ข่าว

หมอยังอึ้ง สตง. ลงตรวจ ถามรู้ได้ไงศพที่ผ่าตายแล้ว

หมอนิติเวชเผยประสบการณ์สุดอึ้ง สตง.ลงตรวจขอดูรายงานผ่าศพ ก่อนถามกลับ “รู้ได้ไงว่าศพนี้ตายจริง?” ด้านกฎหมายชี้ อำนาจตรวจสอบมีขอบเขต ต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคล

หลังจากที่ สตง. โดนข้าราชการจากหน่วยงานอื่น ๆ แฉวีรกรรมการตรวจงานไล่บี้และการถามคำถามแปลก ๆ จนเกิดเป็นกระแสดราม่าบนโลกโซเชียล ล่าสุด นาวาอากาศตรี นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าประสบการณ์ถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบงานภายในแผนก พร้อมตั้งข้อสังเกตและซักถามในประเด็นที่เจ้าตัวระบุว่า “ไม่เคยได้ยินมาก่อนในชีวิตของการเป็นหมอนิติเวช”

คุณหมออรรถสิทธิ์เริ่มเล่าว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ระหว่างที่หน่วยงานตนได้รับการตรวจสอบจาก สตง. โดยมีเจ้าหน้าที่หญิงหนึ่งราย เดินทางมาตรวจงานด้วยตัวคนเดียว และได้แจ้งขอ เข้าดู รายงานการผ่าพิสูจน์ศพ (autopsy report) ทั้งหมดของแผนก

หมายเหตุ : รายงานการผ่าพิสูจน์ศพ หรือ autopsy report คือ เอกสารที่จัดทำขึ้นหลังจากการชันสูตรพลิกศพ เพื่อบันทึกผลการตรวจสอบร่างกายของผู้เสียชีวิต ทั้งภายนอกและภายใน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการระบุสาเหตุและลักษณะการเสียชีวิต รวมถึงประเมินภาวะสุขภาพหรือโรคที่อาจมีอยู่ก่อนการเสียชีวิต

หมอระบุว่า คณะทำงานต่างรู้สึกตกใจ เพราะเอกสารเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนมาก และไม่เคยมีหน่วยงานใดเคยขอเข้าดูมาก่อน เจ้าหน้าที่ สตง. ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนมีอำนาจในการตรวจสอบ พร้อมพูดต่อหน้าอาจารย์แพทย์และเจ้าหน้าที่ในห้องว่า

“อิจฉาค่ะ เพราะหมอได้เงินเยอะ เบิกเงินเยอะ เลยต้องมาตรวจ”

นอกจากนี้ ระหว่างการตรวจ เจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่ารายงานการชันสูตรบางฉบับมีความยาวไม่เท่ากัน เช่น บางฉบับมี 5 หน้า บางฉบับมีเพียง 1–2 หน้า พร้อมแสดงความเห็นว่า รายงานสั้น ๆ แบบนี้อาจไม่มีคุณภาพ ระวังจะถูกเรียกเงินคืน ทั้งที่งานนิติเวชแต่ละกรณีมีความซับซ้อนต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพศพและประเด็นที่ต้องพิสูจน์

แต่ที่สร้างความตกตะลึงแก่ทีมแพทย์นิติเวชมากที่สุด คือคำถามจากเจ้าหน้าที่ สตง. ขณะจะกลับออกจากแผนก โดยถามขึ้นมาว่า

“แล้วจะรู้ได้ยังไงคะ ว่าคนพวกนี้ตายจริง?”

ซึ่งหมออรรถสิทธิ์ระบุว่า เป็นคำถามที่ไม่มีใครในทีมลืมได้เลย เพราะเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของแพทย์ที่มีประสบการณ์ผ่าศพมานับหมื่นราย

หมออรรถสิทธิ์ระบุว่า สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือแจ้งผู้บังคับบัญชาและเล่าให้แพทย์อาวุโสหลายท่านฟัง ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า “ให้ปล่อยผ่าน” เพราะเป็นวิธีของ สตง. ที่อาจใช้ทดสอบพฤติกรรมผู้ถูกตรวจ ว่าจะโกรธหรือตอบสนองอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เขารู้สึกไม่สบายใจ จึงเข้าเว็บไซต์ของ สตง. เพื่อหาช่องทางร้องเรียน และพบว่า “ธรรมนูญการตรวจเงินแผ่นดิน” ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ตรวจต้องปฏิบัติด้วยความสุภาพ เสมอภาค และให้เกียรติผู้ถูกตรวจ

วันรุ่งขึ้นเขาจึงไปพบนายตรวจหัวหน้าชุดของ สตง. และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทางหัวหน้าชุดได้กล่าวขอโทษ พร้อมรับปากว่าจะกำชับเจ้าหน้าที่ไม่ให้มีพฤติกรรมในลักษณะนี้อีก

ก่อนจบโพสต์ หมออรรถสิทธิ์ทิ้งท้ายว่า “ข้าราชการไม่ได้กลัวการตรวจสอบ ขอแค่ผู้ตรวจปฏิบัติตามธรรมนูญที่ท่านบัญญัติไว้ก็เพียงพอแล้ว”

หมอนิติเวช แฉ สตง. ถามคำถามสุดอึ้ง

สตง. มีสิทธิ์เข้าถึงเอกสารเพื่อตรวจสอบได้มากแค่ไหน

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการรับ จ่าย การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการตรวจสอบผลการดำเนินงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ​

ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้ว่าการและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก สตง. มีอำนาจในการตรวจสอบเอกสาร บัญชี ทะเบียน และหลักฐานการใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจ ​

อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลบางประเภท เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลที่มีความลับสูง อาจต้องพิจารณาถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือความลับของทางราชการ ดังนั้น แม้ว่า สตง. จะมีอำนาจในการตรวจสอบ แต่การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง​

อ่านข่าวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button