
พิธีกรรม แช่ว่าน คืออะไร เสริมพลังชายชาตรี ขึ้นชื่อเลื่องลือ วัดเขาอ้อ พัทลุง อาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ ว่าน108 กับข้อห้ามสุดรุนแรงหากละเมิด ระวังเน่าใน
- พิธีแช่ว่าน สมัยก่อนใช้รักษาโรค ก่อนพัฒนาความเชื่อมาทางไสยเวทย์ เสริมพลังชายชาตรี
- คนแช่ว่าน ต้องรักษาศีล 5 ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น ข้อห้ามสำคัญ ห้ามเลียกี อมเค
- คนละเมิดศีลจะเน่าใน ชีวิตวิบัติ ทำมาค้าไม่ขึ้น ต้องทำพิธีล้างอาคม
แช่ว่าน คือพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมไทย โด่งดังสุดอยู่ที่ วัดเขาอ้อ จ.พัทลุง เปรียบดั่งสำนักตักศิลา ของไทย สืบทอดองค์ความรู้ทั้งทางไสยศาสตร์ เวทมนตร์ วิชาการมานับพันปี
การแช่ว่านคือการนำร่างกายลงไปแช่ในน้ำที่ผสมด้วยว่านยาสมุนไพร 108 ชนิด ซึ่งถูกเตรียมและปลุกเสกอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้รับพลังศักดิ์สิทธิ์อันหลากหลาย ทั้งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บในยุคแรก ต่อมากลายเป็นความเชื่อเรื่องความอยู่ยงคงกระพัน ฟันแทงไม่เข้า
ที่มาของพิธีแช่ว่าน จากการรักษาโรค สู่ความเชื่อเสริมชายชาตรี
แต่เดิม พิธีแช่ว่านมีจุดมุ่งหมายเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคผิวหนัง ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เกิดประสบการณ์ เรื่องเล่าถึงพลังที่เพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนจุดมุ่งหมายไปสู่การแสวงหาความอยู่ยงคงกระพัน ป้องกันภัย เสริมสร้างบารมีเหนือธรรมชาติ การแช่ว่านจึงมิใช่แค่การแพทย์พื้นบ้านอีกต่อไป แต่กลายเป็นพิธีกรรมชั้นสูงที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีข้อห้ามมากมาย เช่น ห้ามผิดศีล 5 โดยเฉพาะศีลข้อ 3 กาเมสุ มิจฉาจาร ห้ามกินอาหารที่ไม่เป็นมงคล ห้ามนอนใต้คาน หรือแม้แต่ห้ามด่าพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เพราะเชื่อว่าการฝ่าฝืนจะนำมาซึ่งความโชคร้ายและหายนะครั้งใหญ่
การเตรียมวัตถุดิบศักดิ์สิทธิ์ เครื่องบูชา
ว่านยา 108 ชนิด
หัวใจสำคัญของพิธีคือการใช้ว่านยาจำนวน 108 ชนิด ตัวอย่างว่านที่ระบุไว้ ได้แก่ บอระเพ็ด, กำลังควายถึก, กำลังคชสาร, ว่านสบู่เลือด, เหล็กไหล, หนุมานนั่งแท่น, กงจักรพระอินทร์, หอกโมกขศักดิ์ เป็นต้น
ตามธรรมเนียมแล้ว พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้เดินทางไปเสาะหาและเก็บว่านยาเหล่านี้ด้วยตนเอง เพื่อให้มั่นใจในความถูกต้องและสรรพคุณตามตำรา ก่อนนำว่านออกจากป่า จะต้องมีการทำพิธีบวงสรวงเจ้าป่าเจ้าเขาเสียก่อน การระบุจำนวน 108 ชนิดนี้เป็นจำนวนมงคลในความเชื่อไทย แม้จะมีบางกรณีที่กล่าวถึงการใช้ว่านกว่า 200 ชนิด ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละสำนักหรือการปรับปรุงสูตรในภายหลัง
เครื่องบูชาครู
เนื่องจากเป็นพิธีใหญ่สำคัญ เครื่องบูชาครูจึงต้องจัดเตรียมอย่างสมบูรณ์ รายการเครื่องบูชาที่ระบุไว้ประกอบด้วย หัวหมู 1 หัว, เครื่องในหมู 12 อย่าง, บายศรีใหญ่ที่มียอดประดับแหวนทองคำหนัก 1 บาท, หมากพลู 9 คำ, ธูปเทียน ดอกไม้, ตำราที่อาจจารึกลงบนหนังหมี (หนังสือหนังหมี), เหล็กกล้า, แผ่นยันต์ประจำทิศ และเงินบูชาครูจำนวน 32 บาท
การประกอบพิธีมีความซับซ้อน ตั้งแต่การรวบรวมว่านยาศักดิ์สิทธิ์ เช่น ว่านสบู่เลือด เหล็กไหล กำลังควายถึก ก่อนนำมาต้มด้วยฟืนไม้มงคลและลงอักขระเลขยันต์กำกับทุกขั้นตอน น้ำยาที่ได้จะถูกนำไปใส่ในรางยาขนาดใหญ่ ที่ผู้เข้าร่วมต้องแช่ตัวเป็นเวลา 3 ถึง 7 วัน โดยมีการถือศีลและปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ห้ามไม่ให้สตรีเข้ามาใกล้ระหว่างพิธี และต้องอยู่ในเขตมณฑลพิธีตลอดเวลา
หลังจากนั้นจะมีพิธี “กินข้าวเหนียวดำ” ที่ใช้ว่านยา 108 ชนิดต้มกับข้าวเหนียวดำ เพื่อเสริมความคงกระพันและเมตตามหานิยม โดยผู้ร่วมพิธีจะได้รับการป้อนข้าวเหนียวดำจากพระอาจารย์ในลักษณะพิเศษ พร้อมการบริกรรมคาถาเพื่อปลุกพลังให้เข้าสู่ร่างกาย
พิธีนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดวิชา ของวัดเขาอ้อ ซึ่งเป็นที่สุดปรารถนาจของความเป็นชายชาตรี
ขั้นตอนเตรียมน้ำยา แช่ว่าน บริกรรมคาถาระหว่างหย่อนลงแช่ตัว
เริ่มจากการเตรียมน้ำว่านยา ซึ่งมี 2 วิธีหลัก ได้แก่ วิธีแช่ยาดิบและวิธีแช่ยาต้ม
วิธีแรกนั้นจะนำว่านยาสดมาทุบให้ละเอียดผสมกับน้ำแล้วเทลงในรางยา แต่วิธีนี้มักไม่ค่อยนิยมเนื่องจากน้ำยาจะเน่าเสียได้ง่าย ส่วนวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่าคือวิธีแช่ยาต้ม โดยจะนำว่านยามาต้มในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในเขตมณฑลพิธี
ผู้ร่วมพิธีจะต้องนุ่งขาวห่มขาวและสมาทานศีลตลอดการต้ม เตาไฟที่ใช้จะวางบนก้อนเส้า 3 ก้อน ใช้ฟืนจากไม้มงคล เช่น ไม้ชัยพฤกษ์ ไม้กันภัย และไม้ขนุน ทั้งฟืนและอุปกรณ์ต่างๆ จะถูกลงอักขระเลขยันต์เพื่อเสริมความศักดิ์สิทธิ์ เช่น อักขระ “มะ อะ อุ” ที่นิยมใช้บริกรรม พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้บริกรรมคาถาปลุกเสกตลอดกระบวนการต้ม
เมื่อได้ที่แล้วจึงนำไปเทลงในรางยาที่จัดเตรียมไว้ โดยรางยาอาจเป็นอ่างสี่เหลี่ยมก่อด้วยปูน หรือเรือไม้ขนาดใหญ่ที่ขุดจากไม้ทั้งต้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไหล่เขาหรือถ้ำฉัตรทันต์บรรพตของวัดเขาอ้อ รางยานี้จะมีการลงอักขระเลขยันต์รอบด้านเพื่อเพิ่มความเข้มขลังให้แก่พิธี
ก่อนเริ่มแช่ว่าน ผู้เข้าร่วมพิธีจะต้องผ่าน “พิธีเกิดใหม่” เพื่อชำระล้างตนให้บริสุทธิ์ ซึ่งพระอาจารย์จะนำหญ้าคามาควั่นเป็นเชือกยาวเท่าความสูงของผู้เข้าร่วม เชือกจะถูกคล้องศีรษะไว้และปลายอีกด้านจะถูกเหยียบไว้ใต้เท้า จากนั้นพระอาจารย์จะบริกรรมคาถาแล้วใช้มีดตัดเชือกให้ขาด เป็นสัญลักษณ์แห่งการตัดขาดจากสิ่งเก่าๆ และการเกิดใหม่ด้วยกายใจบริสุทธิ์ พร้อมรับพลังจากว่านยา
หลังจากนั้นจะเริ่มลงแช่ในฤกษ์ยามที่กำหนด มักจะเลือกฤกษ์เวลา 09.00 น. ตามความเชื่อว่าเป็นช่วงเวลามงคลที่สุด ลำดับการลงแช่จะขึ้นอยู่กับกำลังวันเกิดตามหลักโหราศาสตร์ไทย (เช่น อาทิตย์กำลัง 6, จันทร์ 15, อังคาร 8, พุธ 17, พฤหัสบดี 19, ศุกร์ 21, เสาร์ 10) ผู้ที่มีกำลังวันสูงกว่าจะได้ลงก่อน หรืออาจเรียงลำดับวันเกิดจากวันอาทิตย์ไปจนถึงวันเสาร์ ผู้เข้าร่วมต้องก้าวเท้าซ้ายลงในรางยาก่อนเสมอ ถือเป็นธรรมเนียมที่เคร่งครัดอย่างมาก
ระหว่างที่แช่อยู่ในรางยา ผู้เข้าร่วมจะต้องเปลือยกายหรือสวมเพียงผ้าน้อยชิ้นเท่านั้น และต้องระวังอย่างมากที่จะไม่ให้น้ำว่านยาเข้าตาหรือหู เพราะเชื่อกันว่าความเข้มข้นของว่านยานั้นอาจทำให้ตาบอดหรือหูหนวกได้
ผู้แช่ต้องบริกรรมคาถา “เพ็ดชะคง เพ็ดชะคง มะอึก เพดชะต้าน เพ็ดชะต้าน มะอึก มะอะอุ” เพื่อเชิญพลังศักดิ์สิทธิ์จากว่านยาให้เข้าสู่ร่างกาย ตลอดระยะเวลาการแช่ที่ยาวนานประมาณ 3 วัน 3 คืน หรืออาจถึง 7 วันตามฤกษ์ที่กำหนด
ผู้เข้าร่วมพิธีต้องอยู่ในเขตมณฑลพิธีตลอด ห้ามออกนอกบริเวณโดยเด็ดขาด อาหารและการขับถ่ายจะต้องดำเนินการภายในพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น และมีพระอาจารย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญสตรีจะถูกห้ามไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเข้าใกล้บริเวณพิธีโดยเด็ดขาด
เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด พระอาจารย์จะนำผู้เข้าร่วมขึ้นจากรางน้ำว่าน แล้วจึงมีการบูชาครูด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และหมากพลู ถือเป็นการสิ้นสุดพิธีกรรมแช่ว่านอย่างสมบูรณ์ หลังจากนั้น ผู้ผ่านพิธีจะต้องดำเนินชีวิตตามข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อรักษาคุณสมบัติและพลังศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับจากพิธีกรรมนี้
ข้อห้ามสำคัญหลังเข้าร่วมพิธี
ข้อห้าม | |
ด้านศีลธรรม | รักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด |
ห้ามผิดลูกเมียผู้อื่น (ละเมิดศีลข้อ 3) | |
ห้ามด่าว่าบุพการี หรือ ครูบาอาจารย์ | |
ต้องประพฤติตนเป็นคนดี | |
ด้านเพศ | ห้ามร่วมเพศแบบผิดธรรมชาติ (เช่น ใช้ปาก อมจู๋ เลียกี) |
ห้ามให้ผู้หญิงคร่อม หรือ ข้ามตัว | |
ห้ามคบหาผู้หญิงที่ถือว่าเป็น “ค่อมดวง” (ดวงไม่สมพงษ์ หรือ ดวงตก) | |
ด้านอาหาร | ห้ามกินของดิบ หรือ สุกๆ ดิบๆ |
ห้ามกินปลาไม่มีเกล็ด (เช่น ปลาดุก ปลาไหล) | |
ห้ามกินพืชตระกูลแตงบางชนิด (เช่น ฟักแฟง น้ำเต้า) | |
ห้ามกินผักตำลึง | |
ห้ามกินมะละกอ | |
ห้ามกินผักที่ปลูกใต้ถุนบ้าน หรือ ใต้สะพาน (ผักใต้บ่อ) | |
ห้ามกินอาหารที่มีชื่อไม่เป็นมงคล | |
ด้านสถานที่/เวลา | ห้ามนอนใต้คานบ้าน |
ห้ามนอนใต้บันไดบ้าน | |
ห้ามเดินทางช่วงโพล้เพล้ใกล้ค่ำ (หากจำเป็น ให้รอจนมืดสนิท) |
ละเมิดข้อห้าม ชีวิตวิบัติ ต้องเข้าพิธีล้างอาคม แก้ของเข้าตัว
เข้าร่วมพิธีแช่ว่าน ถูกห้ามนักห้ามหนาอย่าผิดศีล เพราะจะส่งผลกระทบรุนแรง งพลังศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับมาจะเสื่อมถอย พลังนี้จะไม่เพียงแค่หายไปเฉยๆ แต่ยังมีโอกาสที่จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวผู้ละเมิดเอง อย่างยิ่งที่ร้ายแรงที่สุด คือสิ่งที่เรียกกันว่า “เน่าใน”
เน่าใน ทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วยหรือเสื่อมสภาพจากภายในโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปหาหมอหอจะบอกว่าเป็นโรคภัยเรื้อรัง ความเจ็บปวดที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือภาวะร่างกายทรุดโทรมที่เกิดขึ้นที่รักษาด้วยหมอแผนปัจจุบันไม่หาย
นอกจากสุขภาพ ชีวิตประจำวันจะเกิดอุปสรรคขัดข้อง ทำกิจการใดๆ ก็มักไม่ประสบความสำเร็จ มีภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นอยู่เสมอ มีปัญหากับคนรอบข้าง
โดยเฉพาะการผิดศีลข้อ 3 เรื่องชู้สาวหรือผิดลูกเมียคนอื่น ถือเป็นการละเมิดที่ร้ายแรงที่สุดในบรรดาข้อห้ามทั้งหมด เพราะเชื่อกันว่าอาจจะทำให้ชีวิตพลิกผันสู่ความหายนะ ส่งผลให้คู่กรณีที่ถูกละเมิดมีอารมณ์รุนแรง หรือต้องพบเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่คาดคิดในชีวิตตามมา
วิธีเดียวที่จะสามารถแก้ไขหรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ คือต้องกลับเข้าสู่ “พิธีล้างอาคม” โดยผู้ละเมิดจะต้องเข้ากรรมถือศีล ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดอีกครั้ง พร้อมทั้งเข้ารับการแช่ว่านชนิดอื่นที่มีพลังสำหรับถอนอาถรรพ์เก่าที่ติดตัวออกไป
ขั้นตอนนี้จะต้องทำโดยครูบาอาจารย์ที่เคยทำพิธีกรรมเดิมให้เท่านั้น ไม่สามารถทำเองหรือไปยังสำนักอื่นได้ ในบางกรณีผู้ละเมิดอาจจะต้องกลับไปทำพิธีแช่ว่านดั้งเดิมซ้ำอีกครั้ง เพื่อฟื้นคืนพลังและลบล้างอาถรรพ์ที่เกิดจากการผิดคำสัตย์ที่เคยให้ไว้กับครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์
โตโน่แช่ว่าน ก่อนดราม่าผิดศีลข้อ 3
ล่าสุดเรื่องราวของพิธีแช่ว่านกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อดาราหนุ่ม โตโน่ ภาคิน ถูกเปิดเผยว่าเคยเข้าร่วมพิธีแช่ว่านที่วัดเขาอ้อ จนมีการเชื่อมโยงกับประเด็นดราม่ารักสามเส้าที่กำลังเป็นข่าวร้อน โดยอาจารย์เปลี่ยน หัทยานนท์ ได้ออกมาเตือนว่าผู้แช่ว่านต้องรักษาศีลอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืน โดยเฉพาะศีลข้อ 3 จะนำมาซึ่งผลกรรมร้ายแรง ชีวิตติดขัด และอาจพบความรุนแรงจากคู่ของอีกฝ่าย