ประวัติ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา เส้นทางนักอาชญวิทยาแถวหน้าของไทย

ประวัติ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา นักอาชญาวิทยาเชิงจิตวิทยาและพฤติกรรมอาชญากร เส้นทางกว่าจะมาเป็น นักอาชญวิทยาแถวหน้าของไทย ประวัติการศึกษาไม่ธรรมดา เรียนจบมหาวิทยาลัยดังอังกฤษ
ในแวดวงข่าวดราม่า อาชญากรรม คดีความที่สลับซับซ้อนของพฤติการณ์ผู้ต้องหา ชื่อของ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา มักเป็นที่ต้องการของสื่อมวลชนมาร่วมผู้คุย วิเคราะห์เบื้องหลังการกระทำของคนร้าย โดยใช้ศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์วิคราะห์พฤติกรรมอาชญากร ถอดรหัสภาษากาย ให้มุมมองเชิงลึกทางอาชญาวิทยาแต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เส้นทางชีวิตและรากฐานทางวิชาการของ ดร.ตฤณห์ เป็นมาอย่างไร มารู้ไปพร้อมกัน
ประวัติ ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา เจาะลึกเส้นทาง นักอาชญวิทยาแถวหน้าของไทย
- Facebook: Aj. Trynh Phoraksa (ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา)
- Instagram: toni.trynh

ดร.ตฤณห์ ชื่อเล่น ตอง จบจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ในปี พ.ศ. 2554 เหตุผลส่วนหนึ่งคือความสนใจในสาขาวิชาที่เพิ่งเปิดใหม่เป็นปีแรก และมองว่า “งานวิจัย” เป็นเรื่องใหม่ที่น่าเรียนรู้สำหรับประเทศไทยในยุคนั้น การศึกษาด้านนี้ได้วางรากฐานความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมมนุษย์ ทฤษฎีทางสังคม ทักษะการวิจัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนที่จะมุ่งสู่สาขาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
หลังเรียนจบ ดร.ตฤณห์ ได้เข้าสอบรับราชการเป็น ตำรวจ นานถึง 6-7 ปี แต่พบว่า ประสบการณ์จริงในสายงานทำแตกต่างจากภาพที่วาดฝันกับความเป็นจริง จนเกิดความรู้สึกว่านี่อาจไม่ใช่เส้นทางที่ใช่สำหรับตนเอง
ด้วยความรู้สึกที่อยากเข้าใจปัญหาอาชญากรรมให้ลึกซึ้งขึ้น เพื่อนำความรู้มาพัฒนางานในกระบวนการยุติธรรม ประกอบกับตอนนั้นศาสตร์ด้านอาชญาวิทยาที่ยังไม่แพร่หลายนักในไทย ดร.ตฤณห์ จึงตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ด้านอาชญาวิทยาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี มีเปิดสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง
ดร.ตฤณห์ เลือกเรียนที่ University of Portsmouth ก่อนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (M.Sc.) สาขาอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Criminology and Criminal Justice) ในปี พ.ศ. 2559 ได้ซึมซับทฤษฎีและแนวคิดทางอาชญาวิทยาที่เป็นสากล เพิ่มพูนมุมมองและความรู้ให้กว้างขวาง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคโบราณ เช่น ยุคล่าแม่มด กระบวนการลงโทษในอดีต ไปจนถึงทฤษฎีอาชญากรรมต่างๆ ที่อธิบายสาเหตุเบื้องหลังพฤติกรรมของมนุษย์
แม้หลักสูตรจะเป็นเพียง 1 ปี (มีช่วงเรียนในห้องเรียนจริง 4 เดือน ที่เหลือเป็นการทำวิทยานิพนธ์) แต่ท่านใช้เวลาเกือบ 2 ปีในอังกฤษเพื่อซึมซับความรู้และประสบการณ์
เมื่อกลับมาประเทศไทย ดร.ตฤณห์ ได้ต่อยอดความเชี่ยวชาญในบริบทของสังคมไทย จากการศึกษาระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2563
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ดร.ตฤณห์ทำเรื่อง “เส้นทางชีวิตของนักโทษหญิงที่กระทำผิดซ้ำคดียาเสพติด” สำรวจเส้นทางชีวิต มูลเหตุจูงใจของนักโทษหญิง 7 ราย ที่กระทำผิดซ้ำคดียาเสพติดตั้งแต่เยาว์วัย พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระทำผิดซ้ำคือ การเริ่มใช้ยาตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งมักไม่ได้รับการบำบัดจริงจังแต่แรก, ปัญหาขาดความผูกพันในครอบครัว, อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน โดยเฉพาะในการชักชวนให้เริ่มเสพ, และสภาพจิตใจที่เปราะบางจากปัญหาในอดีต ปัจจัยรองลงมาคือ สภาพสังคม, การศึกษา, การติดยา และเศรษฐกิจ
ดร.ตฤณห์ ให้ข้อเสนอแนะเน้นความสำคัญของการบำบัดยาเสพติดให้หายขาดตั้งแต่ครั้งแรก, การทบทวนแนวทางการลงโทษให้สอดคล้องกับหลักสากล (Bangkok Rules), และการร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง ให้ความรู้ ฝึกอาชีพ และสร้างโอกาสให้ผู้ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำอย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ที่สนใจศาสตร์นี้ ดร.ตฤณห์ แนะนำว่า อาชญาวิทยาเป็น “สหวิทยาการ” ที่ต้องบูรณาการความรู้จากหลายด้าน ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีตรงสาย และสามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทได้ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในไทย เช่น มหิดล จุฬาฯ และรังสิต

บทบาทปัจจุบัน จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่การให้ทัศนะต่อสังคม
ปัจจุบัน ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา ดำรงตำแหน่ง อาจารย์ ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านอาชญาวิทยาและงานยุติธรรมให้กับนักศึกษา รวมถึงการทำงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ
นอกเหนือจากบทบาทในแวดวงวิชาการ ดร.ตฤณห์ ยังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านการทำงานร่วมกับสื่อมวลชน มักได้รับเชิญให้ไปวิเคราะห์พฤติกรรมในคดีอาชญากรรมที่เป็นที่สนใจของสังคม ทักษะที่โดดเด่นคือการนำความรู้ด้าน อาชญาวิทยา (Criminology) และ จิตวิทยาพฤติกรรม (Behavioral Psychology) มาประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการ วิเคราะห์ภาษากาย (Body Language Analysis) และ การจับโกหก (Lie Detection) เพื่อตีความพฤติกรรมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ยิ่งไปกว่านั้น ดร.ตฤณห์ ยังนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ โดยการเป็น ที่ปรึกษาให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในบางคดี เช่น คดีการเสียชีวิตของคุณแตงโม นิดา ซึ่งสะท้อนการเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการทำงานจริงในกระบวนการยุติธรรม
ความเชี่ยวชาญหลักของ ดร.ตฤณห์ ครอบคลุมทั้งอาชญาวิทยา จิตวิทยาพฤติกรรม จิตวิทยาสังคมศาสตร์ และพฤติกรรมศาสตร์ ส่วนประเด็นวิจัยที่ท่านสนใจและมีผลงานตีพิมพ์นั้นมีความหลากหลาย ตั้งแต่
- อาชญากรรมดิจิทัล การหลอกลวงออนไลน์, การตกเป็นเหยื่อ
- ยาเสพติด นโยบาย, การบำบัด, การกระทำผิดซ้ำ (โดยเฉพาะในผู้หญิง)
- เหยื่อวิทยารูปแบบและปัจจัยการตกเป็นเหยื่อ
- อาชญากรรมรุนแรง ฆาตกรต่อเนื่อง, อิทธิพลสื่อต่อความรุนแรง
- กระบวนการยุติธรรม ระบบราชทัณฑ์, การกระทำผิดซ้ำ
ดร.ตฤณห์ โพธิ์รักษา คือนักวิชาการด้านอาชญาวิทยาและจิตวิทยาพฤติกรรม ผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ทางวิชาการเข้ากับการวิเคราะห์สถานการณ์จริงในสังคมไทย เส้นทางการศึกษาที่ผสมผสานทั้งความรู้ในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับประสบการณ์ทำงานทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและการให้คำปรึกษาหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ท่านกลายเป็นนักอาชญาวิทยาที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง เป็นเสียงสำคัญที่ช่วยให้สังคมเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของอาชญากรรมได้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิงจาก: digital.car.chula.ac.th, thestatestimes