ข่าว

ประวัติ Dire Wolf หมาป่ายุคน้ำแข็ง 1.2 หมื่นปี ตำนาน เกมออฟโทรน ถูกปลุกชีพสำเร็จ

ประวัติ หมาป่าไดร์ Dire Wolf หมาป่ายุคน้ำแข็ง 1.2 หมื่นปี สาเหตุสูญพันธุ์ ตำนาน เกมออฟโทรน ถูกปลุกชีพสำเร็จ

มันเคยเดินทอดเงาท่ามกลางทุ่งหญ้าอเมริกาเหนือ คำรามใส่สายลมหนาวยุคน้ำแข็ง ล่าเหยื่อตัวใหญ่กว่ามันหลายเท่า แล้วหายสาบสูญไปพร้อมๆ กับอสูรแห่งยุคน้ำแข็งอีกหลายเผ่าพันธุ์…

นี่คือเรื่องราวของ สุนัขป่าโลกันตร์ (Aenocyon dirus) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมาป่าไดร์” (Dire Wolf) สัตว์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคน้ำแข็ง ซึ่งได้กลายเป็นตำนานทั้งในทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมร่วมสมัย ปรากฎในนิยายก้องโลก Game of thrones มหาศึกชิงบัลลังก์ และวันนี้ วิทยาศาสตร์ก็เริ่มไขปริศนาแห่งเผ่าพันธุ์อันน่าทึ่งนี้ออกมาทีละชิ้น สามารถคืนชีพ ไดร์วูลฟ์ ที่เคยสูญพันธุ์ไปหมื่นปีก่อนได้สำเร็จ

จุดเริ่มต้นการค้นพบซาดึกดำบรรพ์

เรื่องราวเริ่มต้นในปี 1854 เมื่อซากขากรรไกรล่างของหมาป่าขนาดใหญ่ถูกค้นพบที่ริมแม่น้ำโอไฮโอ รัฐอินเดียนา ต่อมาในปี 1858 นักบรรพชีวินวิทยาชื่อ โจเซฟ ลีดี (Joseph Leidy) ได้ตั้งชื่อว่า Canis dirus หรือ “หมาป่าน่าสะพรึงกลัว” จากนั้นผ่านการศึกษาหลายทศวรรษ จนสุดท้ายในปี 1918 ชื่อใหม่ถูกเสนอโดยจอห์น เมอร์เรียม (John Merriam): Aenocyon dirus – “หมาน่าสะพรึงจากนรก” หรือ สุนัขป่าโลกันตร์ จนกลายเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการในยุคใหม่

Dire Wolf เป็นสัตว์ตระกูลสุนัข (canine) ที่น่าเกรงขาม เคยท่องไปทั่วทุ่งหญ้าป่าเขาในช่วงปลายสมัยไพลสโตซีน (Late Pleistocene) และต้นสมัยโฮโลซีน (Early Holocene) ประมาณ 125,000 ถึง 10,000 ปีก่อน

ช่วงแรกของการพบซากฟอสซิลมีเพียงน้อยชิ้น ทำให้ภาพของสัตว์ชนิดนี้ยังไม่ชัดเจนนัก จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อ จอห์น แคมป์เบลล์ เมอร์เรียม เริ่มขุดค้นที่ บ่อทาร์แรนโชลาเบรอา ในลอสแอนเจลิส ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บ่อทาร์เหล่านี้ได้กลายเป็นขุมทรัพย์ฟอสซิล ไดร์วูลฟ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้เมอร์เรียมสามารถรวบรวมโครงกระดูกที่สมบูรณ์พอ และยืนยันการใช้ชื่อ Canis dirus เป็นชื่อทางการในปี 1912 ตามหลักการตั้งชื่อที่ต้องใช้ชื่อเก่าแก่ที่สุดที่เคยตั้งให้

ประวัติ Dire Wolf หมาป่ายุคน้ำแข็ง 1.2 หมื่นปี ตำนาน เกมออฟโทรน ถูกปลุกชีพสำเร็จ
ภาพจาก: Colossal Biosciences

วิวัฒนาการสายเลือดโบราณแห่งอเมริกา ไม่ใช่ญาติกับหมาป่าปัจจุบัน

หมาป่าไดร์วิวัฒนาการขึ้นในทวีปอเมริกา แต่เส้นทางสายเลือดของมันเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ทฤษฎีเดิมที่อิงจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของฟอสซิล ชี้ว่า หมาป่าไดร์อาจสืบเชื้อสายมาจาก หมาป่าอาร์มบรัสเตอร์ซึ่งเป็นสุนัขป่าขนาดใหญ่ที่อพยพมาจากยูเรเซีย

อย่างไรก็ตาม การศึกษา DNA จากฟอสซิลในปี 2021 ได้เปิดเผยความจริงของหมาป่าไดร์ที่น่าประหลาดใจ เพราะมันบ่งชี้ว่าหมาป่าไดร์ เป็นสายเลือดที่แยกตัวออกจากบรรพบุรุษร่วมของสุนัขป่าและสุนัขในปัจจุบัน (wolf-like canines) มานานถึง 5.7 ล้านปี!

นี่หมายความว่าหมาป่าไดร์ไม่ใช่ “ญาติสนิท” ของหมาป่าสีเทาอย่างที่เคยเข้าใจกัน แต่เป็นสายเลือดที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง การที่รูปร่างลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับหมาป่าสีเทาอย่างมากนั้น ถือเป็นตัวอย่างของ “วิวัฒนาการเบนเข้าหากัน” (Convergent Evolution) ที่สัตว์ต่างสายเลือดพัฒนารูปร่างคล้ายกันเพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่คล้ายคลึงกัน

ความแตกต่างทางพันธุกรรมที่ลึกซึ้งนี้ บ่งชี้ว่าหมาป่าไดร์ไม่สามารถผสมพันธุ์กับหมาป่าสีเทาหรือโคโยตีที่อพยพเข้ามาในอเมริกาในภายหลังได้ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของมัน

รูปร่าง อำนาจ และเขี้ยวเหล็ก

หมาป่าไดร์มีขนาดใกล้เคียงกับหมาป่าสีเทาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เช่น หมาป่ายูคอน โดยน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 60–68 กิโลกรัม บางตัวอาจหนักเกิน 100 กิโลกรัม

สิ่งที่ทำให้มันแตกต่าง คือ กระโหลกที่ใหญ่กว่า เขี้ยวที่ใหญ่และแหลมคมกว่า มีแรงกัดที่ฟันเขี้ยวสูงถึง 163 นิวตันต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว — สูงที่สุดในกลุ่มสัตว์กินเนื้อเลี้ยงลูกด้วยนมบนบกในอเมริกาเหนือ

มันไม่ได้เป็นแค่หมาป่าทั่วไป แต่มันคือ “นักล่าเมกะเฮอร์บิวอร์” – สัตว์กินพืชขนาดยักษ์ยุคน้ำแข็ง เช่น บายสัน แมมมอธ อูฐโบราณ และสลอธยักษ์

โครงสร้าง

หมาป่าไดร์มีเท้าที่เล็กกว่า แต่มีหัวที่ใหญ่และหนักกว่าเมื่อเทียบกับหมาป่าสีเทาที่มีขนาดตัวเท่ากัน กะโหลกศีรษะยาวได้ถึง 310 มม. มีเพดานปากและโหนกแก้มที่กว้างกว่า สันกระดูกบนกะโหลกสูงกว่า บ่งบอกถึงกล้ามเนื้อกรามที่ทรงพลัง

ฟัน

ฟันมีขนาดใหญ่กว่าหมาป่าสีเทา โดยเฉพาะฟันตัด (carnassials – P4 บน, m1 ล่าง) ที่มีขนาดใหญ่และมีความสามารถในการเฉือนเนื้อสูงกว่า ฟันเขี้ยวมีความแข็งแรงต่อแรงบิดงอมากกว่า คล้ายกับของไฮยีน่าและวงศ์เสือแมว

แรงกัดที่ฟันเขี้ยวนั้นแข็งแกร่งที่สุดในบรรดาสัตว์สกุล Canis ที่เคยรู้จัก และอาจแข็งแกร่งกว่าหมาป่าสีเทา บ่งบอกถึงการปรับตัวเพื่อล่าเหยื่อขนาดใหญ่และต่อสู้ดิ้นรน

กระดูกองคชาต

ฟอสซิลกระดูกองคชาตของหมาป่าไดร์เพศ ผู้มีลักษณะแตกต่างจากสุนัขชนิดอื่นอย่างชัดเจน และมีสัดส่วนที่ยาวกว่าเมื่อเทียบกับขนาดตัว อาจบ่งชี้ถึงพฤติกรรมการผสมพันธุ์ที่แตกต่างหรือการแข่งขันระหว่างเพศผู้ที่รุนแรงกว่า

หมาป่าไดร์ไม่ใช่ ญาติสนิท ของหมาป่าสีเทาอย่างที่เคยเข้าใจกัน

วิถีชีวิตในโลกที่สาบสูญ

หมาป่าไดร์คือสัตว์กินเนื้ออย่างเต็มตัว เคยครองผืนแผ่นดินอเมริกาตั้งแต่เหนือจรดใต้ ด้วยความสามารถในการปรับตัวสูง พวกมันพบได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ตั้งแต่ทุ่งหญ้าเปิด ที่ราบกว้าง ป่าบนภูเขา ไปจนถึงสะวันนาอันแห้งแล้งในอเมริกาใต้ ฟอสซิลของมันกระจายอยู่ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงความสูงกว่า 2,255 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ผลการวิเคราะห์ไอโซโทปเสถียรจากกระดูกฟอสซิลที่บ่อทาร์ลาเบรอา ชี้ให้เห็นว่ามันเป็นนักล่าที่เชี่ยวชาญในการโจมตีสัตว์ขนาดใหญ่ หรือเมกะเฮอร์บิวอร์ (Pleistocene megafauna) ซึ่งเคยท่องทุ่งหญ้าในยุคน้ำแข็ง เหยื่อของพวกมันมีทั้งม้าป่าตะวันตก (Equus occidentalis), สลอธดินฮาร์ลาน (Paramylodon harlani), มาสโตดอน (Mammut americanum), อูฐโบราณ (Camelops hesternus) และไบซันโบราณ (Bison antiquus)

อย่างไรก็ตาม พวกมันไม่ใช่นักล่าแบบเลือกกินเฉพาะเจาะจง แต่จะล่าหรือกินซากเหยื่อที่มีอยู่ในบริเวณนั้น — ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามความพร้อมของเหยื่อในแต่ละยุคสมัย

อยู่รวมเป็นฝูง ล่าเป็นกลุ่ม

ซากฟอสซิลจำนวนมากของหมาป่าไดร์ที่พบในบ่อทาร์ลาเบรอา — มากกว่าหมาป่าสีเทาถึงห้าเท่า — มักพบรวมกับซากสัตว์ใหญ่ ซึ่งบ่งชี้ว่า พวกมันน่าจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ล่าเหยื่อด้วยความร่วมมือ และช่วยกันปกป้องซากจากนักล่าคู่แข่งอื่นๆ

การวิเคราะห์ทางกายวิภาคสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยเฉพาะโครงสร้างขากรรไกรล่างซึ่งค่อนข้างบางในบริเวณรอยต่อ ลักษณะเช่นนี้พบในสัตว์ล่าที่อาศัยการกัดหลายครั้งจากหลายตัวพร้อมกัน มากกว่าการกัดแบบแทงทะลุจากสัตว์ล่าเดี่ยว ข้อมูลทางกายภาพยังแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่างระหว่างเพศเพียงเล็กน้อย (sexual dimorphism) คล้ายคลึงกับหมาป่าสีเทาในปัจจุบัน — ซึ่งอาจบ่งบอกถึงรูปแบบการจับคู่ถาวรแบบ “คู่ชีวิต” หรือ monogamous pair

ฟันของหมาป่าไดร์ โดยเฉพาะฟันหน้าพบว่ามีอัตราการแตกหักสูงกว่าสัตว์กินเนื้อสมัยใหม่อย่างชัดเจน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสาเหตุอาจมาจากการกัดใกล้กระดูกเพื่อเข้าถึงไขกระดูก หรือลักษณะการกินอย่างรีบเร่งซึ่งอาจสะท้อนภาวะการแข่งขันสูงเพื่อช่วงชิงซากเหยื่อ

แต่การสึกหรอของฟันและการวิเคราะห์โครงสร้างเคลือบฟันไม่พบสัญญาณของภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรงในช่วงเวลาก่อนการสูญพันธุ์ ซึ่งหมายความว่าพวกมันยังคงเข้าถึงเหยื่อได้ แม้จะอยู่ในยุคที่ระบบนิเวศกำลังสั่นคลอน

ในโลกของหมาป่าขนขาวนั้น ไม่ได้มีเพียงพวกมันเท่านั้นที่ไล่ล่าสัตว์ขนาดยักษ์ ยังมีคู่แข่งที่น่าเกรงขามอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสือเขี้ยวดาบ (Smilodon fatalis), สิงโตอเมริกัน (Panthera atrox), หมีหน้าสั้นยักษ์ (Arctodus simus), รวมถึงหมาป่าสีเทาและโคโยตีรุ่นแรกๆ

การปรากฏตัวของมนุษย์ยุคแรกในทวีปอเมริกา ซึ่งมีความสามารถในการล่าสัตว์ด้วยอาวุธ และอาจล่าเหยื่อชนิดเดียวกัน ก็เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันสำคัญที่ดิเรกวูล์ฟต้องเผชิญในสมรภูมิแห่งยุคน้ำแข็ง

การสูญพันธุ์ จุดจบของหมาป่าขนขาวปลอด

หมาป่าไดร์สูญพันธุ์ไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดยักษ์จำนวนมาก ในช่วงคลื่นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เรียกว่า เหตุการณ์การสูญพันธุ์ควอเทอร์นารี (Quaternary Extinction Event) เมื่อราว 12,700 ปีก่อน จุดจบของมันไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน หากแต่เป็นผลสะสมจากปัจจัยหลายประการที่บีบให้หนึ่งในนักล่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ต้องหลุดออกจากสายโซ่วิวัฒนาการไปตลอดกาล

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เชื่อมโยงโดยตรงคือการสูญพันธุ์ของ สัตว์กินพืชขนาดใหญ่ในยุคน้ำแข็ง ที่พวกมันพึ่งพาเป็นแหล่งอาหารหลัก เมื่อเหล่าสัตว์อย่างมาสโตดอน บายสันโบราณ และอูฐโบราณเริ่มหายไปจากระบบนิเวศ นักล่าขนาดใหญ่ที่อาศัยเหยื่อเหล่านั้นจึงตกอยู่ในภาวะไร้ที่ยืน

การสิ้นสุดของยุคน้ำแข็งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างฉับพลัน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ลักษณะของพืชพรรณที่เปลี่ยนไป และการถดถอยของแหล่งน้ำ ส่งผลให้ประชากรเหยื่อลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดเร็วเกินกว่าที่หมาป่าไดร์จะสามารถปรับตัวทัน

ในช่วงเวลาเดียวกัน โลกใบนี้เริ่มมีนักล่าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทั้ง นักล่ากลุ่มใหม่ในวงศ์หมาป่า เช่น หมาป่าสีเท และโคโยตี (Canis latrans) รวมถึงศัตรูที่ไม่เหมือนใครอย่าง มนุษย์ยุคแรกเริ่ม ที่มีความสามารถในการล่าเหยื่อด้วยอาวุธและวางแผนเป็นระบบ เมื่อจำนวนผู้ล่ามากขึ้น แต่เหยื่อกลับลดลง สิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาเหยื่อเฉพาะทางอย่างหมาป่าไดร์จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

การศึกษาทางพันธุกรรมล่าสุดยังเผยว่า หมาป่าไดร์มี เส้นสายวิวัฒนาการที่แยกจากสกุล Canis มาอย่างยาวนาน — พวกมันไม่มีความสามารถในการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์กับหมาป่าสีเทาหรือโคโยตี ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สัตว์เหล่านี้ใช้ในการปรับตัวและเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม ความ “โดดเดี่ยวทางวิวัฒนาการ” อาจทำให้หมาป่าไดร์อ่อนแอกว่าต่อโรคใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม

ร่องรอยสุดท้ายของนักล่า

ฟอสซิลที่ได้รับการยืนยันว่ามีอายุอ่อนที่สุดของหมาป่าไดร์ถูกค้นพบที่ แรนโชลาเบรอา (Rancho La Brea) ในแคลิฟอร์เนีย มีอายุราว 11,581 ปี ก่อนปัจจุบัน (หลังปรับเทียบ) แม้จะมีรายงานการค้นพบฟอสซิลที่อาจมีอายุน้อยกว่านั้นจากรัฐมิสซูรีและแอริโซนา แต่หลักฐานเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแน่ชัดในหมู่นักวิทยาศาสตร์

หมาป่าไดร์ ไม่ได้ตายไปอย่างเงียบเชียบ มันล้มลงในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกที่มันเคยครองด้วยความแข็งแกร่ง แต่กลับอ่อนแอลงด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของตัวเอง

หมาป่าไดร์ใน Game of Thrones

ในจักรวาลเกมออฟโทรน(รวมถึงนิยาย A Song of Ice and Fire ของจอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ติน) หมาป่าได มีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะกับตระกูลสตาร์ก (House Stark) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตระกูลหลักของเรื่อง

ในโลกของเวสเทอรอส หมาป่าไดร์เป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่หายากมากในยุคปัจจุบันของเรื่อง พวกมันมีลักษณะคล้ายหมาป่าธรรมดาแต่ ใหญ่กว่า ฉลาดกว่า แข็งแรงกว่า และดุร้ายกว่า โดยบางตัวอาจโตได้เท่ากับม้า พวกมันมักอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของทวีป เชื่อกันว่าเป็นสัตว์โบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์

  • สัญลักษณ์ประจำตระกูลสตาร์ก คือ “หมาป่าไดร์สีเทา” (grey direwolf)
  • ในตอนต้นของซีรีส์ ซีซัน 1 และหนังสือเล่มแรก เน็ด สตาร์กพบหมาป่าไดร์แม่ลูกอ่อนที่ตายแล้วในป่า พร้อมลูกหมาป่า 6 ตัว — พอดีกับลูกสตาร์ก 6 คน
  • ลูกหมาป่าแต่ละตัวถูกมอบให้แก่สมาชิกในครอบครัว และกลายเป็นสัตว์คู่ใจตลอดเรื่อง (หรือจนกว่าจะเกิดเหตุร้าย)

หมาป่าไดร์ ใน Game of thrones

ลูกหมาป่าทั้ง 6 ตัว เจ้าของเป็นใคร

  1. Ghost ของ Jon Snow: ตัวสีขาวเงียบขรึม ดวงตาแดง มีสัญชาตญาณสูง และรอดชีวิตจนจบเรื่อง

  2. Nymeria ของ Arya: ดุร้าย กล้าหาญ เธอปล่อยมันเป็นอิสระ และภายหลังมันกลายเป็นจ่าฝูงในป่าทางใต้

  3. Summer ของ Bran: ตัวสำคัญมาก ช่วยปกป้องแบรนจากภัยหลายครั้ง และสื่อถึงพลัง “warg” ของเขา

  4. Shaggydog ของ Rickon: ดุดันและอารมณ์รุนแรง สะท้อนธรรมชาติป่าเถื่อนของริคคอน

  5. Grey Wind ของ Robb: เป็นนักล่าที่รวดเร็วและฉลาด เป็นสัญลักษณ์ของโรบในสนามรบ

  6. Lady ของ Sansa: สง่างาม อ่อนโยน แต่ถูกฆ่าตายตั้งแต่ต้นเรื่องเพื่อการเมือง

บางตัวอย่าง Summer และ Ghost ยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับ “เวทมนตร์ทางเหนือ” โดยเฉพาะความสามารถของ Bran ในการเป็น warg ควบคุมจิตใจสัตว์ และ “green-seer” ผู้มองอดีต-อนาคต

หมาป่าไดร์ ใน Game of thrones มีบทบาทสำคัญมาก

คืนชีพหมาป่าไดร์ จากดีเอ็นเอโบราณ สู่ชีวิตใหม่ในห้องแล็บ

กว่า 10,000 ปีหลังจากที่หมาป่าไดร์สูญพันธุ์ไปจากพื้นพิภพ ปี 2025 นักวิทยาศาสตร์จากบริษัท Colossal Biosciences ได้ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญในการ “คืนชีพ” นักล่ายักษ์แห่งยุคน้ำแข็งกลับมาอีกครั้ง ผ่านเทคโนโลยีชีววิศวกรรมล้ำสมัย

หมาป่าไดร์ที่กลับมามีชีวิตในครั้งนี้ไม่ใช่การโคลนนิ่งตรงๆ แต่เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของหมาป่าสีเทา เพื่อให้มีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงหมาป่าไดร์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นักวิจัยของ Colossal วิเคราะห์ดีเอ็นเอจากฟอสซิลอายุ 13,000 ปีที่พบในรัฐโอไฮโอ กับกระดูกกะโหลกอายุ 72,000 ปีจากรัฐไอดาโฮ เพื่อแยกลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะของหมาป่าไดร์ออกมา พวกเขาใช้เทคนิค CRISPR เพื่อแก้ไขยีนในเซลล์เม็ดเลือดของหมาป่าสีเทาให้แสดงคุณลักษณะ 20 ประการที่เชื่อมโยงกับหมาป่าไดร์ เช่น โครงขากรรไกร เส้นขน และมวลกล้ามเนื้อ แล้วถ่ายโอนเข้าไปในเซลล์ไข่ของสุนัขบ้าน ก่อนฝังตัวอ่อนในแม่สุนัขตัวแทน

ในเดือนตุลาคม 2024 ลูกหมาป่าดัดแปลงพันธุกรรมสองตัวแรกถือกำเนิด — เพศผู้สองตัว ชื่อ โรมูลัส (Romulus) และ เรมุส (Remus) ตั้งชื่อตามฝาแฝดผู้ก่อตั้งกรุงโรมในตำนานซึ่งถูกเลี้ยงดูโดยหมาป่า และในเดือนมกราคม 2025 หมาป่าเพศเมียชื่อ คาลีซี (Khaleesi) — ชื่อจากตัวละครราชินีมังกรใน Game of Thrones — ก็ลืมตาดูโลกเป็นตัวที่สาม

ลูกหมาป่าทั้งสามตัวกำลังเติบโตอย่างแข็งแรงในสถานที่ปลอดภัยแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ โดยมีน้ำหนักราว 36 กิโลกรัมเมื่ออายุเพียงไม่กี่เดือน และคาดว่าจะมีน้ำหนักถึง 63 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มวัย

ภาพจาก: ABC

แม้รูปลักษณ์จะใกล้เคียงกับหมาป่าไดร์ดั้งเดิม แต่นักวิทยาศาสตร์อิสระ เช่น ดร.วินเซนต์ ลินช์ จากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล เตือนว่า หมาป่าเหล่านี้ไม่ใช่ “การฟื้นคืนชีพจริง” แต่เป็นการสร้างสัตว์ที่มีลักษณะ คล้าย กับสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ในระดับพันธุกรรมผิวเผินมากกว่า

“สิ่งที่ Colossal ทำ คือการดัดแปลงหมาป่าสีเทาให้ดูเหมือนหมาป่าไดร์… แต่พวกมันไม่ใช่หมาป่าไดร์ดั้งเดิม” ดร.ลินช์กล่าว

แมตต์ เจมส์ หัวหน้าทีมดูแลสัตว์ของ Colossal ก็ยอมรับว่า แม้หมาป่าที่เกิดใหม่จะมีรูปลักษณ์ พฤติกรรมบางอย่างใกล้เคียงกับบรรพบุรุษของมัน แต่ก็ “ไม่มีทางได้เรียนรู้ทักษะการล่าเหยื่อขนาดใหญ่แบบที่หมาป่าไดร์ในธรรมชาติทำได้” เพราะพวกมันเติบโตโดยปราศจากพ่อแม่ในป่าให้เรียนรู้

เบน แลมม์ ซีอีโอของ Colossal ได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับการวิจัยนี้ และได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็น “ยุคใหม่ที่น่าตื่นเต้นของความมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์”

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่เห็นพ้องกันว่าหมาป่าไดร์จะกลับมาเดินทุ่งหญ้าอเมริกาเหนือในเร็ววันนี้หรือไม่ — แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ เรากำลังยืนอยู่ในยุคที่ความตายอาจไม่ใช่จุดจบของสายพันธุ์อีกต่อไป

จากกระดูกอายุหมื่นปี… สู่เสียงหายใจของหมาป่าที่เคยสาบสูญ มนุษย์เริ่มเรียนรู้ที่จะปลุกสิ่งมีชีวิตจากเถ้าถ่านของเวลา

บทความโดย : อินทราวุธ ห้ามคัดลอกทำซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต

นักวิทยาศาสตร์คืนชีพหมาป่าไดร์สำเร็จ
ภาพจาก: COLOSSAL BIOSCIENCES

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button