ข่าว

วิธีขอสมรสพระราชทาน คู่รักต้องรู้ สิริมงคลสูงสุดของชีวิตคู่

เปิดวิธี “ขอสมรสพระราชทาน” และ “การขอรับพระราชทานน้ำสังข์” สู่สิริมงคลชีวิตคู่ เจาะลึกตั้งแต่คุณสมบัติผู้ขอ การเตรียมตัว การแต่งกาย ข้อปฏิบัติวันเข้าเฝ้าฯ และธรรมเนียมปฏิบัติหลังพิธี

“สมรสพระราชทาน” ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ และเป็นสิริมงคลอันสูงสุดแก่ชีวิตคู่ของบ่าวสาว การได้รับพระราชทานน้ำสังข์จากพระหัตถ์ ถือเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่คู่สมรสหลายคู่ปรารถนา เพื่อเป็นมิ่งขวัญในการเริ่มต้นชีวิตครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนและข้อปฏิบัติในการขอพระราชทานนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจมีข้อสงสัยอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก อาทิข้อสงสัยที่ว่า นอกจากบุคคลสำคัญหรือผู้มีชื่อเสียงในสังคมแล้ว คนทั่วไปสามารถขอรับพระราชทานได้หรือไม่ และขั้นตอน หรือกระบวนการเป็นอย่างไร วันนี้ทีมงาน เดอะ ไทยเกอร์ ได้รวบรวมคำตอบมาฝากทุกท่าน

ความสำคัญและสิทธิ์ในการขอพระราชทานน้ำสังข์

การขอพระราชทานน้ำสังข์เป็นการขอให้ทรงประกอบพิธีสมรส ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งพระมหากรุณาธิคุณและความปรารถนาดีที่พระราชทานแก่คู่บ่าวสาว อ้างอิงจากหนังสือ “รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชสำนัก” การขอพระราชทานน้ำสังข์มี 2 รูปแบบ คือ

  • แบบเป็นทางการ : มีขั้นตอนและระเบียบพิธีการที่ชัดเจน
  • แบบส่วนพระองค์ : หรือที่เรียกว่า “น้ำสังข์ข้างที่” ซึ่งอาจมีขั้นตอนที่ยืดหยุ่นกว่า

ผู้มีสิทธิ์ขอรับพระราชทานน้ำสังข์

ปกติแล้ว การขอสมรสพระราชทานจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. เป็นผู้ที่ทรงรู้จักและคุ้นเคยเป็นการส่วนพระองค์

2. ทรงรู้จักบิดาหรือมารดาของผู้ขอเป็นการส่วนพระองค์

3. กรณีข้าราชการ (ตำรวจ ทหาร หรือพลเรือน) ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อ 1 หรือ 2 ผู้บังคับบัญชาสามารถทำเรื่องกราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ได้

4. กรณีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษ สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น สามารถทำหนังสือยื่นเรื่องต่อ ‘สำนักราชเลขาธิการ’ เพื่อขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณได้ โดยต้องแนบรายละเอียด วัน/เดือน/ปีเกิด ของคู่สมรส และข้อมูล-สถานที่สำหรับติดต่อกลับให้ชัดเจน

ขั้นตอนการยื่นเรื่องขอพระราชทาน (กรณีทั่วไป/กรณีพิเศษ)

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะขอพระราชทานน้ำสังข์เป็นกรณีพิเศษ ให้ดำเนินการดังนี้

1. ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ: แจ้งความประสงค์ขอรับพระราชทานน้ำสังข์

2. ระบุข้อมูลสำคัญ อาทิ ชื่อ-นามสกุล วัน/เดือน/ปีเกิด ของคู่บ่าวสาว และที่อยู่ รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้สะดวก

3. ระบุช่วงเวลาที่ประสงค์ สามารถแจ้งช่วงเวลาที่คู่บ่าวสาวสะดวกเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ได้ อาทิ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2568-2569

4. รอการพิจารณาและติดต่อกลับ ซึ่งก็จะใช้เวลาแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ที่ยื่นเรื่องฯ

การเตรียมตัวก่อนวันเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์

เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทางกองงานในพระองค์ฯ หรือเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อนัดหมายกำหนดวันเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ และแจ้งรายละเอียดขั้นตอนต่อไป โดยลำดับการปฏิบัติเป็นดังนี้

การแจ้งรายชื่อผู้เข้าร่วม

ภายหลังทราบกำหนดวันแน่ชัดแล้ว คู่บ่าวสาวต้องแจ้งรายชื่อและรายละเอียดของผู้ที่จะเข้าร่วมพิธี ซึ่งจำกัดจำนวนรวมทั้งสิ้น 10 คน ดังนี้

  • เจ้าบ่าว และเจ้าสาว
  • บิดามารดาฝ่ายเจ้าบ่าว รวมเป็น 2 คน
  • บิดามารดาฝ่ายเจ้าสาว รวมเป็น 2 คน
  • พยานฝ่ายเจ้าบ่าว จำนวน 2 คน
  • พยานฝ่ายเจ้าสาว จำนวน 2 คน

ระเบียบการซักซ้อม

ก่อนวันเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์จะมีการนัดหมายเพื่อซักซ้อมขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด ทั้งหมด 2 รอบ ได้แก่ วันก่อนวันเข้าเฝ้าฯ และในวันจริง ซึ่งต้องไปถึงสถานที่ก่อนเวลานัดหมายประมาณ 3 ชั่วโมง โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำและกำกับขั้นตอนตลอดการซักซ้อม

สิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์

สิ่งสำคัญคือ การเตรียมพานดอกไม้ ธูปเทียน จำนวน 1 พาน ซึ่งหากไม่สะดวกจัดเตรียมเอง หรือไม่มั่นใจในความถูกต้อง ก็สามารถแจ้งความจำนงให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมให้ และชำระค่าใช้จ่ายตามที่กำหนด

ในส่วนของการถ่ายภาพ ทางสำนักพระราชวังจะมีช่างภาพของส่วนราชการเป็นผู้บันทึกภาพให้เท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์บันทึกภาพหรือวิดีโอทุกชนิดเข้าไปโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ หากประสงค์จะจดทะเบียนสมรสในวันเดียวกัน ต้องเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน พร้อมสำเนา และค่าธรรมเนียม

ระเบียบการแต่งกาย

การแต่งกายของผู้เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์และผู้ติดตาม ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ โดยมีรายละเอียดเป็นดังนี้

เจ้าบ่าว

    • ข้าราชการพลเรือน สวมชุดปกติขาว
    • ข้าราชการทหาร/ตำรวจ สวมชุดเครื่องแบบปกติขาว (ต้องนำกระบี่, ถุงมือ และสามชาย/สายคาดกระบี่ไปด้วย)
    • พลเรือนทั่วไป สวมชุดเครื่องแบบปกติขาวขอเฝ้าฯ (เสื้อราชปะแตนสีขาว ติดเครื่องหมายขอเฝ้าฯ)

เจ้าสาว

  • ชุดไทยบรมพิมาน ซึ่งไม่กำหนดสีและชนิดของผ้า เพียงแต่ต้องเป็นแบบที่สุภาพ ไม่ผ่าหน้าหรือผ่าหลัง และสะดวกต่อการหมอบกราบ
  • รองเท้าต้องเป็นรองเท้าหุ้มส้นเท่านั้น ห้ามมีสายคาดหรือรัดข้อเท้า
  • เครื่องประดับ สามารถสวมใส่แต่น้อยชิ้นพอประมาณ ไม่ควรเป็นแบบระย้า

ทั้งนี้ ทรงผมจะต้องเก็บเรียบร้อย และไม่ฉีดสเปรย์ใส่ผมมากเกินไปจนเหนียว เพราะอาจทำให้มีปัญหาในการทัดใบมะตูมได้

ผู้ติดตาม (บิดามารดาและพยาน)

  • ผู้หญิง สวมชุดไทยจิตรลดา หรือ ชุดไทยบรมพิมาน ในส่วนของสีและชนิดผ้า สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม
  • ผู้ชาย แต่งกายตามเครื่องแบบของตนเอง หรือตามสถานะ ซึ่งหากเป็นพลเรือน อาจพิจารณาเป็นชุดสากลสุภาพ หรือชุดปกติขาวขอเฝ้าฯ ตามความเหมาะสม

ขั้นตอนในวันเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์

ในวันเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ คู่บ่าวสาวและผู้ติดตามจะต้องเดินทางถึงสถานที่นัดหมายล่วงหน้า 3 ชั่วโมง เพื่อซักซ้อมขั้นตอนต่าง ๆ เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นรอจนถึงกำหนดเวลาเข้าเฝ้าฯ

เมื่อถึงเวลาอันเป็นมงคล คู่บ่าวสาวจะปฏิบัติตามขั้นตอนที่ได้ซักซ้อมไว้อย่างเคร่งครัด เริ่มจากการเปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพ แล้วจึงคลานเข่าเข้าไปถวายพานฯ เบื้องหน้าพระพักตร์ ลำดับต่อมาคือการเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์อันเป็นสิริมงคลยิ่ง โดยพระองค์จะทรงทัดใบมะตูมที่หูและทรงเจิมแป้งมงคลที่หน้าผากให้แก่คู่บ่าวสาว พร้อมทั้งพระราชทานพร

จากนั้นจะมีการบันทึกภาพที่ระลึกโดยช่างภาพส่วนราชการ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีในส่วนของคู่ตนแล้ว คู่บ่าวสาวและผู้ติดตามสามารถเดินทางกลับได้ทันที โดยไม่ต้องรอจนครบทุกคู่ ซึ่งโดยปกติจะมีการนัดหมายเข้ารับพระราชทานวันละประมาณ 6-8 คู่ ในวันเดียวกัน

อย่างไรก็ดี คู่บ่าวสาวจำเป็นต้องปฏิบัติหลังเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์อย่างเคร่งครัด โดยห้ามมีพิธีรดน้ำสังข์ ในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรสอีก และหากมีการจัดงานเลี้ยงฉลอง ต้องใช้ชื่อว่า “งานจัดเลี้ยงฉลองสมรสพระราชทาน” โดยในงานเลี้ยงฉลองฯ ประธานในพิธีจะไม่กล่าวอวยพรคู่บ่าวสาว แต่จะกล่าวเชิญชวนแขกผู้มีเกียรติ ร่วมดื่มถวายพระพร แทน

การได้รับพระราชทานน้ำสังข์ถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง การเตรียมตัวและปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพแล้ว ยังเป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่เป็นมงคลและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่วงศ์ตระกูลสืบไปด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button