ข่าว

โรงเรียนมุสลิม ไขสาเหตุ ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ ขัดหลักศาสนา เคารพวัฒนธรรมไทย แต่ทำตามไม่ได้

โรงเรียนมุสลิมแจงเหตุ ไม่ร่วมกิจกรรมสงกรานต์ เหตุขัดหลักศาสนา – ย้ำเคารพวัฒนธรรมไทย แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้

วันที่ 14 เมษายน 2568 โรงเรียนมุสลิม “โรงเรียนนูรอนียะฮ์วิทยา” ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจของโรงเรียน อธิบายเหตุผลที่ชาวมุสลิมไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ได้ แม้จะเข้าใจว่ากิจกรรมต่างๆ ในวันปีใหม่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประจำชาติ แต่บางรูปแบบของกิจกรรมสงกรานต์นั้น ขัดต่อหลักศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน

โดยทางโรงเรียนระบุว่า กิจกรรมสงกรานต์ เช่น การสรงน้ำพระ ไหว้พระ ขอพรจากพระ หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ล้วนถือว่าเป็นการละเมิดหลักเตาฮีด (การยึดมั่นในพระเจ้าองค์เดียว) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของศาสนาอิสลาม จึงไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวได้

นอกจากนี้ โรงเรียนยังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า บรรยากาศของเทศกาลสงกรานต์ในหลายพื้นที่มีลักษณะไม่เหมาะสม เช่น การแต่งกายเปิดเผย การสัมผัสทางเพศระหว่างชายหญิง การดื่มแอลกอฮอล์ การละเล่นที่มีความใกล้ชิดทางร่างกาย รวมถึงการกระทำที่ขัดต่อศีลธรรมและมารยาทอิสลาม

ทั้งนี้ โรงเรียนยังย้ำว่า แม้จะไม่เข้าร่วมกิจกรรม แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือดูหมิ่นวัฒนธรรมของไทย พร้อมทั้งเข้าใจถึงความสำคัญของวันสงกรานต์ต่อคนไทยส่วนใหญ่ แต่ขอให้สังคมเข้าใจว่าการเว้นจากกิจกรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อรักษาความศรัทธาและหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม

โรงเรียนยังทิ้งท้ายว่า อิสลามไม่อนุญาตให้เลียนแบบพิธีกรรมของศาสนาอื่น โดยเฉพาะถ้ากิจกรรมนั้นสื่อถึงอัตลักษณ์ของศาสนาอื่นอย่างชัดเจน เช่น การไหว้พระ หรือการกล่าวคำอวยพรที่มีนัยทางศาสนา

ทั้งนี้ ประวัติความเป็นมาของเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีดั้งเดิมของชาวไทยและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ เช่น ลาว พม่า และกัมพูชา

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต “สํกรานฺติ” แปลว่า “การเคลื่อนย้าย” ซึ่งในที่นี้หมายถึงการย้ายของดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษ ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติแบบโบราณ

ในอดีต เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ การทำบุญตักบาตร ขอขมาเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างเป็นสิริมงคล กิจกรรมสำคัญได้แก่ การสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อขจัดสิ่งไม่ดีออกไปก่อนเริ่มปีใหม่ บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความอบอุ่น ผูกพันในครอบครัวและชุมชน

เมื่อเวลาผ่านไป เทศกาลสงกรานต์ได้ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย กลายเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานและการเล่นสาดน้ำที่แพร่หลาย โดยเฉพาะในเขตเมืองและแหล่งท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกัน หลายชุมชนก็ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ เช่น การก่อเจดีย์ทรายและการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งสะท้อนถึงรากวัฒนธรรมของไทยที่ยังคงมีชีวิตชีวา

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำหนดให้วันที่ 13–15 เมษายนของทุกปีเป็นวันหยุดราชการช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยวันที่ 13 คือวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็นวันครอบครัว และวันที่ 15 เป็นวันผู้สูงอายุ

เทศกาลสงกรานต์ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ของชาติ และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติรอคอยในทุกปี.

ประวัติเทศกาลสงกรานต์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button