ดร.นงนุช ไขปม เหยื่อหลงเชื่อไฮโซเก๊หน้าตาธรรมดา ชี้จุดอ่อน แพ้โปรไฟล์หรู

ไขปม ทำไมสาวเก่ง-โปรไฟล์ดี ถึงตกเป็นเหยื่อของ ‘ไฮโซเก๊’ ทั้งที่หน้าตาธรรมดา? ‘ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์’ ชี้ คนเชื่อเรื่องแต่งมากกว่าหน้าตา แนะมองการกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด
จากกรณีอื้อฉาวของไฮโซเก๊ที่สร้างโปรไฟล์หรูหรา หลอกให้หลงรักและสูญเสียทรัพย์สิน ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นหญิงสาวที่มีโปรไฟล์ดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดผู้หญิงเหล่านี้จึงตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่บางครั้งก็ไม่ได้มีหน้าตาโดดเด่นกว่าคนทั่วไป
ล่าสุด ‘ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์’ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด และ Visiting Associate Professor, School of Electronics and Computer Science, University of Southampton สหราชอาณาจักร ได้ออกมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่น่าสนใจ เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะร่วมบางประการของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งช่วยให้เข้าใจถึงช่องโหว่ที่มิจฉาชีพมักใช้หาประโยชน์

1. ผู้หญิงเล่นแอพหาคู่หรือใช้โซเชียลมีลักษณะร่วมอย่างนึง คือ เปิดโอกาสให้ตัวเองได้คุยได้พบกับเพศตรงข้าม เป้าหมายคือการมีคู่ เลยพร้อมที่จะคุยกับคนที่ไม่เคยเจอกันมาก่อน ไม่เคยรู้จักกันโดยตรง โดยคนกลุ่มนี้เปิดโอกาสให้ตัวเองเจอคนเยอะ ก็ย่อมต้องมีซักคนที่เข้ามาหลอก และคนที่หลอกเองก็รู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายของคนกลุ่มนี้คือการหาคู่ การตกเหยื่อก็แค่เล่นบทผู้ชายในฝัน
2. ผู้หญิงที่รู้จักคนเยอะ มีความรู้ดี หรือมีรายได้สูงกว่าทั่วไป ซึ่งคนมาหลอกก็น่าจะตั้งใจเข้าหาเพื่อเปิดทางต่อให้ตัวเอง หรือไม่ก็หวังทรัพย์สิน กะเกาะผู้หญิงกินหลังจากตกเหยื่อได้แล้ว
3. ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็นเหยื่อไม่ค่อยเข้าใจหลักการทางธุรกิจ และแทบไม่มีคนรู้จักอยู่ในตำแหน่งสูง คนมาหลอกก็ใช้วิธีง่ายๆ คือ บอกเหยื่อว่าทำธุรกิจให้เหยื่อเห็นไลฟ์สไตล์เสมือนคนใหญ่คนโต และตัวเลขในบัญชี ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว คนที่มีตำแหน่งสูงหรือมีธุรกิจร่ำรวยจริง ไม่ใช้ชีวิตเอิกเกริก มีรถนำ เพราะถ้ามีศัตรูจริงอย่างที่ไฮโซปลอมอ้าง การเดินทางหรือใช้ชีวิตเป็นจุดเด่นแบบนั้น มันจะเป็นเป้าที่ถูกลอคได้ง่ายมาก อีกอย่างนักธุรกิจมีกิจการของตัวเองตัวจริง ไม่น่าว่างนั่งเฝ้าผู้หญิง 24 ชั่วโมง ทำแบบนั้นธุรกิจน่าจะเจ๊งแน่ไม่ช้าก็เร็ว
4. ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อมีความรู้ทางด้านการเงินจำกัด ฝ่ายคนที่มาหลอกจะใช้ช่องว่างใหญ่นี้ในการล่อเหยื่อ โชว์ว่ามีหลายบัญชี มีเงินในบัญชีเป็นสิบล้านร้อยล้าน แต่สมุดบัญชีมีรายการไม่กี่บรรทัด ในความเป็นจริงลองดูสมุดบัญชีของคุณที่เปิดมาซักปีนึง มันมีไม่กี่รายการจริง ๆ เหรอ แล้วของคนที่เปิดมาหลายปี ธุรกรรมหยุดไปตั้งแต่หลายปีก่อน มันเป็นไปได้เหรอ
สมมติว่าเขาใช้แอพดูยอดบัญชีเลยไม่ไปปรับสมุดก็พอจะเป็นเหตุผลได้อยู่ แต่ถ้าคุณเจอสมุดแบบนี้ไหน ๆ เค้าจะเปิดให้ดูละ ขอให้เค้าเปิดให้ดูในแอพไปเลยว่าตกลงยอดจริงมีอยู่เท่าไหร่ ไม่ต้องไปดูหรอกสมุดบัญชีน่ะ ซึ่งการมีสมุดบัญชีหลายเล่ม หลายธนาคารไม่ผิดอะไร แต่ตัวเลขสุดท้ายในสมุดบัญชีไม่ได้แปลว่านั่นเป็นยอดล่าสุดที่มีในบัญชี เพราะทุกวันนี้เราโอนเงินผ่านแอปฯ ได้ เพราะฉะนั้นของจริงเขาต้องเปิดให้คุณดูยอดล่าสุดในแอปฯ ธนาคาร
5. ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อไม่ได้คบคนที่หน้าตา รูปร่าง แต่อาจพอใจในโปรไฟล์ เชื่อในไลฟ์สไตล์หรือเรื่องประกอบที่ถูกสร้างขึ้น อาจเพราะมีการรับรู้หรือความเชื่อในบางเรื่อง เมื่อเรื่องที่คนมาหลอกสร้างขึ้นมีความใกล้เคียงสอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตัวเอง ก็อาจเข้าใจไปว่าเรื่องที่แต่งขึ้นนั้นมีความเป็นไปได้
ทั้งนี้ ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า “นี่เรียกว่า ไม่มี beauty bias หรือ ทัศนคติในการมองความสวยที่แตกต่างกัน แต่มี belief bias อคติที่ไม่รู้ตัวที่เกิดจากความเชื่อ มองคนให้มองที่การกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด มองคนให้มองที่ใจ ไม่ใช่แค่การกระทำ มองคนให้มองด้วยตา ไม่ใช่ประเมินด้วยใจ และมองคนให้มองแล้วคิด ไม่ใช่ประเมินด้วยตา”
ภาพจาก Facebook : Dr. Nuch Tantisantiwong
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กัน จอมพลัง แฉที่มาเข็มทัพอากาศ ไฮโซเก๊ รู้ของบริจาคแล้วอึ้ง ล่าสุดจ่อยึดคืน
- ไฮโซฮอต ประวัติดี เคยเป็นเด็กเก่งจิตอาสา ได้ลงหนังสือพิมพ์
- กองทัพอากาศ แถลงแจง ภาพ “ไฮโซฮอต” ตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว