เตือนอีกครั้ง เขียนปากกาเมจิก บนถุงอาหาร หมึกซึมเข้าของกิน อ.เจษฎ์ ย้ำ เสี่ยงมะเร็ง

ลูกค้าสาวเปิดภาพ ร้านใช้ปากกาเมจิกเขียนบนถุงอาหาร หมึกซึมเข้าของกิน วอนให้รับผิดชอบ อ.เจษฎ์ ย้ำชัด เสี่ยงหมึกซึมปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง แนะเลี่ยง ใช้สติกเกอร์ หรือเลือกถุงที่ได้มาตรฐาน
ยังคงเป็นประเด็นเตือนภัยผู้บริโภคที่เจอซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์เล่าประสบการณ์ ‘เค็มหวานทะลุถุง’ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก พวกเราคือผู้บริโภค เล่าถึงภัยอันตรายใกล้ตัว จากการที่ร้านค้าใช้ “ปากกาเมจิก” เขียนลงบนถุงพลาสติกบรรจุอาหารโดยตรง จนหมึกซึมทะลุเข้าไปปนเปื้อนในอาหาร
โพสต์ดังกล่าวระบุไว้ว่า “เค็มหวานทะลุถุง เนื่องจากสั่งออเดอร์คล้ายกันหลายอย่าง แม่ค้ากลัวงง เลยเขียนกำกับมาให้ด้วย!
ฝากเตือนร้านค้าและผู้บริโภคทุกคน รณรงค์อย่าใช้หมึกเขียนบนถุงแบบนี้นะคะ มันซึมทะลุอาหารได้ update ! โทรไปแจ้งร้านค้าแล้ว
1. ร้านค้าบอกให้ตัดส่วนตรงที่ติดหมึกออกได้มั้ย?
: เราบอกว่าไม่น่าได้ค่ะ มันซึมเข้าหมู เส้น ลูกชิ้น
2. ร้านค้าบอกว่าจะคืนเงินให้ครึ่งนึงได้มั้ย เพื่อความสบายใจของทั้งคู่?
: เราบอกว่ามันกินไม่ได้เลยค่ะ พี่ส่งมาใหม่ได้มั้ยคะหนูก็ยังไม่ได้ทานข้าว (ส่วนตัวกินมาเกือบปี นี่เป็นครั้งแรก ที่พี่เค้าเขียน เพราะว่ากลัวลูกค้างงค่ะ)
3.จบที่แม่ค้าทำให้ใหม่ และจะนำมาส่งที่บ้านอีกครั้ง พร้อมขอดูอันเก่าที่มันซึมค่ะ “ร้านค้าเค้าเข้าใจว่า หมึกไม่น่าจะทะลุถุงเข้าไปได้ เพราะปกติเค้าไม่เคยเขียน”
ฝากเตือนกันด้วยนะคะ อีก 2 ถุงที่สั่งมา น้อง ๆ ทานไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่มีหมึกเขียนเหมือนกันแต่ ไม่ได้ทันสังเกตว่าซึมหรือไม่”

ไม่เพียงเล่าอุทาหรณ์ปากกาเมจิกเท่านั้น แต่ผู้ใช้รายนี้ยังได้แนบภาพหลักฐาน ที่เผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หมึกปากกาเมจิกสีน้ำเงินได้ซึมไปบนอาหารจริง ทั้งเส้นเล็ก หมู และลูกชิ้น มีร่องรอยของหมึกปากกาทั้งสิ้น ซึ่งภาพดังกล่าวได้สร้างความกังวลใจให้กับบรรดาผู้ใช้โซเชียลรายอื่น ๆ อย่างมาก
ท่ามกลางข้อความแสดงความคิดเห็นมากมาย ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เข้ามาคอมเมนต์ให้ความรู้เพิ่มเติมในประเด็นนี้ ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่ไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนถุงอาหาร และผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ดังนี้
“(รีโพสต์) ไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหารครับ .. เนื่องจากสีจากเมจิกอาจมีการซึมด้วยความร้อนและก่อให้เกิดมะเร็งได้
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาวและเป็นร่างแหของโพลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้น ก็มีช่องว่างเล็กๆ เมื่อพลาสติกถูกความร้อนส่งผลลให้เกิดการขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องว่างเหล่ามีพื้นที่กว้างขึ้น ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้
ขณะที่หมึกของปากกาเมจิกนั้น ก็เป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจจะซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น และซึมผ่านไปยังเนื้อของอาหาร ที่มีสภาพเป็นสารมีขั้วเช่นกันได้ แถมยิ่งอาหารร้อนมาก ก็จะยิ่งเกิดการซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นด้วย
เนื้อสีของปากกาเมจิก มีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิกครับ เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป แต่ควรหาวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน
ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยเตือนภัยเรื่องเช่นเดียวกันถึงปากกาเมจิกซึมทะลุอาหาร โดยแนะนำว่า “เตือนภัยปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร ควรเลือกใช้ถุงให้ถูกประเภท หรือ ถุงใส่อาหารที่ได้มาตรฐานสามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส สีหมึกจะไม่ซึมผ่านเข้าไป และไม่ควรใช้ปากกาเคมีมาเขียนบนถุงพลาสติก ที่ใส่อาหารโดยตรง ให้ใช้วิธีแปะสติกเกอร์ เลี่ยงการทานอาหาร ที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิก”

ขอเน้นย้ำไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคทุกท่าน ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ปากกาเมจิกเขียนบนถุงบรรจุอาหารโดยตรง ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีการติดฉลากหรือสติกเกอร์แทน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว
อย่างไรก็ดี โพสต์เตือนภัยในลักษณะนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในตลอดหลายปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยออกมาเตือนอุทาหรณ์ถึงเรื่องนี้ ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์อีกเป็นจำนวนมากที่ออกมาให้ความรู็เกี่ยวกับอันตรายของปากกาเมจิก แต่ถึงอย่างนั้นปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไป แม้จะลดน้อยลง แต่ก็ยังมีหลายร้านค้าที่ยึดถือในความสะดวกสบาย แต่ละเลยสุขอนามัยของผู้รับประทาน



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- พ่อค้าใช้ปากกาเมจิกเขียนบนถุงของกิน เตือนสารเคมีซึม เมื่อไหร่จะเลิกทำแบบนี้
- ลูกค้าแสบ สั่งอาหารแล้วเท โวยหิวแต่ไม่จ่ายเงิน ทิ้งร้านอาหารแบกภาระ
- เจอขนปริศนา ในยาแคปชูล ผู้บริโภคหวั่น จี้ อย. สอบด่วน