กางข้อกฎหมาย แม่ผัว แย่งลูก 1 เดือนจากอก เสี่ยงโดนโทษอาญา ถึงคุก

ดราม่าลาม แม่ผัว ลูกสะใภ้ อดีตสามีหมอดัง บุกแย่งลูกน้อย 1 เดือนจากอกจนออกโหนกระแส เปิดข้อกฎหมาย พฤติกรรมเสี่ยงโดนโทษอาญาอะไรบ้าง แรงสุดถึงติดคุก
จากกรณี น้องฝน หญิงสาววัย 26 ปี สาวปริญญาโท ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน รายการ “โหนกระแส” และเพจ “ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง”) หลังจากถูกแม่ของอดีตสามี แพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ บุกมาแย่งลูกน้อยวัยเพียง 1 เดือนไปจากบ้านพี่ชายของเธอเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา มีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิด ซึ่งเผยให้เห็นช่วงเวลาที่เกิดการยื้อแย่งทารกจนล้มลงเนื่องจากยังมีแผลจากการผ่าคลอด ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าลูกน้อยอยู่ที่ไหน เป็นอย่างไรบ้าง จึงต้องการความช่วยเหลือเพื่อติดตามและขอคืนลูกกลับมาสู่อ้อมอก
ฝ่ายหญิงเล่าว่าพบอดีตสามีผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ในช่วงปลายปี 2566 แม้จะคบหากันจนตั้งครรภ์และมีการจัดงานแต่งงาน แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ระหว่างคบกันฝ่ายหญิงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ และฝ่ายชายมีพฤติกรรมเจ้าชู้ นอกจากนี้ แม่ของฝ่ายชายไม่เคยยอมรับลูกสะใภ้ แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์มาโดยตลอด ก่อนคลอดบุตร ทั้งสองได้มากดดันอย่างหนักด้วยข้อเสนอ 2 ทาง คือ ยกลูกให้ครอบครัวฝ่ายชายเลี้ยงดู แลกกับเงินเดือนละ 10,000 บาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกันอีก หรือเลี้ยงลูกเองโดยไม่ได้รับการติดต่อหรือค่าเลี้ยงดูใดๆ จากฝ่ายชาย ซึ่งในตอนแรกเธอจำใจยอมรับเงื่อนไขแรก โดยมีการตกลงสลับกันดูแลลูกทุก 3-4 วัน
จุดแตกหักเกิดขึ้นในวันที่แม่สามีมารับหลานตามกำหนด แต่เมื่อถูกถามว่าจะนำหลานมาส่งคืนเมื่อใด กลับตอบเลี่ยงและไม่ชัดเจน ทำให้น้องฝนพยายามจะนำลูกกลับมา จนเกิดการยื้อแย่งกันขึ้นตามที่ปรากฏในคลิป
หลังเหตุการณ์นั้น เธอถูกอดีตสามีกับแม่สามีตัดขาดการติดต่อทุกช่องทาง ทำให้ไม่สามารถพบหน้าหรือทราบข่าวคราวของลูกได้อีกเลยวิงวอนผ่านรายการโหนกระแส ขอความเห็นใจให้ได้ลูกคืน เพราะหัวใจของผู้เป็นแม่แทบสลายและเป็นห่วงความปลอดภัยของลูกอย่างมาก เรื่องราวนี้ได้สร้างความสะเทือนใจแก่สังคมและมีผู้ยื่นมือเข้ามาเสนอความช่วยเหลือด้านกฎหมายแล้ว
วิเคราะห์ข้อกฎหมาย พฤติกรรมอดีตสามี-แม่ผัว เข้าข่ายพรากผู้เยาว์
สิทธิในการดูแลลูกหลังพ่อแม่แยกทางกันขึ้นอยู่กับสถานะทางกฎหมาย หากพ่อแม่จดทะเบียนสมรสกัน หรือพ่อจดทะเบียนรับรองบุตร ทั้งคู่มีสิทธิเท่ากัน หากตกลงกันไม่ได้ ศาลจะพิจารณาจากความเหมาะสมของแต่ละฝ่าย เช่น ฐานะ การเลี้ยงดู ความประพฤติ และความต้องการของลูก เพื่อตัดสินว่าใครจะได้อำนาจปกครอง มีสิทธิเลี้ยงดูบุตร
แต่หากพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและพ่อไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร กฎหมายให้สิทธิอำนาจปกครองบุตรแก่แม่แต่เพียงผู้เดียว แม้พ่อจะให้ใช้นามสกุลหรือส่งเสียเลี้ยงดูก็ตาม
สถานะทางกฎหมายของบุตรกับบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 บัญญัติว่า “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น” ดังนั้น ในกรณีนี้ น้องฝน ถือเป็น มารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว
เนื่องจากไม่มีการจดทะเบียนสมรส และหากไม่ได้มีการจดทะเบียนรับรองบุตร ตามกฎหมายมาตรา 1547 ซึ่งต้องจดทะเบียน หรือมีคำพิพากษาของศาล อดีตสามีจึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจปกครองบุตรตามกฎหมาย ใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าเขาจะเป็นบิดาทางสายเลือดก็ตาม
ส่วนแม่ของอดีตสามี ย่าโดยพฤตินัย ยิ่งไม่มีสิทธิทางกฎหมายใดๆ เหนือตัวเด็กโดยตรงเลย
การที่อดีตสามีและแม่ผัว มานำตัวลูกน้อยไปจากความดูแลของน้องฝน ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว โดยที่น้องฝนไม่ยินยอม เห็นได้จากการยื้อแย่ง และการไม่ยอมแจ้งกำหนดส่งคืน ถือเป็นการ พรากเด็กไปจากผู้ดูแล
พฤติกรรมนี้เข้าข่ายความผิดทางอาญา ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
หมายเหตุ: บทความนี้เพียงวิเคราะห์ข้อกฎหมายตามเหตุพฤติกรรม ไม่ใช่การตัดสินถูกผิด จนกว่าคดีจะฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาล และต่อสู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดร.ธนกฤต สะอื้น แม่ถูกพรากลูกเดือนเศษ ขีดเส้นตาย พ้น 9 โมงพรุ่งนี้แจ้งจับ
- อดีตบิ๊กคุกสุดช้ำ แฉ สตง.ตรวจอาหาร ถาม ‘พริกขี้หนูยาวเท่าไหร่’
- เพจดังแฉ เจ้าหญิงเวียด วอแวลูกเจ้าพระยา เมียหลวงสุดทน