปี 2556 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สมาร์ทโฟนกำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยพอดี นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การสั่งอาหารจากร้านโปรดง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส
ระบายสีชมพูทั่วไทย จากกรุงเทพฯ สู่ 77 จังหวัด
หลังสร้างรากฐานในเมืองหลวง Foodpanda ค่อย ๆ ขยายปีกสู่หัวเมืองใหญ่ ทั้งพัทยา เชียงใหม่ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Foodpanda เป็นที่จดจำในวงกว้างคือการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปี 2560 เปลี่ยนโฉมสู่ สีชมพู Shocking Pink อันโดดเด่นสะดุดตา ไม่เพียงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง แต่ยังช่วยเพิ่มการมองเห็นและความปลอดภัยให้เหล่าไรเดอร์บนท้องถนน
การเปลี่ยนสีครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังการเข้าควบรวมกิจการโดย Delivery Hero บริษัทเดลิเวอรี่ระดับโลกจากเยอรมนีในปี 2559 ซึ่งเปรียบเสมือนการเติมทรัพยากรและองค์ความรู้ระดับสากลทำให้ Foodpanda มีกำลังในการเร่งขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดด
จนในปี 2563 แพลตฟอร์มสีชมพูประกาศความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็น ผู้ให้บริการรายแรกและรายเดียว ณ ขณะนั้น ที่มีเครือข่ายครอบคลุมครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ความสำเร็จนี้อาศัยกลยุทธ์ที่เข้าใจความต้องการของแต่ละท้องถิ่น (Hyperlocalization) ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เร่งให้ผู้คนหันมาพึ่งพาบริการเดลิเวอรี่มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
จากจานอร่อย สู่ของใช้ในชีวิตประจำวัน
Foodpanda ไม่ได้หยุดอยู่แค่การส่งมอบมื้ออร่อย พวกเขาพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ทั้งการลดระยะเวลาจัดส่งเฉลี่ยให้รวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มทางเลือก รับเองที่ร้าน (Pick-up) ไปจนถึงการต่อยอดสู่บริการ ทานที่ร้าน (Dine-in) และก้าวสำคัญคือการขยายสู่สมรภูมิ Quick Commerce หรือบริการจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่าน pandamart (คลังสินค้าของตัวเอง) และ foodpanda shops (ร่วมมือกับร้านค้าปลีก) ในปี 2563 ทำให้แพลตฟอร์มสีชมพูนี้ กลายเป็นผู้ช่วยในชีวิตประจำวันที่ครอบคลุมยิ่งกว่าเดิม พร้อมเสริมด้วยระบบสมาชิก pandapro ในปี 2564 เพื่อมัดใจลูกค้าประจำ
เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
แม้จะเติบโตอย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง แต่เส้นทางของ Foodpanda ในประเทศไทยก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป การแข่งขันในตลาดเดลิเวอรี่ทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Grab และ LINE MAN Wongnai เข้ามาท้าชิงส่วนแบ่งอย่างเต็มตัว สงครามราคาและโปรโมชั่นส่งผลให้ทุกค่ายต้องทุ่มงบประมาณมหาศาล
จากปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวนำไปสู่ภาวะ ขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ของ Foodpanda ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงปี 2562-2564 ที่ตัวเลขขาดทุนรวมสูงหลายพันล้านบาท นอกจากความท้าทายทางธุรกิจ กลางปี 2564 แพลตฟอร์มสีชมพูยังเผชิญ วิกฤตภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ จากประเด็นดราม่าทางการเมืองปมไล่ออกพนักงาน เรียกผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย จนนำไปสู่กระแสต่อต้านและเรียกร้องให้เลิกใช้บริการ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระยะหนึ่ง
ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน ในปี 2565 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของการดำเนินธุรกิจในไทย Foodpanda ประเทศไทยได้ต้อนรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการแต่งตั้ง คุณศิริภา จึงสวัสดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ถือเป็นผู้บริหารหญิงและผู้บริหารชาวไทยคนแรกขององค์กร การปรับเปลี่ยนครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณของการปรับกลยุทธ์ครั้งใหม่ เพื่อให้เข้าใจและตอบสนองต่อบริบทตลาดไทยได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
กระทั่งเมื่อวันพุธที่ 23 เมษายน 2568 Foodpanda ได้ประกาศ ขอแจ้งยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน foodpanda มีผลตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2568 พร้อมกับกล่าวคำอำลาครั้งสุดท้ายว่า
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ขับเคลื่อนธุรกิจร่วมจัดส่งความสุข ผ่านทุกๆ ออเดอร์ให้แก่ลูกค้าทุกท่านในประเทศไทย เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับใช้ลูกค้าที่รักยิ่งของเรา และได้รับการสนับสนุนที่ดีมาโดยตลอดจากร้านค้า พารท์เนอร์ และไรเดอร์ทุกท่าน ที่ร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของฟู้ดแพนด้าอีกต่อไป
เรามีความเสียใจอย่างยิ่งที่การเดินทางของเราต้องสิ้นสุดลง และเราขอขอบพระคุณลูกค้าทุกๆ ท่านที่เชื่อมั่นในฟู้ดแพนด้าเสมอมา ขอแสดงความนับถือ ฟู้ดแพนด้า ประเทศไทย”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สรุปดราม่าร้อน #แบนfoodpanda ไล่ออก พนง. เรียกผู้ชุมนุม ก่อการร้าย
- เช็กเลย ร้านอาหาร่วมใจยกเลิกขายกับ Foodpanda หลังดราม่า #แบนFoodpanda
- ด่วน! ฟู้ดแพนด้า แจ้งข่าวเศร้า ยุติให้บริการในไทย 23 พ.ค. เผยสาเหตุ