ซื้อได้ไง? ‘พรม’ ห้องประธาน สตง. ผืนละแสน ฝักบัวอาบน้ำ ชุดละหมื่น

สะเทือนใจ สะเทือนงบ เปิดราคาพรมหรู “ผืนละ 1.1 แสน” ในอาคาร สตง. หลังใหม่ แต่ไม่ได้ใช้เพราะถล่มจากแผ่นดินไหว
ท่ามกลางภารกิจกู้ภัยช่วยเหลือผู้ติดค้างจากโศกนาฏกรรมอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม จากแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวใหญ่ในเมียนมา 8.2 แมกนิจูด ขณะเดียวกันก็มีคำถามจากสังคมเกี่ยวกับ งบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ในอาคารดังกล่าวที่ถูกวิจารณ์ว่าหรูเกินความจำเป็น หลังจากก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง พบมีการสั่งโต๊ะไม้ตัวละ 9 หมื่น เก้าอี้ตัวละแสน ล่าสุดค้นเจออีกว่า มีพรมขนยาวผืนละกว่าแสนบาท
แฟนเพจเฟซบุ๊ก “ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย” ได้เปิดเผยเอกสารรายการครุภัณฑ์ในโครงการก่อสร้างสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ โดยพบว่ารายการหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ “พรมขนยาวรุ่น ลุกซ์ แชคกี สีเทาเข้ม” ขนาด 3.40 x 2.40 เมตร ใช้ปูในห้องประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
โดยระบุว่า พรมดังกล่าวมีราคาสูงถึงผืนละ 110,000 บาท และมีการจัดซื้อทั้งหมด 2 ผืน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 220,000 บาท
ชาวเน็ตต่างวิพากษ์ว่า “ราคาพรมนี้สามารถใช้เป็นเงินเดือนขั้นต่ำของแรงงานหลายสิบคน” ขณะเดียวกันหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ความจำเป็นในการใช้พรมราคาสูงขนาดนี้มีเหตุผลใดรองรับ
นอกจากนี้ ยังมีรายการครุภัณฑ์หรูหราราคาแพงอื่นๆ เช่น
- โถส้วมผู้บริหาร ชุดละ 9,140 บาท (รวม 98 ชุด = 895,720 บาท)
- ฝักบัวอาบน้ำ ชุดละ 11,214 บาท (รวม 44 ชุด = 493,416 บาท)
- โซฟาแกะสลักปิดทองจากอิตาลี ราคา 157,000 บาท
- เก้าอี้รับรอง (นำเข้าจากอิตาลี) ตัวละ 95,000 บาท (รวม 4 ตัว = 380,000 บาท)
ขณะนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อข้อสังเกตเรื่องงบประมาณในรายการต่างๆ ขณะที่ภารกิจกู้ภัยยังคงดำเนินไปท่ามกลางความหวังว่าจะพบผู้รอดชีวิตจากใต้ซากอาคาร
ทั้งนี้ อาคารสตง หลังใหม่ที่ถล่มนั้นเป็นโครงการก่อสร้างใหม่ของสำนักงานฯ ความสูง 30 ชั้น มูลค่าก่อสร้างรวม 2,136 ล้านบาท มีความคืบหน้าของโครงการไปแล้วประมาณ 30% ของแผนการดำเนินงาน ก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมจากแผ่นดินไหว
โครงการเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 แต่ต้องหยุดชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ก่อนจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในช่วงหลัง โดยมีผู้ดำเนินงานหลักคือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ด้านงานควบคุมโครงการ ดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า PKW ซึ่งประกอบด้วย 3 บริษัทที่ปรึกษา ได้แก่ บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด บริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้น จำกัด มีวงเงินจ้างควบคุมงานรวม 74,653,000 บาท
นอกจากนี้ โครงการยังเข้าร่วมใน “ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” ที่ลงนามร่วมกันระหว่าง สตง. และ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน และให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง
แม้ว่าจะใช้งบประมาณ 2,136 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 2,522.15 ล้านบาท (ต่ำกว่าถึง 386.15 ล้านบาท) แต่หลังจากเหตุอาคารถล่ม ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงราคาครุภัณฑ์ภายใน เช่น พรม ผืนละ 110,000 บาท และโถสุขภัณฑ์ระดับผู้บริหารที่มีราคาหลักหมื่นต่อชุด ก็เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมว่า เป็นการใช้งบประมาณที่เกินความจำเป็นในบางส่วน
ขณะที่ภารกิจกู้ภัยยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากหลายหน่วยงานยังมีความหวังว่าจะพบผู้รอดชีวิตภายใต้ซากอาคาร ขณะที่สังคมเริ่มจับตามองการตรวจสอบโครงการนี้อย่างเข้มข้น ทั้งในประเด็นวิศวกรรมโครงสร้างและการใช้จ่ายงบประมาณ
อ่านข่าวที่เกียวข้อง
- ประวัติ มณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการ สตง. คนปัจจุบัน
- แฉ สตง. สั่งเก้าอี้หรู ตัวเกือบแสน หนังนำเข้าอิตาลี ใช้งานตึกใหม่ แต่ถล่มเสียก่อน
- ขนลุก ภาพกู้ภัยตัวเล็กจ้อย กลางซากตึกมหึมา เร่งค้นหาคนรอดชีวิต ปาฏิหาริย์