รร.ชี้แจง ไม่ได้ทำใบปพ.ผิด ปมเด็กถูกตัดสิทธิ ม.4 แก้ 0-มผ ไม่ทันรอบแรก

นักเรียน ม.3 ถูกตัดสิทธิ์เข้าเรียน ม.4 เพราะเอกสารไม่ครบ สพฐ.สั่งโรงเรียนปลายทางรับเข้าเรียนได้ ชี้เอกสารต้นทางไม่ได้ผิด — เปิดข้อเท็จจริงที่ควรรู้
กรณีเด็กนักเรียนชั้น ม.3 รายหนึ่งสอบผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อในระดับ ม.4 แต่กลับถูก “ตัดสิทธิ์” จากโรงเรียนปลายทาง เนื่องจากเอกสาร ปพ.1 ผิด กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างกว้างขวาง ล่าสุด เพจดัง “แม่หมอบิวติวเตอร์” ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลฝั่งโรงเรียนต้นทาง พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงที่สังคมควรเข้าใจ ว่าเอกสารใบปพ.ไม่ได้ผิด แต่ “นักเรียนจบช้า”
ตามข้อมูลจากฝั่งโรงเรียนต้นทาง นักเรียนคนดังกล่าวมีผลการเรียนบางรายวิชาที่ติด “0”, “ร”, หรือ “มผ” ส่งผลให้ไม่สามารถได้รับการอนุมัติจบหลักสูตรใน รอบที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2568 เหมือนกับนักเรียนคนอื่น แม้ต่อมาจะสามารถแก้ตัวจนผ่านเกณฑ์ได้เรียบร้อย แต่โรงเรียนมีระบบการอนุมัติจบและการออกเอกสาร ปพ.1 ตามรอบ ซึ่ง รอบถัดไป คือวันที่ 25 เมษายน 2568
เนื่องจาก ปพ.1 เป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้แบบฟอร์มที่สั่งพิมพ์จากเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อป้องกันการปลอมแปลง โรงเรียนจึงไม่สามารถออกฉบับจริงให้ก่อนวันดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม ทางโรงเรียนต้นทางได้ออกเอกสารสำเนา ปพ. และใบรับรองผลการเรียนชั่วคราวให้แล้ว เพื่อยืนยันว่านักเรียนจบการศึกษาแล้วจริง
โรงเรียนปลายทางยึดระเบียบ “ต้องใช้ฉบับจริงเท่านั้น”
เมื่อถึงกำหนดวันมอบตัว โรงเรียนปลายทางปฏิเสธการรับนักเรียนรายนี้ เนื่องจากเอกสาร ปพ.1 ฉบับจริงยังไม่ออก โดยอ้างอิงระเบียบการรับนักเรียนที่ระบุชัดว่า “ต้องใช้เอกสารฉบับจริงเท่านั้น” ส่งผลให้นักเรียนถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าเรียน
เมื่อเรื่องราวถูกแชร์ลงเน็ต จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ว่าการที่เด็กคนหนึ่งสามารถสอบเข้าได้ แต่ต้องเสียสิทธิ์เพราะระบบเอกสาร เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น จนต่อมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สั่งการให้โรงเรียนปลายทาง “อนุโลมรับนักเรียนไว้ก่อน” พร้อมกำชับให้นำเอกสารฉบับจริงมายื่นภายหลังเมื่อออกครบ
อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งเฉพาะเคสนี้ก็ทำให้เกิดเสียงสะท้อนจากอีกฝ่ายว่าการ “ยกเว้นกฎระเบียบ” อาจนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมกับเคสอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการผ่อนปรนเช่นเดียวกัน
โพสต์จากเพจแม่หมอบิวติวเตอร์เสนอว่า หากต้องการให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง อาจจำเป็นต้อง “ปรับหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน” เช่น อนุญาตให้โรงเรียนปลายทางสามารถรับนักเรียนที่ “จบการศึกษาภายในปีการศึกษาเดียวกัน” ได้ แม้ยังไม่มีเอกสารฉบับจริงในวันมอบตัว โดยใช้เอกสารรับรองชั่วคราวแทน
พร้อมทั้งเรียกร้องให้โรงเรียนและนักเรียนเห็นความสำคัญของการเรียนให้จบภายในรอบปกติ ไม่มี “0, ร, มผ, มส” เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต และไม่กระทบต่อโอกาสทางการศึกษาเรียนอย่างเป็นธรรมทั่วประเทศ.