ศาลฎีกาอังกฤษ จ่อชี้ขาดนิยาม ‘ผู้หญิงแท้’ ตามกฎหมาย หวั่นกระทบสิทธิหญิงข้ามเพศ

ศาลฎีกาสหราชอาณาจักรชี้ขาดนิยาม ‘ผู้หญิง’ ใน ก.ม.ความเท่าเทียม เดิมพันสิทธิสตรี-คนข้ามเพศ กระทบพื้นที่เฉพาะเพศทั่ว อังกฤษ-สกอตแลนด์-เวลส์
วันที่ 16 เมษายน 2568 ศาลฎีกาสหราชอาณาจักรเตรียมประกาศคำวินิจฉัยสำคัญเกี่ยวกับคำจำกัดความของ “ผู้หญิง” ในทางกฎหมาย ซึ่งอาจกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการตีความสิทธิทางเพศตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียม (Equality Act) ปี 2010 ที่ใช้ทั่วอังกฤษ สกอตแลนด์ และเวลส์
คดีดังกล่าว เริ่มจากข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลสกอตแลนด์กับกลุ่มสิทธิสตรี “For Women Scotland” เกี่ยวกับกฎหมายที่รับรองสัดส่วนความเท่าเทียมทางเพศในคณะกรรมการภาครัฐ
โดยรัฐบาลสกอตแลนด์ได้รวมผู้หญิงข้ามเพศ ที่มี Gender Recognition Certificate (GRC) ไว้ในโควตาผู้หญิง ซึ่งกลุ่ม For Women Scotland ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า สิทธิที่อิงตามเพศควรสงวนไว้เฉพาะผู้หญิงโดยกำเนิดเท่านั้น
ข้อถกเถียงดังกล่าว สร้างความแตกแยกในสังคมอังกฤษช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยฝ่ายที่สนับสนุนสิทธิคนข้ามเพศมองว่า GRC คือการรับรองตามกฎหมายว่าได้เปลี่ยนเพศแล้ว และสมควรได้รับการคุ้มครองในฐานะเพศใหม่อย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับผู้หญิงทั่วไป
ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามให้เหตุผลว่า เพศควรยึดตามชีววิทยา ไม่ใช่เอกสาร และการให้สิทธิในลักษณะนี้จะกระทบต่อพื้นที่เฉพาะเพศ เช่น ห้องน้ำหญิง โรงพยาบาลเฉพาะทาง แผนกสูตินรีเวช เรือนจำหญิง และบ้านพักผู้ถูกกระทำความรุนแรง
คำวินิจฉัยของศาลฎีกา ซึ่งคาดว่าจะประกาศในเวลา 09.45 น. (เวลาท้องถิ่น) จะเป็นการตัดสินใจขั้นสูงสุดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เพศ” (sex) ในกฎหมายความเท่าเทียม ซึ่งระบุว่าห้ามเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศ และการแปลงเพศโดยตรง
หากศาลยืนตามมุมมองของรัฐบาลสกอตแลนด์ หมายความว่าคนข้ามเพศที่มี GRC จะได้รับการปฏิบัติในทางกฎหมายเสมือนเป็นเพศใหม่ในทุกบริบท รวมถึงการเข้าใช้พื้นที่เฉพาะเพศและการมีส่วนร่วมในนโยบายด้านแรงงานและสวัสดิการต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นด้วยกับกลุ่ม For Women Scotland ซึ่งนำเสนอโดยทนาย Aidan O’Neill KC ที่ย้ำว่า “เพศเป็นสภาวะทางชีววิทยาที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้” ก็จะเป็นการนิยามสิทธิที่อิงตามเพศโดยยึดตามเพศกำเนิดเท่านั้น
จากกรณีดังกล่าว องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty International แสดงความกังวลว่า คดีนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการลดทอนสิทธิของกลุ่มคนชายขอบอื่น ๆ หากศาลตีความถอยหลังจากกฎหมายความเท่าเทียม
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมแห่งสหราชอาณาจักร (EHRC) ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้มีความชัดเจนและรองรับสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ในปี 2022 รัฐสภาสกอตแลนด์เคยผ่านร่างกฎหมายที่จะทำให้การเปลี่ยนเพศตามกฎหมายทำได้ง่ายขึ้น แต่กลับถูกรัฐบาลกลางสหราชอาณาจักรยับยั้ง และจนถึงปัจจุบันรัฐบาลฮอลีรูดของสกอตแลนด์ก็ยังไม่ได้เดินหน้าร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เจ้าแม่แก๊งมาเฟีย’ ฆ้อนรัวทุบเหยื่อกลางถนน-ทรมานผัวเก่าจนตาย โป๊ะแตกเพราะอ้างเห็นผี
- สู้เพื่อเมีย! ดาราคนแคระ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฟ้อง รพ. ประมาททำภรรยาสิ้นใจ
- สิงคโปร์ ประกาศยุบสภา เตรียมเลือกตั้งใหม่ 3 พ.ค.