ข่าว

สธ. งัด 7 มาตรการ แก้ปมหมอลาออก จ่อประกาศ 3 พื้นที่เพิ่มสวัสดิการ-ลดใช้ทุน

สธ. แถลงแก้ปัญหาหมอลาออก ชู 7 มาตรการเร่งด่วน จ่อประกาศ 3 จังหวัด เป็นพื้นที่พิเศษ เพิ่มสวัสดิการให้บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมดัน พ.ร.บ.ก.สธ. เป็นทางออกระยะยาว

จากกรณีสถานการณ์ไม่สู้ดีที่เกิดขี้นกับวงการบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะการลาออกของแพทย์ในระบบราชการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะบรรดาแพทย์ พยาบาล เภสัชกร จนถึงเจ้าหน้าที่เวรเปล ต่างต้องแบกรับภาระงานมหาศาลโดยไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินหน้าแก้ไขปัญหา “แพทย์ลาออก” และการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในทุกวิชาชีพอย่างจริงจัง โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานการประชุมผู้บริหาร สธ. และแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหาร สธ. เห็นพ้องว่า แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดในระยะยาว คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข พ.ศ. …. หรือ ร่าง พ.ร.บ.ก.สธ. ให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการบุคลากรของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น ทั้งการบรรจุแต่งตั้ง, การกำหนดอัตราเงินเดือน, ค่าตอบแทนพิเศษ และสวัสดิการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับภาระงานและความต้องการของระบบสาธารณสุข

พ.ร.บ. นี้สำเร็จ จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน แต่เนื่องด้วยขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกระบวนการทางกฎหมายดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

สธ. แก้ปัญหา หมอลาออก
ภาพจาก : moph

ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.ก.สธ. กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นเร่งด่วน 7 มาตรการ ดังนี้

1. กำหนดให้พื้นที่ที่มีปัญหาแพทย์ลาออกหรือขาดแคลนเป็นพื้นที่พิเศษ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และลดระยะเวลาชดใช้ทุนก่อนไปศึกษาต่อจากเดิม 3 ปี เหลือ 2 ปี โดยไม่นับเป็นการลา โดยมีคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาและการลาศึกษาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ที่มี นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณา ซึ่งที่จะมีการพิจารณาเร็ว ๆ นี้ คือ บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน และตาก

2. เพิ่มแพทย์เพิ่มพูนทักษะทั้งแบบฝึกเองและฝึกร่วม เพื่อให้มีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรตามที่กำหนด

3. ขอรับการสนับสนุนแพทย์เฉพาะทางจากพื้นที่ใกล้เคียง

4. เสริมระบบบริการด้วยระบบดิจิทัลสุขภาพและเทเลเมดิซีน รวมถึงปรับแนวทางให้แพทย์เกษียณอายุราชการสามารถทำงานต่อได้

5. กำหนดตำแหน่งข้าราชการรองรับแพทย์ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยต่างประเทศ กรณีไม่มีแพทย์ในระบบปกติไปบรรจุ ซึ่งขณะนี้ อกพ.สธ.ได้เห็นชอบแล้ว

6. พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ ซึ่งกำหนดสูงสุดไม่เกิน 3 เท่า

7. ดูแลด้านสวัสดิการ เช่น บ้านพัก การเดินทาง เป็นต้น

ทั้งนี้ นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัด สธ. กล่าวเสริมว่า แนวทางระยะสั้นเหล่านี้จะเริ่มนำร่องในพื้นที่พิเศษก่อน และการพิจารณาค่าตอบแทนจะคำนึงถึงภาระงานและความขาดแคลนเป็นสำคัญ โดยในส่วนของค่าตอบแทนนอกเวลา กรณีเพิ่ม 1 – 2 เท่า มีคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นประธานในการพิจารณา และกรณีมากกว่า 2 เท่าไม่เกิน 3 เท่า จะมีคณะกรรมการระดับเขตพิจารณา โดยนำเรื่องการขาดแคลนแพทย์และภาระงานมาเป็นเกณฑ์ด้วย

ในส่วนของการบรรจุแพทย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยเอกชนและต่างประเทศเป็นข้าราชการ จะไม่เป็นภาระงบประมาณของโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกรอบอัตราข้าราชการที่ ก.พ.อนุมัติและกรมบัญชีกลางกำหนดงบประมาณเป็นเงินเดือนอยู่แล้ว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button