สยอง ‘พยาธิหนอนหัวใจสุนัข’ ฝังผิวหนังใกล้ตา อึ้ง ‘ยุง’ กัดเป็นพาหะ

เคสหายาก ‘พยาธิหนอนหัวใจสุนัข’ ฝังผิวหนังใกล้ตา อึ้ง ‘ยุง’ กัดเป็นพาหะ แต่ไม่ค่อยติดต่อสู่คน เพราะมักตายก่อน แต่ต้องระวังสุนัขแมว สัตว์เลี้ยง
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 เพจเฟซบุ๊กของ “เอฟเอ็มวีดีคลินิกเวชกรรม” ได้เผยแพร่กรณีทางการแพทย์หายาก พบผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิ ไดโรฟิลาเรีย รีเพนส์ (Dirofilaria repens) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พยาธิหนอนหัวใจสุนัข” ในมนุษย์ โดยผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบหนอนพยาธิบริเวณใต้ผิวหนังใกล้ดวงตา
ทางคลินิกระบุว่า ไดโรฟิลาเรีย รีเพนส์ เป็นพยาธิตัวกลมที่พบได้ในสุนัข แมว และสัตว์ป่าในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา โดยยุงจะเป็นพาหะนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ซึ่งถึงแม้มนุษย์จะไม่ใช่โฮสต์หลักของพยาธิชนิดนี้ แต่ก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้ โดยปรากฏอาการในลักษณะก้อนใต้ผิวหนัง หรือเคลื่อนที่ได้ใต้ผิวหนัง และในบางรายอาจเกิดในดวงตา หรือที่เรียกว่า Ocular Dirofilariasis
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักจะมีอาการบวมแดง เจ็บ ตกใจ หรือระคายเคืองบริเวณที่ติดเชื้อ และอาจมีการเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้องอกหรืออักเสบทั่วไป จึงอาจต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อหรือผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยที่แน่ชัด
ทั้งนี้ คลินิกได้เน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ฉีดยาป้องกันพยาธิหัวใจ หลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์ออกไปนอกบ้านโดยไม่ควบคุม นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงแมวจรจัดหรือสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้รับการดูแล เนื่องจากอาจเป็นแหล่งพาหะของพยาธิได้
กรณีนี้ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ทางการแพทย์ที่หายาก แต่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญทางสาธารณสุขในปัจจุบัน.
ทีมข่าวไทยเกอร์ไปหาข้อมูลมาให้เพิ่มเติม พบว่า พยาธิชนิดนี้ พบมากในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา และยุโรปตะวันออก โดยประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อมากที่สุดในยุโรปคือ อิตาลี (66%) รองลงมาคือ ฝรั่งเศส (22%) กรีซ (8%) และสเปน (4%) และพบว่าเชื้อแพร่กระจายขึ้นไปถึงเอสโตเนียซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแล้ว
วงจรชีวิตของมันเริ่มจากยุง ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ดูดเลือดจากสัตว์ที่มีพยาธิชนิดนี้ ทำให้ได้รับตัวอ่อน (ไมโครฟิลาเรีย) เข้าไป จากนั้นตัวอ่อนจะพัฒนาเป็นระยะติดต่อภายในตัวยุงภายใน 10–16 วัน แล้วจึงถูกส่งต่อไปยังโฮสต์ใหม่ เช่น สุนัข หรือแมว ในระหว่างที่ยุงดูดเลือดอีกครั้ง
เมื่อเข้าสู่ร่างกายสัตว์ ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยภายใน 6–7 เดือน โดยไปอาศัยอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง ตัวเมียโตเต็มที่มีความยาว 25–30 เซนติเมตร ส่วนตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่า
การติดในมนุษย์ พยาธินี้ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยได้ มักตายก่อนจะพัฒนาเต็มที่ ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีตัวอ่อนอยู่ในกระแสเลือด (เรียกว่าไม่มีภาวะไมโครฟิลาเรเมีย) มนุษย์จึงถือเป็นโฮสต์โดยบังเอิญ มักไม่แสดงอาการรุนแรง แม้จะมีพยาธิเข้าไปในร่างกายก็ตาม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ชวนสายดิบ รับชุดตรวจ “พยาธิใบไม้ตับ” ฟรี กลุ่มเสี่ยงผ่านแอปฯ เป๋าตัง
- เอ็กซเรย์สยอง พยาธิตืดหมูเต็มร่างชาย หลังเผลอกินหมูดิบ เห็นแล้วคันยิบๆ
- เปิดภาพสยอง พยาธิไชสมองเละ คนไข้ชอบกินซอยจุ๊ อันตรายถึงชีวิต