ข่าว

เอ๋ มิรา ย้ำ คดีพรากผู้เยาว์ ยอมความไม่ได้ ครูไพบูลย์ จ่าย 8 แสน แต่เรื่องยังไม่จบ

เอ๋ มิรา ชลวิรัลวานิศร์ ย้ำชัด คดีพรากผู้เยาว์เป็น อาญาแผ่นดิน ยอมความกันไม่ได้ เงิน 8 แสนที่ได้ (เกินคำสั่งศาล) ขอมอบให้แม่ และตายาย ไม่ขอเก็บไว้เอง

ดูเหมือนมหากาพย์คดีความระหว่าง เอ๋ มิรา ชลวิรัลวานิศร์ และอดีตสามี ครูไพบูลย์ แสงเดือน จะยังไม่จบลงง่าย ๆ แม้เมื่อวานนี้ 9 เม.ย. 68 จะมีข่าวออกมาในทำนองว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจายุติคดีพรากผู้เยาว์ได้แล้ว โดยครูไพบูลย์ยอมจ่ายเงินค่าเสียหายถึง 8 แสนบาท และแม่ของเอ๋ มิรา ได้ยื่นหนังสือไม่ติดใจเอาความต่อศาล

ล่าสุดวันนี้ 10 เม.ย. 68 กลับเกิดคดีพลิกครั้งสำคัญ เมื่อทาง เอ๋ มิรา ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ โหนกระแส โดยยืนยันหนักแน่นว่า คดีอาญาในข้อหาพรากผู้เยาว์นั้น เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ยอมความไม่ได้ และคดีความยังคงต้องดำเนินต่อไปตามกระบวนการ ไม่ได้ยุติลงตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ

เอ๋ มิรา ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีที่มารดาของเธอเดินทางไปศาลเมื่อวานนี้ว่า เป็นเพียงการ “ไปรับเงินค่าเสียหายในส่วนที่ศาลบอก” ซึ่งหมายถึงค่าเสียหายจำนวน 350,000 บาท ที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ครูไพบูลย์ชดใช้ก่อนหน้านี้ ไม่ใช่การไปดำเนินการเพื่อยอมความหรือถอนฟ้องในคดีอาญาแต่อย่างใด

ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่ครูไพบูลย์ยินยอมจ่ายมา ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าคำสั่งศาลนั้น เอ๋ มิรา ระบุว่า “เงินทุกบาทที่ได้มาจากค่าเสียหาย ไม่ขอเก็บไว้สักบาท มอบให้แม่ ตา ยาย ตอบแทนที่ท่านเลี้ยงดูหนูมา” พร้อมแสดงความรู้สึกว่าอยากให้เรื่องนี้จบลงทางความรู้สึก ไม่อยากโกรธเกลียดหรือเครียดแค้นกับใครอีก

คำชี้แจงของ เอ๋ มิรา ครั้งนี้ ถือเป็นการออกมาโต้แย้งข้อมูลที่ถูกนำเสนอไปก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะโพสต์ของ “ทนายพัฒน์” ทนายความของเธอเอง และโพสต์ของ “ครูไพบูลย์” ที่ต่างสื่อสารไปในทิศทางว่าคดีความได้ข้อยุติแล้ว ผ่านการเจรจา การที่แม่ฝ่ายหญิงไม่ติดใจเอาความ และการจ่ายเงินค่าเสียหายที่สูงขึ้น

โหนกระแส เอ๋ มิรา ยืนยัน ยอมความไม่ได้
โหนกระแส

ทำไมคดีพรากผู้เยาว์ของ ครูไพบูลย์ ยอมความไม่ได้

ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายในกรณีนี้ คือ แม้ผู้เสียหายหรือครอบครัวอาจแถลงไม่ติดใจเอาความในส่วนแพ่ง หรือในคดีอาญาบางประเภทที่ยอมความได้ แต่สำหรับคดีอาญาแผ่นดิน เช่น คดีพรากผู้เยาว์และกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่อัยการเป็นผู้ส่งฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกครูไพบูลย์ 8 ปี (ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม) นั้น รัฐถือเป็นผู้เสียหาย และคดีไม่สามารถยอมความกันได้ กระบวนการทางศาลจึงต้องดำเนินต่อไปจนถึงที่สุด คือรอคำพิพากษาจากศาลฎีกา

ดังนั้น แม้จะมีการจ่ายเงิน 8 แสนบาท และแม่ของเอ๋ มิรา จะไม่ติดใจเอาความในส่วนตัวแล้ว แต่สถานะของครูไพบูลย์ในคดีอาญาหลัก ที่เสี่ยงต่อการรับโทษจำคุก 8 ปี ยังคงอยู่และต้องรอลุ้นผลคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง : โหนกระแส

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button