ข่าวต่างประเทศ

วิกฤตเงียบ พบ ไมโครพลาสติก ปนเปื้อนทั่วแม่น้ำสายหลักยุโรป

ทีมนักวิทย์ฯ ยุโรปศึกษา 9 แม่น้ำดัง ผลวิจัยช็อก พบ “ไมโครพลาสติก” ปนเปื้อนน่าห่วงทั่วแม่น้ำสายหลักยุโรป เฉลี่ย 3 ชิ้น/ลบ.ม. แหล่งกำเนิดมาจากอุตสาหกรรมถึง 1 ใน 4 จี้ลดการผลิตพลาสติกต้นทางก่อนสายเกินแก้

สัญญาณเตือนภัยครั้งใหม่เกี่ยวกับมลพิษพลาสติก สำนักข่าวต่างประเทศ straitstimes รายงานผลการศึกษาครั้งใหญ่จากทีมนักวิทยาศาสตร์ทั่วยุโรป ที่ตีพิมพ์พร้อมกันถึง 14 ฉบับในวารสาร Environmental Science and Pollution Research เผยให้เห็นสถานการณ์อันน่าตกใจว่า แม่น้ำสายหลักหลายแห่งทั่วยุโรป มีการปนเปื้อนของ “ไมโครพลาสติก” (Microplastics) ในระดับที่น่าเป็นห่วง

‘ฌอง ฟรองซัวส์ กิกลิโอเน’ (Jean Francois Ghiglione) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ประสานงานโครงการวิจัยขนาดใหญ่นี้ ซึ่งศึกษาแม่น้ำสายสำคัญ 9 สายทั่วยุโรป ตั้งแต่แม่น้ำเทมส์ (อังกฤษ) ไปจนถึงแม่น้ำไทเบอร์ (อิตาลี) ยืนยันว่า “มลพิษนี้มีอยู่จริงในแม่น้ำยุโรปทุกสาย” ที่ทำการศึกษา

ผลการวิเคราะห์พบระดับการปนเปื้อนที่น่ากังวล โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ไมโครพลาสติกต่อปริมาตรน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร ในทุกแม่น้ำที่สำรวจ ได้แก่ แม่น้ำเอลเบอ, เอโบร, การอน, ลัวร์, โรน, ไรน์, แซน, เทมส์ และไทเบอร์

แม้ว่าความเข้มข้นนี้จะยังน้อยกว่าแม่น้ำที่ถูกจัดว่าปนเปื้อนมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก อย่างแม่น้ำเหลือง, แยงซี, โขง, คงคา และไนล์ ซึ่งอาจสูงถึง 40 ชิ้นต่อ ลบ.ม. และมักอยู่ในประเทศผู้ผลิตพลาสติกหรือแปรรูปขยะพลาสติกรายใหญ่ แต่ตัวเลขนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำ

แม่น้ำแซน
ภาพจาก : AP

ดร. กิกลิโอเน หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านนิเวศพิษวิทยาจุลินทรีย์ทางทะเล ที่ศูนย์การวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (CNRS) ยกตัวอย่าง แม่น้ำโรน ในเมืองวาล็องซ์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีอัตราการไหลที่รวดเร็ว นั่นจึงหมายความว่า มีอนุภาคพลาสติกไหลผ่านถึง 3,000 ชิ้น ในทุก ๆ วินาที ส่วนแม่น้ำแซนในกรุงปารีส มีประมาณ 900 ชิ้นต่อวินาที ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปริมาณมหาศาลของมลพิษที่ไหลลงสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง

“ไมโครพลาสติกขนาดใหญ่ที่มองเห็น มักจะลอยและถูกเก็บตัวอย่างได้ที่ผิวน้ำ แต่พวกที่มองไม่เห็นจะกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งมวลน้ำ จากนั้นสัตว์น้ำ รวมถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็จะกินมัน”

อย่างไรก็ดี นอกจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกแล้ว หนึ่งในงานวิจัยยังตรวจพบแบคทีเรียก่อโรคชนิดรุนแรง ที่เกาะอยู่บนไมโครพลาสติกในแม่น้ำลัวร์ด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในมนุษย์ได้หากเข้าสู่ร่างกาย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button